แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน ปี 2562

พฤหัส ๐๒ มกราคม ๒๐๒๐ ๐๗:๔๕
เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยการส่งออกสินค้าหดตัวต่อเนื่องตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ ส่งผลให้การนำเข้าสินค้า การผลิตภาคอุตสาหกรรม และเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในทิศทางชะลอตัว โดยมาตรการภาครัฐมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อบางส่วน ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานและอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำทรงตัว ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้

มูลค่าการส่งออกสินค้า หดตัวร้อยละ 7.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ใกล้เคียงกับมูลค่าการส่งออกที่ไม่รวมทองคำ โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า จาก 1) ภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว 2) วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน และ 3) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ประกอบกับมีปัจจัยชั่วคราวจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมหดตัวทั้งด้านราคาและปริมาณ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างการผลิตและการค้าโลกจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ผ่านมา ยังทำให้สินค้าไทยบางส่วนถูกทดแทนด้วยสินค้าจากจีนในตลาดอาเซียน อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าในภาพรวมที่หดตัวส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสอดคล้องกัน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวร้อยละ 13.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการนำเข้าทองคำหดตัวร้อยละ 15.4 โดยเป็นการหดตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดย 1) การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวต่อเนื่อง ตามการนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันบางแห่ง 2) การนำเข้าสินค้าทุนหดตัว ตามการนำเข้าเครื่องกังหันไอพ่นและอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคมเป็นสำคัญ และ 3) การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงหดตัว ตามการนำเข้าอาหารทะเลเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผลของฐานสูงในปีก่อน

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุน โดยเครื่องชี้การลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง ทั้งการนำเข้าสินค้าทุน ยอดขายเครื่องจักรในประเทศ และยอดจดทะเบียนรถยนต์ ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวอย่างไรก็ดี พื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรมขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และอื่นๆ กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยรายจ่ายประจำกลับมาหดตัวตามการเบิกจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการของหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยงาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้ สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวเล็กน้อยตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านพลังงานเป็นสำคัญ

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี ตามปัจจัยด้านรายได้ของลูกจ้างนอกภาคเกษตรกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังแผ่วอยู่ รวมทั้งสถาบันการเงินที่ยังระมัดระวังในการให้สินเชื่อรถยนต์ตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐยังคงมีส่วนช่วยพยุงกำลังซื้อได้บางส่วน ในเดือนนี้เครื่องชี้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและหมวดบริการชะลอลง หลังจากเร่งขึ้นในเดือนก่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนและหมวดสินค้าคงทนหดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นผลจาก 1) มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival ที่มีส่วนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และไต้หวันขยายตัว 2) ภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่เริ่มฟื้นตัว และการเพิ่มเส้นทางการบินจากรัสเซียมาไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียขยายตัวดีขึ้น และ 3) นักท่องเที่ยวสัญชาติเอเชียอื่นยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง อาทิ นักท่องเที่ยวลาว และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากฐานจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตทยอยหมดลง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.21 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่หดตัวน้อยลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สำหรับอัตราการว่างงานที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำทรงตัว ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์ ตามการออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยเฉพาะในตราสารทุน และการออกไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของนักลงทุนไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้