ปัญหาเจ็บแน่นหูจากการโดยสารเครื่องบิน

พฤหัส ๐๖ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๒:๐๒
ปัญหาเจ็บแน่นหูจากการโดยสารเครื่องบิน

โดย ศูนย์วิจัยสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพ

การเดินทางโดยเครื่องบินได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน เพราะมีความปลอดภัยสูง พร้อมกับราคาค่าโดยสารที่ถูกลง มีสายการบินมากมายให้เลือก ปัญหาการเดินทางโดยเครื่องบินที่มีผลต่อสุขภาพผู้โดยสาร จึงมีมากขึ้นเรื่อยๆตามความนิยมที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่น่าจะพบได้บ่อยที่สุด น่าจะเป็นปัญหาในเรื่องการแน่นหู ปวดหู จนถึงอาการบาดเจ็บของหูจากการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศอย่างกะทันหันระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินหรือผู้เดินทางกำลังเป็นหวัดหรือหวัดคออักเสบ ซึ่งถ้าเราเข้าใจที่มาของปัญหา วันนี้เรามีวิธีการแก้ไขตามหลักการที่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลเลย หรือ อาจจะผ่อนหนักให้เป็นเบา ก่อนที่จะมาพบแพทย์ได้

ศูนย์วิจัยสุขภาพโรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ปัญหาการเจ็บแน่นหูนี้ มักจะทำให้เป็นที่กังวลต่อผู้เดินทางโดยเครื่องบินเป็นประจำ โดยเฉพาะ ลูกเรือ และนักบินเวลาป่วยเป็นไข้หวัด มักจะกังวลอยู่เสมอๆ แม้ว่าได้กินยาแก้หวัด ลดอาการบวม และ การใช้ยาพ่นจมูกซึ่งมักจะได้ผลดีอยู่แล้ว แต่บางท่านแม้ทำการปรับความดันในหูชั้นกลางด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำ Valsalva maneuver คือ การเพิ่มความดันในบริเวณด้านหลังช่องปากและโพรงจมูกเพื่อเปิดท่อระบายอากาศที่เชื่อมต่อไปที่หูชั้นกลาง แล้วแต่พบได้บ่อยๆว่าอาการปวดหูดีขึ้น แต่อาการแน่นหูยังไม่หาย ความจริงแล้วการปรับความดันในหูมีหลายวิธี ที่ใช้ได้ผลดีเช่นการอมลูกอมเพื่อกลืนน้ำลายบ่อยๆ การเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อเคลื่อนไหวกรามและกลืนน้ำลายจนถึงการทำ Valsalva เพื่อปรับแรงดันในหูชั้นกลางให้เท่ากับแรงดันบรรยากาศภายนอกหากปล่อยจนความดันอากาศแตกต่างกันมาก เช่น เผลอนอนหลับไประหว่างเครื่องบินลดระดับลง จนเกิดอาการปวดหู วิธีปกติอาจไม่ได้ผล จะแก้ไขได้ต้องทำ Valsalva ช่วย ปรับความดันให้สมดุลโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดการบาดเจ็บในหูชั้นกลาง (Barotrauma)

