สธ.ชี้ไอคิวเด็กต่ำลง โดยเฉพาะในชนบท เร่งกระตุ้นพัฒนาการเด็กด้วย กิน-กอด-เล่น-เล่า-ลดดูทีวี-ลดเล่นเกม

อังคาร ๐๒ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๐๙:๓๖
กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจไอคิว-อีคิว เด็ก ป.1ล่าสุดในปี 2557 พบอีคิวปกติ แต่ไอคิวเด็กชนบทต่ำกว่าเด็กในเมืองสาเหตุขาดความอบอุ่นในครอบครัว หนุนพ่อ-แม่-ผู้ปกครอง-ผู้ดูแลเด็ก ช่วยกระตุ้นเพิ่มไอคิว-อีคิว ด้วยวิธีง่ายๆ คือ“กิน กอด เล่นเล่า ลดดูทีวี ลดเล่นเกม”

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สำรวจระดับสติปัญญาหรือไอคิว(IQ) และความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว (EQ) ของเด็กไทยวัยประถมศึกษาปีที่ 1 ปี พ.ศ.2557 จำนวน 4,929 คน ทุกภาคทั่วประเทศ พบไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 93.1 จุด ลดลงจากปี 2554 ที่มีอยู่ 94 จุด ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานโลกที่กำหนดเฉลี่ยอยู่ที่ 100 จุด โดยเด็กในเมืองมีค่าเฉลี่ยไอคิวสูงกว่าเด็กในชนบท ส่วนอีคิวอยู่ระดับปกติทั้งเขตเมืองและชนบท

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ กล่าวว่า ไอคิวของเด็กมีความสำคัญต่อระดับสติปัญญาการเรียนรู้ ส่วนหนึ่งมาจากความอบอุ่นในครอบครัว และทักษะวิธีการส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาที่แตกต่างกัน เช่น ความพอเพียงของอาหารที่บำรุงร่างกาย ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการ ในชนบทอาจจะมีน้อยกว่าในเขตเมือง ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งสร้างเด็กไทยให้มีความสมบูรณ์ทั้งระดับสติปัญญาดีและสังคมดีควบคู่กัน โดยมีโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเนื่องในโอกาสพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของพ่อแม่ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก มีอาสาสมัครสาธารณสุข-โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จะดูแลใกล้ชิดเป็นพิเศษกับกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ เด็กขาดออกซิเจนระหว่างคลอด และเด็กที่มีปัจจัยเสี่ยงด้านสังคม โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เป็นการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ไปจนถึงอายุ 5 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมสู่วัยเรียน

สำหรับยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพไอคิวและอีคิวเด็ก 3 ประเด็น คือ 1.ความร่วมมือส่งเสริมพัฒนาการเด็กระหว่างสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับกับศูนย์เด็กเล็ก ในพื้นที่ทุกสังกัด 2.ส่งเสริมให้ทุกครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก เลี้ยงดูเน้น “กิน กอด เล่น เล่า ลดดูทีวี ลดเล่นเกม” สร้างความใกล้ชิด ผูกพันระหว่างเด็กกับผู้เลี้ยงดู ช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กและเห็นความผิดปกติของเด็กได้เร็วขึ้น ให้เด็กกินอาหารตามวัย ถูกหลักโภชนาการ การกอดเด็กจะได้รับความอบอุ่น รับรู้ถึงความรัก การเล่นเป็นการกระตุ้นพัฒนาการเด็กตามวัยส่วนการเล่านิทานจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ เป็นการฝึกการทำงานประสาทเซลล์สมอง 3.เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลพัฒนาการเด็กแบบง่ายๆ

ทางด้านนายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา พบว่า พบสถานการณ์ที่ส่งผลต่อระดับไอคิวของเด็ก ที่สำคัญมี 3 รูปแบบ คือ แบบที่ 1 เด็กมีโอกาสอยู่กับครอบครัวลดลง โดยอยู่กับพ่อและแม่ครบถ้วนเพียงร้อยละ 62 มีเด็กถูกเลี้ยงโดยพ่อหรือแม่ร้อยละ 14 คือพ่อแม่ทำงานอยู่คนละจังหวัดร้อยละ 49 พ่อแม่แยกทางกันร้อยละ 32 พ่อหรือแม่เสียชีวิตร้อยละ 8

แบบที่ 2 เด็กที่พ่อแม่ปล่อยให้อยู่กับผู้สูงอายุ หรืออยู่ในครอบครัวที่แหว่งกลาง (Skip generation) คือ มีเฉพาะผู้สูงอายุกับเด็กซึ่งขณะนี้พบในชนบทมากกว่า 1.4 ล้านครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 6 ของครัวเรือน

ทั่วประเทศผลจากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า เด็กที่ถูกเลี้ยงโดยปู่ ย่า ตา ยาย จะเสียเปรียบด้านการศึกษามากกว่าเด็กที่เลี้ยงโดยพ่อแม่ เนื่องจากไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย และรูปแบบที่ 3 คุณภาพของการศึกษาของเด็กก่อนวัยเรียน จากการสำรวจพบเด็กอายุ 3-4 ปี ร้อยละ 73 กำลังเรียนอยู่ในโปรแกรมก่อนวัยเรียน ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก และโรงเรียน ภาคเหนือมีอัตราเข้าเรียนสูงสุดร้อยละ 82 ซึ่งคุณภาพการส่งเสริมการเรียนรู้จากศูนย์เด็กเล็ก จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ

นายแพทย์เจษฎา กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตจะเร่งดำเนินการป้องกันปัญหาและส่งเสริมศักยภาพไอคิว-อีคิวเด็กไทยใน 3 ระดับดังนี้ 1.ส่งเสริมพัฒนาการในสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ 2.ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมก่อนการเข้าเรียน ทั้งทักษะการอ่าน การคำนวณ ผ่านกลไกการเลี้ยงดูและการเล่นที่ถูกต้องในครอบครัวและศูนย์เด็กเล็ก มีเครื่องมือที่ทุกฝ่ายจะใช้ร่วมกันในการกระตุ้นพัฒนาการเด็ก และ 3.การคัดกรองปัญหาการเรียนรู้ สมาธิ ออทิสติก อารมณ์และพฤติกรรม เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็ก เนื่องจากเมื่อเด็กเข้าถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จะพบปัญหาดังกล่าวประมาณร้อยละ 15 โดยครูจะสามารถคัดกรองและช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้จะส่งต่อระบบสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้เป็นโปรแกรมสำคัญที่กรมสุขภาพจิตกำลังเร่งดำเนินการให้ครอบคลุมทั้งในเขตเมืองและชนบท รวมทั้งเพิ่มพยาบาลจิตเวชเด็กและวัยรุ่นในโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้ผู้ปกครองสามารถดาวน์โหลดข้อมูลด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็กได้ที่เว็บไซต์ของกรมสุขภาพจิต www.dmh.go.th และเว็บไซต์ของสถาบันราชานุกูล www.rajanukul.go.th และโทรปรึกษาได้ที่หมายเลย 1667 และ 1323

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4