รพ.กรุงเทพภูเก็ต เปิดตัว Phuket Brain Health Institute ศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง มุ่งหวังให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพสมองก่อนสายเกินแก้

พฤหัส ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๖ ๑๓:๒๔
โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ตระหนักถึงภัยของโรคสมองเสื่อมที่หากเป็นแล้วรักษาไม่หาย และมุ่งหวังอยากให้ทุกคนมีสุขภาพสมองที่ดี เปิดตัว Phuket Brain Health Institute ศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพสมองให้คงอยู่กับเราไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมประเมินผลแบบเฉพาะบุคคล เน้นให้ผู้ที่เข้ารับโปรแกรมสามารถนำไปปฏิบัติเองได้จริงในชีวิตประจำวัน พร้อมการติดตามผลหลังเข้ารับโปรแกรม

นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ประธานคณะผู้บริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพกลุ่มภาคใต้ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต กล่าวว่า "ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมสูงอายุคนมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น เพราะด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ การที่คนเรามีความรู้เพิ่มขึ้นมีการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ทำให้เข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้นแล้ว สิ่งที่เราต้องประสบคือโรคของความเสื่อมถอยต่างๆ ทางร่างกายหนึ่งในนั้นก็คือโรคสมองเสื่อมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัว อีกทั้งยังส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอีกด้วย

และในปัจจุบันเราจะพบว่าผู้สูงอายุ ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคสมองเสื่อมมากติดอันดับ 1 ใน 10 แต่การรักษาโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในปัจจุบันยังคงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการ ยังไม่มียารักษาโรคที่ได้ผล อีกทั้งจากข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันพบว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์จะเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ 10-20 ปี ก่อนเกิดอาการ ซึ่งส่วนใหญ่โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มักมีอาการแสดงของโรคตอนอายุ 65 ปีขึ้นไป นั่นเท่ากับว่า ตอนที่เราอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ดังนั้นหากเรามีการตรวจเช็คสุขภาพและดูแลสุขภาพสมองอย่างดีเหมือนที่เราดูแลร่างกาย ก็จะทำให้ช่วยยืดอายุการใช้งานของสมองพัฒนาศักยภาพไปสู่จุดที่ดีกว่าเดิมได้ นั้นคือ เมื่อเราอายุมากขึ้นจะสามารถคงประสิทธิภาพของสมองให้ดีได้ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง Phuket Brain Health Institute ที่ต้องการที่จะสร้างความตระหนักรู้และให้คนหันมาใส่ใจและดูแลสมอง เพื่อป้องกันและช่วยยืดอายุสมองให้ใช้งานได้นานมากขึ้นตราบเท่าอายุของเรา

"การทำงานของศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง Phuket Brain Health Institute เราจะมีโปรแกรม Brain health เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพทางสมอง ให้เหมาะสมกับผู้ที่เข้ารับโปรแกรม โดยมีทีมแพทย์เฉพาะทางและเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมประเมิน และให้การรักษาในระยะสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งผู้เข้ารับโปรแกรมทุกคนจะได้รับการประเมินภาพรวมของร่างกายเบื้องต้นโดยโดยแพทย์ อาทิ การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ การประเมินศักยภาพทางสมองและจิตวิทยาการถ่ายภาพทางสมอง MRI การถ่ายภาพจอประสาทตา (Retinal scan) และการตรวจการนอนหลับ (Sleep test)

นอกจากนี้ผู้เข้ารับโปรแกรมทุกคนจะต้องเข้าโปรแกรมการพัฒนาศักยภาพสมอง ตั้งแต่ในเรื่องของการรับประทานอาหารเพื่อเพื่อสุขภาพสมอง การออกกำลังกายให้กับร่างกาย การเล่นโยคะ และการนั่งสมาธิ การฝึกสมองโดยโปรแกรม Cognitive Training เพื่อส่งเสริมทักษะในการแก้ปัญหา กระบวนการทางความคิด เทคนิคการจำและการให้ออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy, HBOT) เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในร่างกายรวมถึงสมอง และผู้เข้ารับโปรแกรมจะได้รับการประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งหลังจากการเข้ารับโปรแกรมจนครบ"