การทำ Eustachain Tube โดยการหายใจเข้า กลั้นหายใจแล้วใช้นิ้วมือบีบปิดจมูก ปิดปากแน่นแล้วเบ่งลมหายใจออกให้อากาศถูกดันไปหูชั้นกลาง จนได้ยินเสียงเปิดของท่อ (Ear popping) แล้วกลืนน้ำลาย แรงดันจะถูกปรับให้ดีขึ้นอาการปวดหูจะดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงเพิ่มระดับความสูงมีผลให้ความดันบรรยากาศลดลง และการลดระดับความสูงมีผลตรงกันข้ามคือความดันเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงแม้ระดับความสูงของเครื่องบินจะสูงมากถึง 40000 ฟุต (12000 เมตร) แต่ความดันในห้องผู้โดยสารเครื่องบินมีการปรับความดันไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้โดยสารอยู่แล้ว โดยปกติ ความดันจะอยู่ที่ประมาณระดับความสูง6000-8000 ฟุต(1800-2400 เมตร) ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องบิน เมื่อดูจากกราฟจะเห็นว่าที่ระดับตรงนี้ความดันจะเปลี่ยนแปลงโดยประมาณแค่ 20 %เท่านั้น และปริมาตรของอากาศเปลี่ยนแปลงแค่ 12% เท่านั้น(รูปที่1) ตามกฎของ Boyle's Law* เปรียบเทียบกับการดำน้ำ การเปลี่ยนแปลงของความดันที่ระดับความลึก 33 ฟุต(10เมตร) จะเพิ่มสูงมากเท่ากับ 200%(2เท่าของความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเล) ปริมาตรของอากาศจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง ความแตกต่างของความดันที่สูงมาก ทำให้การเปิดท่อ Eustachain Tube ทำได้ยากขึ้น การทำ Valsalva จึงมีความจำเป็นในกรณี ดำน้ำ (Scuba Diving) ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้วิธีที่ถูกต้องและทดสอบก่อนดำน้ำทุกครั้งว่าสามารถปรับความดันภายในหูชั้นกลางได้ที่ระดับผิวน้ำ หูชั้นกลางมีท่อปรับแรงดันอากาศจากหูชั้นกลางไปสู่บริเวณหลังโพรงจมูกเรียกท่อ Eustachain Tube ปกติการปรับแรงดันอากาศของหูชั้นกลางเกิดขึ้นตลอดเวลาเรากลืนหรือหาวนอน ท่อ Eustachain Tube จะเปิดเพื่อปรับแรงดัน แต่เมื่อเราเป็นหวัดคัดจมูกที่นี้จะบวมและเปิดไม่ออกหูเราจึงอื้อเพราะไม่อาจปรับแรงดันได้

เมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน ขณะเครื่องบินไต่ระดับสูงขึ้นแรงดันบรรยากาศภายนอกจะน้อยกว่าในหูชั้นกลาง อากาศจึงไหลออกได้ง่าย ตรงข้ามเมื่อเครื่องบินลง แรงดันในหูชั้นกลางน้อยอยู่จึงไม่สามารถดันอากาศจากภายนอกได้การไหลของอากาศออกจากหู ไปที่หลังโพรงจมูกจะทำได้ง่ายกว่า การไหลของอากาศเข้าสู่บริเวณหูชั้นกลาง ลักษณะคล้ายๆ วาวล์อากาศทางเดียวดังนั้นเวลาอากาศขยายตัว(แก้วหูโป่งออก)ตอนเครื่องบินไต่ระดับจึงมักไม่ค่อยมีปัญหา เท่ากับตอนลดระดับลงสู่พื้น(แก้วหูยุบตัวลง) ดังนั้นจึงต้องช่วยเปิดท่อ Eustachain Tube โดยวิธีต่างๆ เช่นอ้าปากหาว, ปิดจมูกพร้อมกับกลืนน้ำลาย (Toynbee Maneuver) หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง และกลืนน้ำลายบ่อยๆ ฯลฯ โดยต้องทำไปเรื่อยๆตั้งแต่ก่อนหรือเริ่มมีอาการแน่นหู อย่ารอจนมีอาการปวดหูแล้วค่อยทำ เพราะความดันที่ต่างกันมากขึ้นจะเปิดท่อระบายอากาศได้ยากขึ้น ต้องทำ Valsalva ช่วยเปิดทางระบายอากาศเข้าสู่หูชั้นกลางจะต้องทำ 2-3 ครั้งและให้กลืนน้ำลายตามด้วยทุกครั้ง ใช้สำหรับช่วยปรับแรงดันอากาศของหูชั้นกลาง เมื่อท่อ Eustachain Tube อุดตัน เป็นการเบ่งลมหายใจออกไปหูพร้อมกับปิดปาก ปิดจมูก เพื่อเพิ่มความดันภายในบริเวณหลังโพรงจมูกและช่องปาก เพื่อให้มีการเปิดของท่อระบายอากาศไปสู่หูชั้นกลางเป็นการปรับความดันอากาศให้สมดุลให้กลืนน้ำลายตามด้วยทุกครั้ง คนที่คิดวิธีนี้ขึ้นมาคือ นาย Antonio Maria Valsalva แพทย์ชาวอิตาลี ในศตวรรษที่17 เป็นการทดสอบการปิดเปิดของท่อ Eustachian Tube (และยังใช้วิธีนี้ในการขับเอาหนองออกมาจากช่องหูชั้นกลางอีกด้วย) จากการที่ปัญหาของอาการแน่นปวดหูที่มักจะเกิดมีปัญหาช่วงเครื่องบินลดระดับลงดังที่กล่าวมา สภาพของเยื่อแก้วหูจะถูกความดันอากาศที่สูงขึ้นกดให้เยื่อแก้วหูยุบตัวลงไป โดยที่การไหลของอากาศจากภายในช่องปากเข้าสู่ด้านในของหูชั้นกลางจะต้องออกแรงอัดอากาศช่วยเปิดท่อ Eustachain ให้อากาศผ่านเข้าสู่หูชั้นกลางปรับสมดุลของความดันซึ่งใช้ได้ผลเป็นอย่างดี

เนื่องจากการอัดอากาศเข้าไปในหูชั้นกลางผ่านท่อEustachain Tube มีโอกาสทำให้อากาศค้างอยู่ในหูชั้นกลางได้ มีอาการหูอื้อ แต่ไม่เกิดอันตรายแล้ว ให้กลืนน้ำลายช่วยเปิดท่อได้อาการหูอื้อก็จะดีขึ้น อนึ่งบางครั้งเครื่องบินตกหลุมอากาศ หรือลดระดับอย่างเร็ว จนแม้คนธรรมดาก็ปรับแรงดันในหูได้ยาก ยิ่งคนที่มีอาการ หวัด คัดจมูก ท่อ Eustachain Tubeบวมอยู่ อาจเกิดแรงดันลบในหูอย่างรวดเร็วเกินไปจนเกิด แก้วหูถูกกระชาก เลือดออกบนแก้วหู หรือในหูชั้นกลางได้จะมีอาการปวดมากต้องรีบพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่คนไข้ที่มาปรึกษาเรื่องปวดแน่นหู ส่วนใหญ่ที่มาพบว่าเป็นลูกเรือ พนักงานบนเครื่องบินที่เป็นไข้หวัดไม่มาก กินยาอยู่ไม่อยากพัก หรือลาพักไม่ได้ ต้องจำใจไปทำงานบนเครื่อง แม้จะกินยาแก้หวัด ลดบวม ลดน้ำมูก และ ถึงแม้ใช้ยาพ่นจมูกลดอาการบวม ของท่อ Eustachain Tube แล้ว และได้ทำ Valsalva ปรับความดันหลายครั้ง ก็ยังมีอาการปวดแน่นหูอยู่ หลังจากตรวจดูพบว่า เยื่อแก้วหูขยายดันออกมา แต่ไม่มีการอักเสบ แสดงว่าน่าจะมีอากาศค้างอยู่ภายในช่องหูด้านในหลังจากทำ Valsalva ซึ่งน่าจะมีแต่อาการหูอื้อมากกว่าปวดหู เพราะความดันได้ปรับให้สมดุลแล้ว ได้อธิบายคนไข้ให้เข้าใจ และช่วยโดยการให้คนไข้ อ้าปากหาว กลืนน้ำลายพร้อมกับปิดจมูก (Toynbee Maneuver) ให้อากาศระบายออกมา อาจจะช่วยดึงหูพร้อมกับเอียงศีรษะข้างที่อื้อขึ้นเพื่อช่วยยืดท่อ Eustachain Tube ให้ระบายลมได้ดีขึ้น คนไข้จะได้ยินเสียงแก้วหูขยับและอาการหูอื้อดีขึ้น ลองตรวจดูซ้ำพบว่าแก้วหูยุบตัวลง แสดงว่าอากาศระบายออกไปบ้างแล้ว ได้จ่ายยาช่วยลดอาการบวมกินต่อ 2-3 วัน การทำ Valsalva จะไม่ช่วยเลยในกรณีนี้เพราะอาการหูอื้อจะยังไม่ดีขึ้นและอาจทำให้อากาศเข้าไปค้างในหูชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น กรณีที่คนไข้รอดูอาการเองที่บ้าน โดยไม่ทำ Valsavaซ้ำๆ ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเองภายใน1-2 วัน เพราะอากาศจะถูกระบายออกเองทีละน้อยๆ แต่หากไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ โสต ศอ นาสิก แยกแยะสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อหูชั้นกลางอักเสบ ,การบาดเจ็บจากความดันอากาศที่อาจเกิดขึ้นได้ ฯลฯ โดยสรุป อาการผิดปกติที่หู จากการโดยสารเครื่องบินในสภาวะที่ร่างกายปกติไม่ได้เป็นภูมิแพ้ หรือเป็นหวัด การปรับความดันให้สมดุลในช่องหู ช่วยเปิดท่อ Eustachian Tubeโดยวิธีง่ายๆ เช่น การเคี้ยวหมากฝรั่ง การอ้าปากหาว หรือ การปิดจมูกพร้อมกับกลืนน้ำลาย น่าจะเพียงพอแล้ว ยกเว้นในกรณีที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ จึงจะใช้วิธี Valsalva ช่วย แต่ผลที่ตามมาคืออาการหูอื้ออาจจะหลงเหลืออยู่บ้างแต่ไม่ควรกังวลมากเกินไป อย่าพยายามทำValsalvaซ้ำๆ ซึ่งจะไม่ช่วยอะไร ให้ใช้วิธีง่ายๆ ข้างต้นเปิดท่อช่วยระบายอากาศที่ค้างอยู่จะดีกว่า หวังว่าการเดินทางโดยเครื่องบินในครั้งต่อๆไป คงไม่ทำให้เกิดความกังวลตอนที่ป่วยเป็นไข้หวัดแล้วต้องเดินทางอีกแล้ว

