สคร.12 สงขลา เตือนประชาชนระวังป่วยโรคอาหารเป็นพิษ ในช่วงหน้าร้อน

ศุกร์ ๒๖ เมษายน ๒๐๑๙ ๑๖:๕๘
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนประชาชนระวังป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษในช่วงหน้าร้อน ด้วยอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เชื้อโรคหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี และอาจทำให้อาหารบูดเสียได้ง่ายกว่าปกติ ขอแนะนำประชาชนยึดหลัก "สุก ร้อน สะอาด"

ดร.นายแพทย์ สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ด้วยขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ทำให้เกิดการเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคหลายชนิด โดยเฉพาะเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำและอาหารจะมีการเพิ่มจำนวนได้รวดเร็ว เสี่ยงต่อการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ โดยเฉพาะ โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งพี่น้องประชาชนไม่ควรชะล่าใจ ทั้งนี้ สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษ ในระดับประเทศ ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม - 23 เมษายน 2562 พบผู้ป่วยจำนวน 33,260 ราย อัตราป่วย 50.35 ต่อประชากรแสนคน ในขณะที่สถานการณ์ระดับเขต 12 พบผู้ป่วยจำนวน 722 ราย อัตราป่วย 14.65 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยสูงสุดในจังหวัดสงขลา จำนวน 338 ราย รองลงจังหวัดตรัง จำนวน 134 ราย และจังหวัดปัตตานี จำนวน 80 ราย

ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีการอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ มากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ปวดศีรษะ คอแห้ง กระหายน้ำ ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมากๆ ผู้ป่วยอาจช๊อค หมดสติได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น ควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส (ORS) บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และถ้าหากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที

ดร.นายแพทย์ สุวิช กล่าวเพิ่มเติมว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำการป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ให้ประชาชนยึดหลัก"สุก ร้อน สะอาด" โดยรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อน ไม่รับประทานอาหารแบบสุกๆดิบๆ และควรรับประทานภายใน 2 ชั่วโมงหลังปรุงเสร็จ ควรล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดด้วยน้ำหลายๆ ครั้ง ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับการรับรองจาก อย. ไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่ของมารับประทาน และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร ก่อน-หลังการเตรียมอาหาร และหลังขับถ่าย หรือหากต้องเดินทางและสั่งอาหารกล่อง ควรเลือกจากร้านที่สะอาด และกำชับให้ผู้ปรุงอย่าปรุงล่วงหน้านาน เลือกชนิดอาหารที่ไม่บูดเสียง่าย ไม่ควรเป็นอาหารประเภทกะทิ ยำ อาหารสุกๆ ดิบๆ หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทาน และในการประกอบอาหารปริมาณมาก สำหรับกิจกรรมกลุ่มหรือการจัดประชุมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลของอาหาร เช่น ความสะอาดของวัตถุดิบในการปรุง ตลอดจนภาชนะใส่อาหาร ที่สำคัญควรปรุงให้สุก อีกทั้งผู้ประกอบการ ควรทำความสะอาดร้านค้าหรือตลาดทุกๆ 2 สัปดาห์ และการกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคอาหารเป็นพิษสามารถโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4