นพ. ก้องเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในขณะนี้ทางศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมองPhuket Brain Health Institute ได้เปิดดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 25 ล้านบาท โดยใช้สถานที่ในโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตเป็นที่ทำการของศูนย์ เหตุที่เลือกเปิดดำเนินการที่จังหวัดภูเก็ตนั้น ด้วยความพร้อมทางบุคคลกรทางการแพทย์ เครื่องมือ และด้วยความเป็นจังหวัดที่เหมาะแก่การมาพักผ่อน ปัจจุบันศูนย์สามารถรองรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการได้ 5 คนต่อครั้ง โดยมีแผนที่จะขยายเป็น 10 คนต่อครั้งได้ในอนาคต สำหรับกลุ่มเป้าหมายของศูนย์ฯ คือคนที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพสมอง หรือ มีประวัติบุคคลใกล้ชิดป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ผู้บริหารที่ต้องการเสริมศักยภาพทางสมอง โดยจะมีคณะแพทย์และพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่ละสาขาร่วมกันดูแลภายใต้มาตรฐานทางการแพทย์ ซึ่งทางศูนย์ฯ ยังได้ออกแบบบรรยากาศของพื้นที่บริการขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับโปรแกรมของกิจกรรมที่จัดขึ้นในการส่งเสริมสุขภาพและชะลอความเสื่อมของสมอง โดยในอนาคตทางศูนย์ฯ มีแผนดำเนินการที่จะขยายศูนย์นี้ไปยังโรงพยาบาลในเครือ BDMS ทั้งในและต่างประเทศในอนาคตในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้"

พญ.กัญญา เต็มเกียรติวิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตกล่าวว่า "โรคสมองเสื่อมคือภาวการณ์การทำงานของสมองที่มีการเสื่อมถอยอย่างช้าๆโดยส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็นหลายสาเหตุโดยหนึ่งในนั้นที่พบได้มากกว่าครึ่งของโรคสมองเสื่อมทั้งหมดคือโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease with dementia)

โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease with dementia) คือโรคสมองเสื่อมชนิดหนึ่งที่พบได้มากที่สุดและยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 6 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดแต่ได้มีผลจากการวิจัยพบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากมีโปรตีนที่ผิดปกติบางอย่างสะสมในสมอง คือ เบตาอะไมลอยด์ (Beta-amyloid) ที่ทำให้เกิดการอักเสบเสื่อมสลายของเซลล์สมอง ก่อให้เกิดอาการของโรคอัลไซเมอร์ตามมาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องความจำ ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักเริ่มด้วยหลงลืมจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดไม่ได้ เช่นรับประทานอาหารไปแล้วรึยัง วางของแล้วลืมว่าวางไว้ที่ไหน มีความบกพร่องในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีปัญหาเรื่องการใช้ภาษา นึกคำพูดไม่ออก ถ้าเป็นมากขึ้นจะเริ่มมีสับสนเรื่องทิศทาง ไม่รู้วันเวลา หรือสถานที่ หลงทาง ทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองไม่ได้ ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เคยทำได้มาก่อน มีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและอารมณ์เป็นต้น

ปัจจุบันการรักษาสมองเสื่อมนั้นอยู่ขึ้นกับสาเหตุว่าเป็นสมองเสื่อมจากอะไร ถ้าเกิดจากภาวะสมองเสื่อมที่แก้ไขได้ เช่น ภาวะขาดวิตามิน หรือ พร่องไทรอยด์ ก็แก้ที่สาเหตุนั้นๆ แต่ถ้าสมองเสื่อมนั้นเป็นสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ณ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาดได้ การรักษายังคงเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่านั้น

ใครบ้างที่จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมได้ บุคคลที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม ได้แก่ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป, มีประวัติในครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิดเป็นโรคสมองเสื่อม, คนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน, โรคอ้วน, ไขมันในเลือดสูง, การสูบบุหรี่ เป็นต้น ทั้งนี้รวมถึงภาวะขาดการออกกำลังกายทั้งทางกายและสมอง เช่น การทำงานแบบซ้ำๆ เดิมๆ ทุกวัน ไม่ได้ใช้ความคิดในการวิเคราะห์ หรือ ประมวลผลมาก ทั้งนี้การฝึกสมองบ่อยๆ จะส่งผลให้สมองมีเครือข่ายในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ดีขึ้น เป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการเกิดอาการของสมองเสื่อมได้ ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลจากโรคสมองเสื่อม หรือต้องการอยากให้มีสุขภาพของสมองที่ดีสามารถใช้งานได้ยืนยาว เราจึงควรดูแลสมองและตรวจเช็คสุขภาพสมองก่อนที่จะสายเกินไป

เทคนิคการดูแลสมองเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อม

1. ควบคุมอาหารโดยรับประทานอาหารให้หลากหลายเน้นโปรตีนจากปลาลดอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารรสเค็มจัดเพิ่มอาหารในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้และ ถั่ว เป็นต้น

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. ฝึกบริหารสมอง โดยเฉพาะในงานที่ไม่เคยทำมาก่อน

4. หยุดสูบบุหรี่

5. ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เพราะหลายครั้งที่เราสามารถตรวจพบความผิดปกติบางอย่างได้โดยไม่ต้องรอให้เกิดอาการ เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

ศูนย์ตรวจวิเคราะห์และเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง Phuket Brain Health Institute ตั้งอยู่ที่ โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต 2/1 ถนนหงษ์หยกอุทิศ ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต 83000 เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08.00 – 18.00 น. โทร: 076-254-425 ต่อ 1203 หรือ สนใจคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.phuketbrainhealthinstitute.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4