แพทย์จุฬา ฯ แนะแพ้ยาเกิดไม่ง่าย สำคัญต้องสังเกตตนเอง

พฤหัส ๑๘ กันยายน ๒๐๐๘ ๑๒:๕๑
กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สวทช.
จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของ ดร.จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ที่เข้ารับการผ่าตัดถุงใต้ตาในคลินิกแห่งหนึ่งย่านมักกะสัน โดยผู้ตายเสียชีวิตภายหลังจากการฉีดยาชาก่อนการผ่าตัดไม่นานนัก ซึ่งผลการสอบสวนเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการแพ้ยาชา หรืออาจจะเกี่ยวเนื่องกับโรคประจำตัวซึ่งยังคงต้องรอผลชันสูตรต่อไป หากแต่ด้านประชาชนหลายคนที่ทราบข่าวก็มีความกังวลใจว่าจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองแพ้ยาชนิดใดบ้าง และจะมีวิธีการป้องกันตนเองได้อย่างไร พญ.นิภาศิริ วรปาณิ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่เคยมีประวัติการแพ้ยา แพทย์จะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าผู้ป่วยจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่เคยแพ้ยาชนิดที่เคยกินอยู่ แต่เมื่อมีการใช้ยาในครั้งต่อไปก็อาจเกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้นเราจึงคาดเดาได้ยากมาก ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาได้ทุกชนิด แต่โอกาสพบน้อยและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
การแพ้ยา เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อยา เกิดขึ้นเมื่อยาบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย และไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น ซึ่งสาเหตุของการแพ้ยาในแต่ละบุคคลไม่สามารถระบุได้ชัด เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ 1.ชนิดของยา เช่น กลุ่มยาบางชนิดแพ้ง่าย บางชนิดแพ้ยาก แต่กลุ่มยาที่พบเป็นสาเหตุให้เกิดการแพ้ได้บ่อย คือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน ยากลุ่มซัลฟา ยาฆ่าเชื้อ ยากันชัก ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เป็นต้น 2. ตัวของผู้ป่วยเอง บางคนมีอาการแพ้ยารุนแรง บางคนมีอาการแพ้น้อย หรือบางคนไม่แพ้เลย นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย หรืออายุที่มากขึ้น เป็นต้น 3.การได้รับยาขนาดสูงและเป็นเวลานาน ก็มีผลให้แพ้ยาได้ แต่พบได้ในบางกรณีเท่านั้น เพราะบางคนได้รับยาครั้งแรกก็มีอาการแพ้ได้ทันที
สำหรับอาการแพ้ยา คนทั่วไปมักเข้าใจว่าอาการที่แสดงออกมีเพียงลักษณะผื่นคันเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นมีได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย คือเป็นผื่นแดง จนถึงขั้นเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย คือ 1. ทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ลมพิษ อาการบวมตามเปลือกตา ริมฝีปาก และมือ เท้าบวม เป็นต้น 2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ไอขัดๆ 3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว 4. ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ เช่นอ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต บวมตามตัว เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงของอาการส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับว่าได้ยาในรูปแบบไหน เช่น การฉีดจะทำให้เกิดการแพ้ได้เร็ว ส่วนยากินหรือยาทาจะเกิดได้ช้าหน่อย ดังนั้นในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นแนะนำว่าให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที
ด้าน ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มนุษย์ทุกคนมีโอกาสแพ้ยาชนิดใดก็ได้ ซึ่งนอกจากผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยามาก่อนแล้ว แพทย์ไม่มีทางทราบได้เลยว่า ผู้ป่วยรายใดจะแพ้ยาที่แพทย์กำลังจะสั่ง เนื่องจากการทดสอบการแพ้ยาทุกชนิดให้กับผู้ป่วยทุกคน ถึงแม้จะทำได้แต่เป็นเรื่องที่ยากมาก หากแต่ในช่วงไม่กี่ปี่ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการแพ้ยา คือลักษณะทางพันธุกรรมของบุคคลนั้น และเป็นที่น่ายินดีว่าขณะนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถศึกษาจนพบความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางพันธุกรรมกับการแพ้ยาบางชนิดได้สำเร็จแล้ว กล่าวคือ แพทย์เริ่มมีเครื่องมือที่จะช่วยพยากรณ์ได้ว่าผู้ป่วยรายใดมีโอกาสแพ้ยาชนิดนั้นสูงโดยการตรวจลักษณะทางพันธุกรรม หากผลตรวจพบผู้ป่วยมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เสี่ยง แพทย์จะเลี่ยงยาตัวนั้นและให้ยาตัวอื่นแทน อย่างไรก็ดีการตรวจหาความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่จะทำให้ผู้ป่วยแพ้ยา ยังใช้ได้กับผู้ป่วยเพียงบางกลุ่มและยาเพียงบางชนิดเท่านั้น อีกทั้งการตรวจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายที่สูง จึงยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกมาก ก่อนจะสามารถนำไปใช้จริงอย่างกว้างขวางในเวชปฏิบัติ
ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนทำได้และควรทำในขณะนี้ คือพยายามสังเกตตัวเองให้มากขึ้น หากภายหลังการรับประทานยาหรือฉีดยาแล้วพบอาการผิดปกติ เช่น เป็นผื่น ลมพิษ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก วิงเวียน คลื่นไส้ เป็นลมหมดสติ หรือมีอาการแปลกๆ ที่ไม่พบก่อนหน้ารับประทานยา ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ สิ่งสำคัญคือเมื่อพบว่าตนเองแพ้ยาชนิดใดให้แพทย์จดชื่อยาชนิดนั้นให้และพกติดตัวเสมอ พร้อมทั้งนำชื่อยาแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งเมื่อต้องใช้ยา วิธีนี้ไม่เพียงป้องกันการจำชื่อยาผิดพลาดเท่านั้น ปัจจุบันยาหลายชนิดมีสูตรโครงสร้างคล้ายกัน ดังนั้นการที่เราแพ้แอสไพริน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แพ้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ด้วยเหตุนี้หากแพทย์ทราบชื่อยาที่แน่ชัดก็จะช่วยป้องกันการแพ้ยาชนิดอื่นได้ด้วย ศ.นพ.วรศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘ เม.ย. DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๘ เม.ย. Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๘ เม.ย. Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๘ เม.ย. โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๘ เม.ย. 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๘ เม.ย. TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๘ เม.ย. SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๘ เม.ย. โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๘ เม.ย. หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๘ เม.ย. คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital