กรมสุขภาพจิตแถลงข่าวเร่งช่วยเด็กไทย พ้นวิกฤต ส่งเสริมการคัดกรองและดูแลปัญหาจิตใจเด็กวัยเรียน

ศุกร์ ๐๙ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๑๕:๕๖
กรมสุขภาพจิต เร่ง ช่วยเด็กไทย พ้นวิกฤต ส่งเสริมการคัดกรองและดูแลปัญหาด้านจิตใจ ตั้งเป้า 3 ปี ดูแลครบ 100%

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุม พัฒนาระบบการดูแลเด็ก อายุ 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในโรงเรียน “เข้าถึง เข้าใจ ช่วยเด็กไทย พ้นวิกฤต” จัดขึ้นโดย สถาบันราชานุกูล เพื่อพัฒนาศักยภาพของครูในโรงเรียนเครือข่ายให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียน ครอบคลุม 4 โรคสำคัญ ได้แก่ สมาธิสั้น ออทิสติก ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorder) และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เดินหน้า นำร่อง 100 โรงเรียน ในเขต กทม. ก่อนขยายผลทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ภายใน 3 ปี

นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีนโยบายพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพจิตตามกลุ่มวัย ซึ่งในวัยเรียน ได้เน้นการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์(EQ) และป้องกันปัญหาในการเรียนและพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ โดยพัฒนาโปรแกรมการเฝ้าระวังปัญหา IQ-EQ ในเด็กวัยเรียน รวมทั้ง พัฒนาศูนย์ให้คำปรึกษาคุณภาพ (Psychosocial clinic) ที่เชื่อมโยงกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียน เพื่อให้เด็กวัยเรียนที่มีปัญหาการเรียนและปัญหาสุขภาพจิต ได้รับการดูแล/เข้ารับการรักษาในระบบบริการสาธารณสุข

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า 4 โรคสำคัญที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กประสบปัญหาการเรียน ผลการเรียนไม่ดี ได้แก่ ภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) สมาธิสั้น ออทิสติก และภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไขและให้การดูแลช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทย ในปีงบประมาณ 2554 พบ ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาเด็กนักเรียนไทยในภาพรวมระดับประเทศ เท่ากับ 98.59 และ ยังพบว่า เด็กวัยเรียนมีแนวโน้มสามารถเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัย ได้แก่ การที่แพทย์ ครูอาจารย์และประชาชนทั่วไปรู้จักโรคที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียนผ่านการรับรู้จากสื่อ บทความ และเอกสารต่างๆ มากมาย ทำให้เป็นที่รู้จักและเริ่มนำเด็กเข้ารับบริการทั้งด้านการแพทย์และการศึกษา มากขึ้น ประกอบกับ ประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นจึงทำให้ค้นพบเด็กได้มากขึ้น

รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ โรคออทิสติก นั้น พบว่า ประชากรทุก 500 คน จะเป็นออทิสติก 1 คน ส่วนความชุกชองโรค LD จะพบ ร้อยละ 5 ขณะที่แอลดีแฝง หรือกลุ่มที่มีปัญหาด้านการอ่านมีถึง ร้อยละ 10 ของเด็กทั้งหมด ทั้งนี้ อัตราเด็กเกิดใหม่ของประเทศไทย 800,000 คนต่อปี คาดว่า อัตราการเกิดโรคจะเพิ่มเป็น 40,000 รายต่อปี นับว่าเป็นปัญหาที่ต้องรีบค้นหาและให้การดูแลช่วยเหลือ

ปัจจัย/สาเหตุที่มีผลต่อการเกิดโรคเพิ่มขึ้น รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต วิเคราะห์ว่า อาจมาจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษและอาหารที่ล้วนส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของเด็ก ส่วนในเด็กที่มีความผิดปกติเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีหรือพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของผลการเรียนที่ไม่ดี คิดว่าเกิดจากการที่เด็กไม่สนใจเรียนหรืออาจกล่าวโทษปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เด็กในกลุ่มนี้อาจเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง แยกตัวออกจากกลุ่มเพื่อน เสียโอกาสทางการศึกษาหรือถูกให้ออกจากระบบโรงเรียน นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว สังคมและประเทศต่อไปได้