ปานฤทัย คงยิ้มละมัย (ปิงปอง) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

โดย บริษัท แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น จำกัด 02-732-6069-70

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๓๖ โรงพยาบาลพระรามเก้า คว้ารางวัล Digital Transformation Initiative of the Year 2024 จากเวที Healthcare Asia Awards
๑๒:๐๐ กลับมาอีกครั้งกับงานช้อปอย่างมีสไตล์ รายได้เพื่อชุมชน ครั้งที่ 14 เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนมาช้อป ชม ของดี ของเด็ดประจำจังหวัดปทุมธานี ระหว่าง 4 - 10
๑๒:๓๙ เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ สนับสนุนพื้นที่ กรมพลศึกษา จัดแข่งขันกีฬากระบี่กระบองระหว่างโรงเรียน กิจกรรมสร้างสรรค์เสริมทักษะเยาวชน ส่งเสริม SOFT POWER
๑๑:๑๕ TOA ย้ำแชมป์สีเบอร์หนึ่ง คว้า 2 รางวัลใหญ่ 'สุดยอดองค์กร และแบรนด์สีที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นมากที่สุด' 13 ปีซ้อน Thailand's Most Admired Company Brand ปี
๑๑:๔๒ ไทยพีบีเอสยกระดับรู้เท่าทันภัยออนไลน์ ผนึกกำลัง 8 หน่วยงาน ป้องกัน-กวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์
๑๑:๕๘ ศิษย์เก่าวิศวฯ SPU กว่า 5 ทศวรรษ ร่วมย้อนวันวานในงาน วิศวฯ คืนถิ่น SEAN HOMECOMING 2024
๑๑:๑๓ เฮงลิสซิ่ง ร่วมสืบสานประเพณีท้องถิ่น ฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี ประจำปี 2567
๑๑:๔๕ YouTrip สาดความคุ้มต้อนรับสงกรานต์กับ 2 โปรพิเศษ 4.4 Travel Sale และ Japan Mega Cashback รับส่วนลดสุดคุ้มจากแบรนด์ท่องเที่ยวดัง และเงินคืนสูงสุด 2,000
๑๑:๕๒ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รามคำแหง เชิญเข้าร่วมงานสัมมนาวิชา อนาคตเศรษฐกิจไทย: ยืดหยุ่นและยั่งยืน
๑๑:๑๐ เจแอลแอล ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