จิตเวชโคราช จัดเมนูอาหารเฉพาะโรค “จิตเภท” ช่วยการฟื้นตัว แนะญาติให้ระวัง!! 5 ประเภทอาหารเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อผู้ป่วย

พฤหัส ๐๑ สิงหาคม ๒๐๑๙ ๐๙:๒๘
รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จัดเมนูอาหารช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยโรคจิตเภท ซึ่งพบมากอันดับ 1 ในเขตนครชัยบุรินทร์ โดยเน้นอาหาร 5 กลุ่มที่มีคุณค่าสูง เช่นข้าวกล้อง ผักใบเขียว และจำกัดเนื้อสัตว์ไม่ให้เกิน 60-80 กรัมต่อวัน และจัดเครื่องดื่มสมุนไพร 3 ชนิด ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลาย เช่นน้ำตะไคร้ใบเตย น้ำใบบัวบก พร้อมแนะญาติให้ระมัดระวังอาหารการกินที่บ้าน เลี่ยงอาหารประเภทมีน้ำตาลต่ำ อาหารที่มีผงชูรสทุกชนิด และเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ เนื่องจากจะยับยั้งการดูดซึมยา ไม่เป็นผลดีต่อการรักษา

แพทย์หญิงกรองกาญจน์ แก้วชัง รองผู้อำนายการด้านการแพทย์และประธานทีมนำทางคลินิก โรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท(Schizophrenia)ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติทั้งการรับรู้ ความคิดและพฤติกรรม มีประสาทหลอน หูแว่ว หลงผิด มีพฤติกรรมถดถอย ส่วนใหญ่มักจะมีอาการเรื้อรัง ที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ซึ่งเป็นรายที่อาการรุนแรง ยุ่งยาก ซับซ้อนปีละเกือบ 2,000 คน มากเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยทางจิตที่อยู่ในเขตนครชัยบุรินทร์หรือเขตสุขภาพที่ 9 ที่รับไว้รักษาทั้งหมด การดูแลรักษาจะบูรณาการระหว่างทีมสหวิชาชีพต่างๆเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูอย่างครบถ้วนทั้งกาย ใจ สังคม สามารถกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งยังให้ความสำคัญด้านอาหารซึ่งมีส่วนช่วยให้การฟื้นฟูสภาพของผู้ป่วยดีขึ้น ช่วยเสริมคุณภาพการรักษาของแพทย์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยในพื้นที่เขตนครชัยบุรินทร์ได้แก่จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์คาดว่ามีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ44,000 คน ขณะนี้เข้าถึงบริการรักษาแล้วกว่า 36,000 คน

ทางด้านนางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการ รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯกล่าวว่า ต่อวันมีผู้ป่วยจิตเภทพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ย 158 คน หรือประมาณร้อยละ 58 ของผู้ป่วยในทั้งหมด ฝ่ายโภชนาการได้จัดอาหารให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายและครบถ้วน 5 กลุ่ม เพื่อเสริมประสิทธิภาพการรักษาของแพทย์ ประกอบด้วย 1.กลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน จะใช้ข้าวกล้อง เมล็ดธัญพืช เช่นข้าวโพดเป็นต้น 2.กลุ่มผัก จะใช้ผักใบเขียวทุกชนิด 3.กลุ่มโปรตีนจะใช้เต้าหู้แข็ง ถั่ว ปลาเล็กปลาน้อย 4. กลุ่มไขมันจะเน้นอาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทะเล และมีโอเมก้า 6 สูง เช่นน้ำมันดอกทานตะวัน และ5.กลุ่มผลไม้ จะใช้ประเภทกล้วยซึ่งจะช่วยให้หลับดีขึ้น โดยจะควบคุมปริมาณอาหารที่ให้สารโดปามีน(Dopamine) ได้แก่ เนื้อสัตว์ นม ปลา ถั่วต่างๆ ให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะคือ 60-80 กรัมต่อวัน พร้อมทั้งจัดน้ำสมุนไพร 3 ชนิด เป็นเครื่องดื่มจะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเภทรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ได้แก่ 1.น้ำตะไคร้ใบเตย แก้อาการอ่อนเพลีย เพิ่มความสดชื่น อารมณ์ดีขึ้น บำรุงระบบประสาท เสริมสร้างความจำ 2.น้ำใบบัวบกลดความกระวนกระวาย ช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลาย นอนหลับได้ง่ายขึ้น และ3.น้ำมะตูม ช่วยบำรุงสมอง คลายกังวล สมาธิดีขึ้น

สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยโรคจิตเภทที่อาการดีแล้วและอยู่ระหว่างการฟื้นฟูต่อที่บ้านไม่ควรรับประทานมี 5 ประเภท ซึ่งทางฝ่ายโภชนาการได้ขอความร่วมมือญาติให้ช่วยกันระมัดระวัง ได้แก่ 1.อาหารกลูเตน(Gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งพบในข้าวสาลี นมวัว อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้ เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาท ทำให้ประสาทหลอน รวมทั้งเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ 2.ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มักจะพบในเครื่องดื่มน้ำอัดลมประเภทปราศจากน้ำตาลหรือไดเอท ,โยเกิร์ตที่ปราศจากน้ำตาล ,หมากฝรั่งโลว์ชูก้า หากรับประทานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะสะสมในร่างกายเนื่องจากเป็นกรดอะมิโนที่ไม่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นสาเหตุของอาการวิตกกังวล ความเครียดและไมเกรน

3. อาหารที่ใช้ผงชูรส สารเคมีในผงชูรสจะเข้าไปจัดการสมองให้รู้สึกว่าอาหารมีความอร่อย ส่งผลให้สมองหลั่งสารโดปามีน(Dopamine)ออกมาเกินความจำเป็นและทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้ยาที่ใช้รักษาไม่ได้ผลดี และหากทานอาหารที่ใส่ผงชูรสเป็นประจำจะเกิดการรบกวนการทำงานของสมองและระบบประสาท เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยโรคพาร์กินสัน สมองเสื่อมอัลไซเมอร์ได้ โดยผงชูรสนี้จะพบมากในอาหารปรุงพร้อมจำหน่าย เช่นอาหารถุง ยังพบในอาหารสำเร็จรูปไม่ว่าจะเป็นขนมขบเคี้ยว,น้ำปรุงสลัด,บาร์บีคิวซอส,บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารกระป๋องต่างๆ วิธีที่ดีที่สุดคือควรปรุงอาหารเองและไม่ใช้ผงชูรสใดๆ 4. น้ำตาลที่ผ่านการฟอกขาว เนื่องจากจะไปยับยั้งการผลิตอาหารของเซลล์สมอง (BDNF) ซึ่งเป็นโปรตีนสำคัญของโกรทฮอร์โมนในเซลล์สมอง ขัดขวางไม่ให้เซลล์สมองเชื่อมโยงกันได้ เกิดการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้ซึมเศร้าได้ ควรใช้น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายสีรำหรือน้ำตาลทรายที่ไม่ได้ผ่านการฟอกสี และ 5. เครื่องดื่มประเภทชากาแฟ น้ำอัดลมสีดำ ช็อกโกแลต เนื่องจากจะไปยับยั้งการดูดซึมของยาที่รักษา นางจิรัฐิติกาล กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4