นอกจากนี้ จากผลคะแนนโอเน็ต เมื่อวันที่ 15 มีนาคมของนักเรียนชั้น ป.6 ที่ผ่านมา พบว่า คะแนนเฉลี่ยของนักเรียนที่เข้าสอบส่วนใหญ่ตกกันเกือบทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาหลักมีค่าเฉลี่ยไม่ถึงครึ่ง มีเพียง 2 วิชาเท่านั้น ที่มีคะแนนเฉลี่ยเกินครึ่ง ได้แก่ วิชาการงานอาชีพ วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา และพบคะแนนต่ำสุด ๐ คะแนนในทุกรายวิชา โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าผลคะแนนโอเน็ตของนักเรียน ป.6 อาจมีส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับสถานการณ์ปัญหาการเรียนในเด็กไทย รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวถึง สถานการณ์ปัญหาในเด็กวัยเรียน ว่า ปัจจุบันมีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการคัดกรอง ทำให้ขาดโอกาสที่จะได้รับการดูแลและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศักยภาพ และแม้ว่าบางส่วนจะถูกคัดกรองจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแล้ว หากขาดระบบการส่งต่อข้อมูลกลับไปที่หน่วยงานด้านดูแลสุขภาพเด็กก็ไม่เกิดประโยชน์ กรมสุขภาพจิตจึงเป็นแกนหลักในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดกลไกความร่วมมือในการทำงานระหว่างระบบสาธารณสุข การศึกษา และการศึกษาพิเศษเชื่อมโยงกัน โดยผสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียน หน่วยงานด้านสุขภาพที่สามารถให้การดูแลทั้งด้านพัฒนาการของร่างกาย สติปัญญา การเรียนรู้และสังคม ตลอดจนถึงความใส่ใจใกล้ชิดจากผู้ปกครองและชุมชนเองเพื่อพัฒนาระบบการดูแลเด็ก อายุ 6-12 ปี ให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ สถาบันราชานุกูลจึงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างศักยภาพครูผู้สอนให้สามารถคัดกรองและดูแลเด็กอายุ 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในโรงเรียน และการพัฒนาระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ พร้อมการสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่พ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กให้ยอมรับเข้าใจและให้การช่วยเหลือเด็กต่อไป

ผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้สนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเฝ้าระวังปัญหา IQ/EQ ในเด็กวัยเรียน เพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยง ซึ่งจากการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2556 – มีนาคม 2557 พบว่า ร้อยละ 35 ของโรงพยาบาลชุมชนได้ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ คัดกรองเด็กนักเรียน ชั้น ป.1 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,180 คน พบมีเด็กกลุ่มเสี่ยงถึงร้อยละ 27 (2,452 คน) โดยร้อยละ 70 ของเด็กกลุ่มเสี่ยงนี้ได้รับการดูแลจากโรงเรียน และสถานพยาบาลร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดระบบดังกล่าวในปี 2557 ร้อยละ 30 ในปี 2558 ร้อยละ70 และครบ100% ในปี 2559 ทั้งนี้ การดำเนินงานพัฒนาระบบการดูแลเด็ก 6-12 ปี ที่มีปัญหาการเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ ปี 2555 และกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้ ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาศักยภาพครูในโรงเรียนเครือข่ายให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาการเรียนรู้ โดยผลการดำเนินการในปี 2556 พบว่า เด็กนักเรียนที่ศึกษาในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้รับการคัดกรองภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) จำนวน 2,637 คน เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง 897 คน คิดเป็น ร้อยละ 34.02 โดยส่วนใหญ่อยู่ในระดับประถมศึกษาที่ 1 และ 3 (ร้อยละ 24) ซึ่งผลการคัดกรองเบื้องต้น พบว่า เด็กส่วนใหญ่ประสบปัญหาการเรียนทั้งสามด้าน คือ การอ่าน เขียน และคำนวณ (ร้อยละ 54)

ทังนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : 0-2248-8900 หรือ www.rajanukul.go.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้