สกสว. - ภาคี จับคู่ ผู้ประกอบการกับนักวิจัย อัพเกรดสินค้านวัตกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม เร่งส่งออกโต

พฤหัส ๐๕ มีนาคม ๒๐๒๐ ๑๔:๐๓
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จับมือ สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสถาบันคลังสมองของชาติ จับคู่ผู้ประกอบการ กับนักวิจัย ต่อยอดนวัตกรรมไทยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยส่งออก
สกสว. - ภาคี จับคู่ ผู้ประกอบการกับนักวิจัย อัพเกรดสินค้านวัตกรรมไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม เร่งส่งออกโต

ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน “Smart Value Creation” ที่สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันคลังสมองของชาติ จัดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ในการจับคู่ผู้ประกอบการกับหน่วยงานนวัตกรรม ในการต่อยอดและพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรม โดยกิจกรรมนี้มุ่งเน้นการเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับนักวิจัยจากหน่วยงานนวัตกรรม เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมมีคุณภาพ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทยในการส่งออก

รศ.ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า การที่ไทยจะก้าวพ้นการประเทศที่มีรายได้จากการใช้แรงงานราคาถูก ต้องใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วย สถาบันคลังสมองของชาติ เล็งเห็นว่า องค์ความรู้จากนักวิจัยในมหาวิทยาลัย ถือเป็นสินทรัพย์สำคัญ ที่จะสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่ากว่า 80 - 90 % ของโครงการวิจัยเป็นผลงานที่มีคุณภาพแต่เกิดจากการคิดเอง ทำเอง ของนักวิจัย ที่ยังขาดการเติมเต็มในส่วนของออกแบบไปถึงผู้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จริง ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มีดำริเห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้การออกแบบกลไกการทำงาน กล่าวคือ ให้ผู้ประกอบการ สามารถเสนอโจทย์วิจัยที่น่าสนใจได้ พร้อมลงทุนในส่วนของการวิจัยส่วนหนึ่ง และรัฐจะหนุนเงินเข้าไปเพิ่มให้ 10 เท่า ซึ่งสถาบันคลังสมองมีแผนการทำงานที่จะดำเนินการตามดำริดังกล่าวเนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นกลไกสำคัญที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางภาคเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในขณะที่ ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว. ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการและนักวิจัยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ภายใต้การบรรยายหัวข้อ “แหล่งให้ทุนและงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ” ว่า ที่ผ่านมางานวิจัยและนวัตกรรมเหมือนอยู่คนละโลกกับภาคธุรกิจ นักวิจัยมุ่งเน้นผลงานตีพิมพ์ แต่ปัจจุบันนักวิจัยเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของการผลักผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับที่ภาคธุรกิจเล็งเห็นว่า งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างคุณภาพและความแตกต่างให้สินค้าของตน ดังตัวอย่างผลิตภัณฑ์สินค้าที่ประสบความสำเร็จ

เมื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนาสินค้าเช่น ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นภายใต้แบรนด์ “บานาน่า โซไซตี้” ที่เพิ่มมูลค่าสินค้าจากกล้วยน้ำว้ากิโลกรัมละ 25 บาท ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ กล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์โดมพาราโบลา ที่จำหน่ายได้ในราคา 150 บาท/กิโลกรัม หรือกล้วยตากเคลือบช็อกโกแลต 560 บาท/กิโลกรัม น้ำส้มสายชูและไซรับจากกล้วย สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงถึง 820 บาท/กิโลกรัม หรือ สินค้าแบรนด์ “ปิ่นเพชร” ที่ผลิตและจำหน่ายมะขาม โดยในแต่ละปีบริษัทจะส่งออกเมล็ดมะขามขั้นต่ำเดือนละ 5 ตัน ไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนเพื่อสกัดเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมสี ที่ขายได้เพียงกิโลกรัมละ 2-3 บาท เมื่อผู้ประกอบการมีการทำงานร่วมกับนักวิจัย จึงทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เมล็ดมะขามออกมาเป็น เจลโลสจากแป้งเมล็ดมะขาม ซึ่งเป็นวัสดุคล้าย “เพคติน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมอาหารที่ไทยต้องนำเข้า ปีละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งเจลโลสสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 5,000 - 12,000 บาท โดยทั้ง 2 เคส ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมเข้าไปพัฒนา ที่เคยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว. เดิม)

อนึ่งข้อสังเกตคือ ในส่วนของการทำวิจัยและสร้างนวัตกรรม เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมักทำเสร็จแล้วไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้เกิดภาวะ “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ดังนั้นงานวิจัยในช่วงหลังจึงเป็นงานวิจัยที่ถูกดีไซน์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการที่ต้องการมองหางานวิจัยเพื่อแมชชิ่งการพัฒนาสินค้าของตน ควรดูเกณฑ์ Technology Readiness Level (TRL) คือ การบ่งชี้ระดับความพร้อมและเสถียรภาพของเทคโนโลยีตามบริบทการใช้งานของงานวิจัยนั้นๆ ที่แบ่งออกเป็น 9 ระดับ โดยเลือกงานวิจัยที่มีการพัฒนาในระดับที่ 4 ขึ้นไป เนื่องจากผ่านกระบวนการวิจัยและทดลองเกินขั้นในห้องแล็บมาแล้ว

ทั้งนี้ปัจจุบัน สกสว. พร้อมช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ โดยผ่านกลไกต่อไปนี้คือ 1.งบประมาณสนับสนุนการทำวิจัยและนวัตกรรม ผ่านการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานให้ทุน หรือหน่วยงานที่ทำวิจัย 2.เชื่อมโยงนักวิจัยกับผู้ประกอบการทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ 3.กลไกสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ 4.ส่งเสริมการตลาด โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานอื่นๆ และ 5.ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ

ท้ายที่สุดจะเห็นได้ว่าการพัฒนานวัตกรรมจาก TRL 1 ไปยัง 9 เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณ รัฐสามารถหนุนได้ส่วนหนึ่งแต่เอกชนต้องลงทุนด้วย ก่อนพัฒนาผลิตภัณฑ์พร้อมออกจำหน่าย ต้องคำนึงถึงการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงการดำเนินการด้านทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีข้อจำกัดในการจำหน่ายในสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คำบรรยายภาพ

1. ม.ล. คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ประธานเปิดงาน ร่วมถ่ายภาพกับผู้บริหารจาก สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันคลังสมองของชาติ

2. รศ. ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผอ.สถาบันคลังสมองของชาติ

3. ผศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รอง ผอ.ภารกิจส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สกสว.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4