สพฉ.เตือนประชาชนห้ามก๊งเหล้าแก้หนาวระบุไม่ได้ทำให้ร่างกายอบอุ่นแต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

จันทร์ ๐๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๘ ๐๙:๔๓
สพฉ.เตือนประชาชนห้ามก๊งเหล้าแก้หนาวระบุไม่ได้ทำให้ร่างกายอบอุ่นแต่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ แนะประชาชนที่มีโรคประจำตัวอาทิ โรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และโรมอัมพฤกษ์อัมพาต เตรียมยาให้พร้อม ดูแลสุขภาพและรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา พร้อมห่วงเด็กเล็กและผู้สูงอายุเจ็บป่วยจากภาวะปอดบวมระบุหากพบอาการเจ็บคอมีน้ำมูกและมีอาการหอบเหนื่อยให้รีบพบแพทย์ทันที

สืบเนื่องจากหลายพื้นที่ในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่อากาศหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจึงได้ออกวิธีปฏิบัติตนสำหรับประชาชนในการรับมือกับอากาศหนาว โดยเรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวว่า ประชาชนที่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษคือประชาชนที่อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัมพฤกษ์อัมพาตซึ่งอากาศที่หนาวเย็นมากๆ จะทำให้ผู้ป่วยด้วย 3 โรคดังกล่าวได้รับผลกระทบ เพราะความหนาวเย็นจะส่งผลให้ประสาทส่วนกลางทำงานผิดปรกติ และทำให้อัตราการเต้นของหัวใจผิดปรกติด้วย เมื่ออากาศหนาวเย็นมากๆ ร่างกายจะต้องการออกซิเจนมากขึ้นจนส่งผลต่อความดันโลหิตของผู้ป่วยในกลุ่มโรคอาการดังกล่าว ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเตรียมยาประจำตัวให้พร้อม และดูแลสุขภาพตนเอง รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่ตลอดเวลา

เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโรคที่มักจะเกิดขึ้นในหน้าหนาวบ่อยมากที่สุดคือโรคปอดบวมโดยกลุ่มประชาชนที่ต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษไม่ให้ป่วยเป็นโรคดังกล่าวเพราะจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่ายคือกลุ่ม ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนจนถึง 2 ขวบ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอาทิโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผู้ป่วยไตวาย ผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังให้เคมีบำบัด หากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวนี้มีอาการไข้ไอเจ็บคอมีน้ำมูกและมีอาการหอบเหนื่อยให้รีบพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามีอาการปอดบวมที่จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้

เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีประเด็นที่เราเตือนกันทุกๆปีเมื่อเข้าสู่หน้าหนาวคือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อแก้ความหนาวเย็นเด็ดขาด เพราะมีประชาชนจำนวนมากที่ยังมีความเชื่อว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะทำให้ร่างกายอบอุ่นและแก้อากาศหนาวเย็นได้ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดอย่างมาก เพราะในความเป็นจริงแล้วการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นจะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน ที่สำคัญแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยที่อยู่ใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว ผู้ดื่มจะรู้สึกว่าตัวร้อนขึ้นทำให้เข้าใจผิดว่าร่างกายของตัวเองอบอุ่นแต่ในความเป็นจริงคือ เส้นเลือดฝอยกำลังขยายตัวอย่างหนักนั่นเองและจะเป็นช่องทางให้ความร้อนในร่างกายถูกระบายออกได้ง่ายขึ้น เมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นเท่าไหร่ความร้อนก็จะถูกระบายออกจากร่างกายมากขึ้นไปด้วย และจะทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงกว่าปกติ เมื่อเราหลับและร่างกายสัมผัสอากาศเย็นเป็นเวลานานจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

"และสำหรับขั้นตอนการดูแลตนเองของประชาชนในช่วงที่อากาศหนาวเย็นนี้ ประชาชนควรดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบทั้ง5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง เตรียมเสื้อกันหนาวมาสวมใส่เพื่อให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ทั้งนี้หากเป็นหวัด ถ้าจะออกนอกบ้านให้สวมผ้าปิดปากป้องกันการติดเชื้อสู่คนรอบข้าง และหากร่างกายเปียกน้ำให้รีบเช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อป้องกันภาวะปอดบวมด้วย"เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้