ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศหุ้นกู้ บจ. เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ ที่ 'A-(tha)’

ศุกร์ ๑๘ กันยายน ๒๐๒๐ ๑๑:๔๘
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) จำนวนไม่เกิน 5 พันล้านบาท ที่ระดับ 'A-(tha)’ เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้จะนำไปใช้สำหรับชำระคืนเงินกู้และใช้สำหรับเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ HMC และได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ HMC ที่ 'A-(tha)’ ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile) ของบริษัทฯ ที่อยู่ที่ 'bbb+(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัทฯ กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตที่ 'AA+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'aa-(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ HMC โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 41 ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตในเรื่อง Parent and Subsidiary Rating Linkage

แนวโน้มเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ อาจลดลงช้ากว่าที่คาดการณ์ หลังจากการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่วัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 4.5 เท่าในปี 2563-2564 เนื่องจากการลงทุนในการก่อสร้าง PP line 4 และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอ

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินจะลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าภายในปี 2565 เนื่องจากกระแสเงินสดที่ปรับตัวดีขึ้น จากกำไรที่มากขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการขยายกำลังการผลิต และอุปสงค์และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ HMC อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง หากอุปสงค์และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ จากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลังปี 2564 ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ใกล้เคียงกับที่ฟิทช์ประมาณการไว้ โดยบริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจาหน่าย (EBITDA) ลดลงเป็น 972 ล้านบาท จาก 2.3 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 เนื่องจากผลกระทบการสถานะการณ์โคโรนาไวรัส

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ผู้นำในธุรกิจ PP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: HMC เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (PP) รายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 33 ในปี 2562 บริษัทฯ ยังเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจ PP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยกำลังการผลิต PP ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปีในปี 2565 หลังจาก PP line 4 แล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิต PP รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ สถานะทางการตลาดของบริษัทฯ ยังได้รับปัจจัยเสริมจากการที่บริษัทฯ มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว รวมถึงการผลิตวัตถุดิบเองบางส่วน โดยบริษัทฯมีการผลิตโพรพิลีนจากโรงงาน Propane Dehydrogenation (PDH)

มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม: HMC มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งมีการแข่งขันที่น้อยกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า โดยบริษัทฯ มีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 46 ของยอดขายในปี 2562 จากประมาณร้อยละ 35 ในปี2558 และมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้มากกว่าร้อยละ 60 เมื่อ PP line 4 เริ่มดำเนินการผลิตเต็มที่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็น Commodity grade โดยเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ5 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนกำไรสูงกว่าคู่แข่ง

HMC ขายผลิตภัณฑ์ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 75 ให้กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (ประมาณร้อยละ 40 เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่น และร้อยละ 35 เป็นบรรจุภัณฑ์แบบคงรูป) แต่บริษัทฯ มุ่งเน้นในการขายผลิตภัณฑ์ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่ต้องการคุณสมบัติที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น แผ่นฟิล์มที่ทนความร้อน กันอากาศ หรือที่ปิดผนึกได้ดี หรือบรรจุภัณฑ์ที่ทนแรงกระแทกได้สูง เป็นต้น นอกจากนี้ ยอดขายผลิตภัณฑ์ให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลสุขภาพและสุขอนามัย รวมถึง ภาคอุตสาหกรรม ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.1 ของยอดขายในปี 2562)

ผู้นำในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์: HMC ใช้เทคโนโลยีการผลิต PP ชั้นนำของโลกจาก LyondellBasell ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นอกจากนี้ PP line 4 จะใช้เทคโนโลยีการผลิต PP ที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งจะเป็นเพียงหนึ่งในสองโรงงานในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ที่จะสามารถใช้ C6 เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของ PP และเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานใหม่ๆ HMC เป็นผู้นำในการผลิต PP ที่ใช้ในการผลิตท่อและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิต PP รายแรกในกลุ่ม LyondellBasell ที่ทำแผ่นฟิล์ม?ไดอีเลคตริค ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ จะขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก

การผลิตวัตถุดิบบางส่วนและการใช้วัตถุดิบที่หลากหลาย: HMC มีการผลิตโพรพิลีนจากโรงงาน PDH ของตัวเอง โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 ของโพรพิลีนที่ต้องการใช้ โดยวัตถุดิบที่เหลือจะมาจากสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ PTTGC บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด (HMC ถือหุ้นอยู่ร้อยละ 14.3) และโรงกลั่นน้ำมันที่อยู่บริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการนำเข้าโพรพิลีนในบางช่วงเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในการจัดหาวัตถุดิบ โดยโพรพิลีนที่นำเข้าจะเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 7 ของโพรพิลีนที่ต้องการใช้ เมื่อ PP line 4 แล้วเสร็จ ประมาณครึ่งหนึ่งของโพรพิลีนที่บริษัทใช้ ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความได้เปรียบด้านต้นทุน โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง แม้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 หลังจาก PP line 4 แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือของโพรพิลีนที่บริษัทใช้ ผลิตมาจากแนฟทา

สัญญาจัดหาวัตถุดิบช่วยลดความผันผวน: HMC มีสัญญาการจัดหาก๊าซโพรเพน (ซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศ) ระยะยาวกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ผู้หุ้นรายใหญ่ที่สุดของ PTTGC) ซึ่งราคาซื้อขายจะอ้างอิงกับราคา PP ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้ และยังเป็นเพิ่มการรวมการผลิตได้ในระดับหนึ่ง

อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน FFO Net Leverage ของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างมากไปอยู่ที่ระดับ 4.5-5.5 เท่าในปี 2563-2564 จาก 2.5 เท่าในปี 2562 เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้าง PP line 4 ที่มีกำลังการผลิตที่ 250,000 ตันต่อปี ซึ่งมีมูลค่าการก่อสร้างประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9.4 พันล้านบาท โดยใช้เงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงปี 2563-2564 ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ จะลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 3.2 เท่าในปี 2565 และ 2.5 เท่าในปี 2566 เมื่อ PP line 4 เริ่มผลิตเต็มที่

ความผันผวนของธุรกิจและความหลากหลายที่จำกัด: อันดับเครดิตของบริษัทถูกลดทอนจากความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่จำกัด และความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะถูกกระทบอย่างมากจากความผันผวนของราคาและส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และอุปสงค์และอุปทานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ HMC มีผลิตภัณฑ์ PP เพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์น้อยกว่าผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่นในประเทศ และบริษัทมีฐานการผลิตเพียงแห่งเดียว

ความเชื่อมโยงกับ PTTGC: ฟิทช์พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ PTTGC อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งทำให้มีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับ HMC เป็นผู้รับซื้อโพรพิลีนรายใหญ่ของ PTTGC ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเชื่อมโยงในการผลิตในธุรกิจสายโพรพิลีน อีกทั้ง PTTGC ยังให้ HMC เป็นบริษัทหลักในธุรกิจ PP และมีข้อตกลงที่จะไม่แข่งขันกับ HMC ในธุรกิจนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ของทั้งสองบริษัท PTTGC และ LyondellBasell ส่งตัวแทนเป็นคณะกรรมการของ HMC ในสัดส่วนมากกว่ากึ่งหนึ่ง และมีการหมุนเวียนกันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ HMC ฟิทช์คิดว่า PTTGC มีแนวโน้มที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ HMC มากกว่าสัดส่วนการถือหุ้นเมื่อต้องการ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

HMC มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขั้นปลาย และปิโตรเคมีในประเทศไทยที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต ในขณะที่สถานะทางการเงินที่ก็อยู่ในระดับปานกลาง

HMC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และมีธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ 'bbb(tha)’) อย่างไรก็ตาม HMC มีความเทคโนโลยีด้านการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ากว่า IRPC และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า IRPC แม้ว่าจะไม่พิจารณารวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจาก HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว นอกจากนี้ HMC มีการใช้วัตถุดิบที่หลากหลายกว่า ทั้งจากก๊าซและแนฟทา ฟิทช์มองว่าบริษัททั้งสองมีสถานะทางธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ HMC มีสถานะทางการเงินที่ที่แข็งแกร่งกว่า ดังนั้น HMC จึงมีอันดับเครดิตโดยลำพังสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อยู่หนึ่งอันดับ

ฟิทช์มองว่า HMC มีสถานะทางธุรกิจดีกว่าบริษัทในกลุ่มผู้ผลิตโพลิเมอร์และพลาสติกซึ่งได้แก่ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PTL ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และ บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ 'A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ อยู่เล็กน้อย ฟิทช์เชื่อว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจ PP ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยลดทอนการที่บริษัทมีการกระจายตัวทางธุรกิจตามภูมิภาคที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ PTL และความหลากหลายของธุรกิจของลูกค้าที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ EPG อย่างไรก็ตาม HMC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า ซึ่งทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC อยู่ต่ำกว่า PTL และ EPG

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

รายได้ลดลงประมาณร้อยละ 24 ในปี 2563 เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอจากสถานะการณ์โคโรนาไวรัส และราคา PP ที่ลดลงจากราคาน้ำมันที่ลดลง, อุปสงค์และราคา PP ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งทำให้รายได้เพิ่มขึ้นEBITDA margin ลดลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2563 เนื่องจากอุปสงค์และส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อ่อนแอส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 ทำให้ EBITDA margin เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 12-13 ในปี 2564-2565PP line 4 เริ่มผลิตในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 เพิ่มกำลังการผลิตอีก 250,000 ตันต่อปีเงินลงทุน 8.1 พันล้านบาทในปี 2563-2565 สำหรับ PP line 4 รวมกับเงินลงทุน 600 ล้านบาท ถึง 1.4 พันล้านบาทต่อปี ในปี 2563-2565 สำหรับการซ่อมบำรุงและการปรับปรุงคุณภาพการผลิต

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

แนวโน้มเครดิตอาจถูกปรับเป็นมีเสถียรภาพ หากอัตราส่วน FFO Net Leverage ลดลงไปอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าภายในปี 2565ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ PTTGC ที่เพิ่มสูงขึ้น

ปัจจัยลบ:

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง ความล่าช้าในการเริ่มการผลิตของ PP line 4 หรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการจ่ายปันผลที่สูงเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ อัตราส่วน FFO Net Leverage ยังคงสูงกว่า 3.5 เท่าในปี 2565EBITDA margin ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 10 อย่างต่อเนื่องระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ PTTGC ที่ลดน้อยลง

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้: HMC มีหนี้สินอยู่ 6.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2562 ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวน 1.5 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวกับสถาบันการเงิน ซึ่งมีส่วนที่ครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนจำนวน 1.3 พันล้านบาท ฟิทช์มองว่าสภาพคล่องของบริษัทฯอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยบริษัทฯมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.3 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ไม่สามารถยกเลิกได้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 3 พันล้านบาท HMC จะมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นลบในปี 2563-2564 เนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ใน PP line 4 อย่างไรก็ตาม HMC มีการจัดหาเงินกู้จำนวนหนึ่งหมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการลงทุนนี้ไว้แล้ว ซึ่งจะเริ่มเบิกกู้วงเงินดังกล่าวในปี 2563

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital