กระทรวงเกษตรฯ แถลงความก้าวหน้า 2 มาตรการช่วยเหลือชาวประมง ผ่านโครงการสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

อังคาร ๐๔ สิงหาคม ๒๐๒๐ ๑๓:๑๓
กระทรวงเกษตรฯ แถลงความก้าวหน้า 2 มาตรการช่วยเหลือชาวประมง
กระทรวงเกษตรฯ แถลงความก้าวหน้า 2 มาตรการช่วยเหลือชาวประมง ผ่านโครงการสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา

ผ่านโครงการสินเชื่อเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาชาวประมงแจ้งความประสงค์ขอกู้กว่า 2.8 พันล้านบาท และ ค.ร.ม.เห็นชอบในหลักการยกเว้นค่าธรรมเนียมเลี้ยงหอยทะเล-ปลากระชังทั่วประเทศ 59.5 ล้านบาท

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย แถลงวันนี้ (29 ก.ค.) ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ขณะนี้กรมประมงมีความก้าวหน้าของ 2 มาตรการช่วยเหลือชาวประมง ได้แก่ 1. การออกร่างกฎกระทรวงยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกชนิด เป็นเงินจำนวน 59.5 ล้านบาท โดยขณะนี้ร่างฉบับดังกล่าวเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ในระหว่างเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาเร่งด่วนต่อไป และ 2. โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง จำนวน 1,678 ราย แจ้งความประสงค์ขอกู้ในวงเงินสินเชื่อรวมแล้วจำนวน 2,841,267,080 บาท

สำหรับข้อมูล ณ ปัจจุบัน (วันที่ 24 ก.ค. 63) โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท จากการเปิดรับสมัครให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 – 24 กรกฎาคม 2563 มีผู้ประกอบการประมงแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 1,678 ราย จาก 21 จังหวัดชายฝั่งทะเล รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการ จำนวน 2,841,267,080 บาท แบ่งออกเป็น ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้าน จำนวน 803 ราย เรือประมงพื้นบ้าน 835 ลำ วงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 162 ล้านบาท ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์ จำนวน 893 ราย เรือประมงพาณิชย์ 1,196 ลำ วงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 2,679 ล้านบาท

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจากผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แต่เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ ไม่สามารถขายผลผลิตได้ตามปกติกระทบต่อรายได้ของพี่น้องชาวประมง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีนโยบายมอบหมายให้กรมประมงหามาตรการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีการเลี้ยงหอยทะเลและสัตว์น้ำในกระชังทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกรมประมงเสนอร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ....... ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่ออาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่งแห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขณะนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 และจะดำเนินการส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาเร่งด่วนต่อไป

สำหรับสาระสำคัญในร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดให้มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินทุกชนิด ทั้งการเพาะเลี้ยงหอยทะเล การเลี้ยงปลาในกระชัง และสัตว์น้ำอื่นๆ ทั่วประเทศ เป็นเงินจำนวน 59.5 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีอยู่จำนวน 21,041 ราย ในพื้นที่ 77 จังหวัด รวมพื้นที่กว่า 113 ล้านตารางเมตร เริ่มตั้งแต่วันที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ จนถึง 31 ธันวาคม 2565 จะได้รับการยกเว้น 1 รอบใบอนุญาตการเพาะเลี้ยง (จำนวน 2 ปี : ปี 2563 – 2565) โดยจังหวัดที่ได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้วจะทำการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพาะเลี้ยงในรอบปีถัดไป ส่วนโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำโครงการเงินกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับพี่น้องชาวประมงให้สามารถกู้เงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปีและผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินกู้ให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้ ซึ่งจากการเปิดรับสมัครให้ชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์เข้าร่วมโครงการฯ

สำหรับผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกรอกคำขอสมัครเข้าร่วมโครงการฯ และยื่นความประสงค์ได้ในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 – 25 พฤษภาคม 2564 ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล และสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามพื้นที่ที่เรือประมงลำที่ยื่นกู้ทำการประมงอยู่ พร้อมแนบหนังสือรับรองการเข้าร่วมโครงการฯ จากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย หรือ สมาคมประมงในพื้นที่ หรือ สมาคมประมงพื้นบ้านในพื้นที่ ในกรณีที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ สามารถติดต่อขอหนังสือรับรองได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดที่ยื่นคำขอ

กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า 2 มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงและผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

นอกจากนี้ การจดทะเบียนเรือประมงพื้นบ้าน ครม. มีมติเห็นชอบแผนการจัดการกองเรือประมงพื้นบ้าน ตามที่กองทัพเรือเสนอ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเรือมีทะเบียน เมื่อเจ้าท่าตรวจวัดและทำอัตลักษณ์แล้ว ดำเนินการแก้ไขในทะเบียน ซึ่งพบว่ามาแจ้งกับเจ้าท่า จำนวนประมาณ 16,000 ลำ และ 2. กลุ่มเรือที่ยังไม่มีทะเบียน จะต้องได้รับหนังสือรับรองจากกรมประมง เพื่อประกอบการจดทะเบียนกับกรมเจ้าท่า จำนวนประมาณ 35,000 ลำ การดำเนินการที่ผ่านมากรมประมงได้เปิดให้ชาวประมงขอหนังสือรับรองไปแล้ว 2 ครั้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 - มกราคม 2563 หลังจากปิดครั้งที่ 2 พบว่า ยังมีชาวประมงที่ไปแจ้งกับกรมเจ้าท่าแล้ว แต่ไม่ได้ขอหนังสือรับรองกับกรมประมงจำนวนประมาณ 1,400 กว่าลำ กรมประมงจึงได้เปิดให้เรือกลุ่มนี้มาขอหนังสือรับรองได้ตั้งแต่ 22 กรกฏาคม 2563 จนถึง 31 สิงหาคม 2563 ณ สำนักงานประมงอำเภอ และประมงจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด และสำนักงานประมงกรุงเทพ กรมประมง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ เม.ย. เปิดโพล! สงกรานต์ คนไทยยังอยาก รวย อวย Soft Power เสื้อลายดอก-กางเกงช้าง ต้องใส่สาดน้ำ
๑๗ เม.ย. ฮีทสโตรก : ภัยหน้าร้อน อันตรายถึงชีวิต
๑๗ เม.ย. STX เคาะราคา IPO 3.00 บาท/หุ้น เปิดจองซื้อ 18,19 และ 22 เม.ย. นี้ ปักธงเทรด mai 26 เมษายน 67
๑๗ เม.ย. ถอดบทสัมภาษณ์คุณอเล็กซานเดอร์ ฟาบิก (Alexander Fabig) และคุณปีเตอร์ โรห์เวอร์ (Peter Rohwer) ผู้เชี่ยวชาญ
๑๗ เม.ย. HIS MSC จัดงานสัมมนา The SuperApp ERP for Hotel
๑๗ เม.ย. ที่สุดแห่งปี! ครบรอบ 20 ปี TDEX (Thailand Dive Expo) มหกรรมธุรกิจท่องเที่ยวดำน้ำระดับเอเชีย งานเดียวที่นักดำน้ำรอคอย
๑๗ เม.ย. เคทีซีเสนอดอกเบี้ยพิเศษ 19.99% ต่อปี แบ่งเบาภาระสมาชิกใหม่บัตรกดเงินสด เคทีซี พราว
๑๗ เม.ย. ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่ง CHAO เตรียมเสนอขาย IPO ไม่เกิน 87.7 ล้านหุ้น ระดมทุนเข้าจดทะเบียนใน SET
๑๗ เม.ย. แอร์เอเชีย บิน สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ เริ่มต้น 1,000 บาทต่อเที่ยว* เสริมทัพหาดใหญ่ บินเลือกได้ทั้งดอนเมืองและสุวรรณภูมิ!
๑๗ เม.ย. YONG จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ อนุมัติจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 0.08 บาท/หุ้น