แพทย์เตือนอาการสำลักในเด็ก อันตรายถึงชีวิต! พร้อมแนะวิธีรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด

พฤหัส ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๐๒๐ ๑๖:๕๐
อุบัติเหตุในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้จากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่อาจคาดคิด เพราะฉะนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเตรียมรับมือ ไม่ประมาท หรือละเลยความปลอดภัยของเด็ก ๆ เป็นอันขาด ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ที่ถูกมองข้ามและเกิดขึ้นเป็นประจำคงหนีไม่พ้นการสำลักที่เกิดมาจากสิ่งของเข้าไปอุดตันในหลอดอาหารหรือทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการเสียชีวิต หรือส่งผลให้เกิดการพิการทางสมองได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
แพทย์เตือนอาการสำลักในเด็ก อันตรายถึงชีวิต! พร้อมแนะวิธีรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS ร่วมกับโรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี และ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีราชา จัดอบรมเพิ่มความรู้ให้แก่ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่ศูนย์วิจัยและปฏิบัติการเรียนรู้และพัฒนาเด็กเล็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี ในหัวข้อ'ช่วยด้วย! ลูกสำลัก ของติดคอ’เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อสานต่อโครงการวัคซีนพ่อแม่(Community Caring by BDMS) พร้อมส่งต่อความรู้ เทคนิคการดูแลที่จำเป็นสำหรับเด็ก ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดผ่านบุคคลากรทางการแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านต่าง ๆ จากเครือ BDMS

ในแต่ละปีเรามักจะได้เห็นข่าว หรือเรื่องราวของเด็กที่เสียชีวิตจากของเล่น หรือ สิ่งของขนาดเล็ก อย่าง กระดุม เข็มกลัด ลูกปัด เหรียญ ตัวต่อพลาสติก ฯลฯ ที่เข้าไปอุดตันทางเดินหายใจหรือทางเดินอาหาร และถูกแชร์ต่อ ๆ กันบนโลกโซเชียลเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่คนทั่วไปอยู่เสมอ ซึ่งปัจจัยหนึ่งเกิดจากการละเลย หรือ ความประมาทจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ประกอบกับธรรมชาติของเด็กซึ่งมีความซุกซน ช่างสงสัย และในช่วงอายุหนึ่งจะมีพฤติกรรมที่มักหยิบฉวยสิ่งของต่าง ๆ เข้าปากอยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดการอุดตันได้

นอกจากของเล่นที่สามารถทำให้เกิดอันตรายได้แล้ว การรับประทานอาหารในเด็กก็มีความสำคัญและไม่ควรชะล่าใจเช่นกัน โดยไม่ควรให้เด็กเล็กรับประทานอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว มีลักษณะกลม ลื่น หรือแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก อาหารประเภทเส้น หรือผลไม้ที่มีเมล็ด เช่น แตงโม เงาะ ลำไย ส้ม เป็นต้น

แพทย์หญิงพรพรรณ กสิเสรีวงศ์ ได้แนะวิธีการป้องกันเบื้องต้นไว้ ดังนี้“การป้องกันเด็กสำลัก เนื่องจากมีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตามทางเดินหายใจหรือหลอดอาหารได้ดีที่สุดคือ การให้อาหารอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามวัยของเด็ก เช่น อายุต่ำกว่า 6 เดือน ห้ามให้อาหารที่เป็นชิ้นแข็งๆ เด็ดขาด และควรใส่ใจสร้างวินัยการรับประทานอาหารที่ดีให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับของเล่นเด็กเล็ก ไม่ควรให้เด็กเล่นของเล่นที่เล็กกว่า 3 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการกลืนของเล่น ขนาดจึงควรยาวมากกว่า 6 เซนติเมตร รวมถึงของเล่นที่มีลักษณะเป็นสายยาว ความยาวของสายไม่ควรเกิน 22 เซนติเมตร”

โดยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สิ่งของอุดตันทางเดินหายใจและหลอดอาหารนั้น จะมีวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยเริ่มจากการประเมินอาการก่อนซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระดับได้แก่

ระดับแรก - เด็กสามารถพูดหรือสามารถส่งเสียงได้อยู่ สีหน้าไม่ออกเขียวหรือซีด ควรแก้ไขเบื้องต้นด้วยการ ให้เด็กไอแรง ๆ เพื่อที่เศษอาหารหรือสิ่งของจะได้หลุดออกมา หรือ อ้าปากเด็กดูหากพบว่าเศษอาหารอยู่ในระยะที่สามารถหยิบออกได้ ควรจะหยิบหรือคีบออกทันที แต่ในกรณีที่มองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม ไม่ควรเอามือล้วงช่องปาก หรือคอเด็กโดยเด็ดขาด และควรนำเด็กไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ทำการรักษาโดยทันทีระดับที่สอง - หากเด็กมีอาการรุนแรง ไม่สามารถพูดหรือส่งเสียงได้ สีหน้ามีสีเขียวหรือซีด สามารถทำท่า '5 back slaps and 5 chest thrusts’ ควรจับเด็กนอนคว่ำบนตักและตบแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลังระหว่างกระดูกสะบักประมาณ 5 ครั้ง แล้วจับเด็กนอนหงายแล้วกดบริเวณหน้าอกอีก 5 ครั้ง ทำสลับกันไป จนสิ่งแปลกปลอมกระเด็นหลุดออกมา และไม่ควรจับเด็กห้อยศีรษะ ตบหลังเป็นอันขาด เพราะจะทำให้เศษอาหารหรือสิ่งของยิ่งลงลึกและอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตได้ แต่หากทำวิธีดังกล่าวแล้วสิ่งแปลกปลอมไม่หลุดออกมาให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล เพื่อนำสิ่งที่อุดตันออกมาโดยเร็วที่สุด และหากเด็กหยุดหายใจ ชีพจรหยุดเต้นระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาล ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำ CPR ตามขั้นตอนที่กำหนด และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลในทันที

เพราะฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสอดส่องดูแล จัดเก็บสิ่งของให้เป็นระเบียบ ห่างไกลจากเด็ก หลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นสิ่งของที่มีชิ้นส่วนขนาดเล็กหรือแตกหักง่าย และฝึกสอนไม่ให้นำของเข้าปาก เพราะนอกจากจะได้รับอันตรายจากการอุดตันทางเดินหายใจและทางเดินอาหารแล้ว ยังจะได้รับอันตรายจากสารเคมีได้อีกด้วย

หากต้องการให้เด็กรับประทานผลไม้ประเภทที่มีเมล็ด ควรเอาเมล็ดออก พร้อมตัดแบ่งเป็นขนาดพอคำที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเมล็ดของผลไม้มีความลื่นและสามารถหลุดเข้าหลอดลมได้โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ฟันยังขึ้นไม่ครบ ควรบดอาหารให้ละเอียด พร้อมปลูกฝังเด็กๆ เรื่องการนั่งโต๊ะรับประทานอาหาร และระหว่างรับประทานอาหารให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ และละเอียดก่อนกลืน

เหตุการณ์ดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่การเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์สำหรับบุตรหลาน เป็นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรประมาท เพื่อป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น การจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ในบ้านให้เรียบร้อยอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ รวมถึงเลือกของเล่นให้เหมาะสมตามช่วงอายุเด็กเพื่อลดโอกาสการเกิดเหตุไม่คาดคิด พร้อมพิถีพิถันใส่ใจอาหารการกินของเด็ก ๆ ด้วยความระมัดระวัง และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญและจำเป็นคือ การมี “สติ” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ทำให้เด็กตื่นตระหนก และหวาดกลัวไปด้วย

แพทย์เตือนอาการสำลักในเด็ก อันตรายถึงชีวิต! พร้อมแนะวิธีรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด แพทย์เตือนอาการสำลักในเด็ก อันตรายถึงชีวิต! พร้อมแนะวิธีรับมือเหตุการณ์ไม่คาดคิด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๑๑ ส.ธุรกิจท่องเที่ยวประจวบคีรีขันธ์ เลือก ทิวัตถ์ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรง นั่งตำแหน่งนายกสมาคมฯ คนใหม่
๑๐:๑๑ สัมผัสเอกลักษณ์ความเป็นไทย ผ่านการดีไซน์ร่วมสมัย ในคอลเลกชัน good goods x ISSUE Special Collaboration
๑๐:๒๖ SCB ส่ง UP เงินทันใจ สินเชื่อเพื่อธุรกิจ สร้างแรงบันดาลใจให้พ่อค้าแม่ค้า อัปธุรกิจได้ไว ผ่านแคมเปญ ''รู้จัก UP ไว
๐๙:๔๔ NSM จัดอบรมพัฒนาทักษะการแสดงละคร ในโครงการประกวดการแสดงละครวิทยาศาสตร์ ประจำปี 2567
๑๐:๔๔ โรงพยาบาลรามคำแหง หนึ่งในโรงพยาบาลที่ดีที่สุดของไทย 4 ปีซ้อน โดย Newsweek
๐๙:๑๖ ผ่านมาได้ ก็บุญแล้ว โจอี้ ภูวศิษฐ์ ส่งเพลงใหม่ หัวใจสะออน MV สร้างจากชีวิตจริง
๐๙:๒๑ ธอส. ร่วมมือ ยสท. และ ธพว. KICK OFF โครงการคู่ความร่วมมือของรัฐวิสาหกิจ
๐๙:๒๓ คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผูแทนราษฎร ศึกษาดูงาน มจพ.
๐๙:๔๕ สมาคมชาวจังหวัดโทยาม่าในกรุงเทพฯ เยี่ยมนักเรียนทุนมูลนิธิ EDF
๐๙:๐๒ Funding Societies จับมือ PEAK โปรแกรมบัญชีออนไลน์ หนุนธุรกิจ SME เข้าถึงเงินทุนโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์