การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์เผยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์

พุธ ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๒๐ ๑๐:๑๕
ผลวิจัยใหม่ล่าสุดที่เผยแพร่ในการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ หรือ Alzheimer's Association International Conference(R) (AAIC(R)) 2020 ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์

ข้อมูลสำคัญจาก 3 การวิจัยที่เปิดเผยในการประชุม AAIC 2020 มีดังนี้

- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หนึ่งครั้งทำให้อุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ลดลง 17% และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่านั้นทำให้อุบัติการณ์ของโรคอัลไซเมอร์ลดลงอีก 13%

- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมให้ผู้สูงวัยอายุ 65-75 ปี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์สูงสุด 40% ขึ้นอยู่กับยีนของแต่ละคน

- ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังติดเชื้อสูงกว่า (6 เท่า) เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อม (3 เท่า)

“วัคซีนเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในวงการสาธารณสุขท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราจำเป็นต้องศึกษาประโยชน์ของวัคซีนทั้งในแง่ของการป้องกันการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย และการยกระดับการดูแลสุขภาพในระยะยาว” ดร.มาเรีย ซี คาร์ริลโล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิทยาศาสตร์ของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ กล่าว

“การฉีดวัคซีนเป็นการดูแลสุขภาพง่าย ๆ แต่ได้ประโยชน์หลายทาง หนึ่งในนั้นคือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อม” ดร.คาร์ริลโล กล่าว “การวิจัยนี้กระตุ้นให้เกิดการวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมที่มีขนาดใหญ่และหลากหลายมากขึ้น เพื่อยืนยันว่าการฉีดวัคซีนเป็นกลยุทธ์ด้านสาธารณสุขที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้น”

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลอาจลดการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์

ผลวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนอาจมีคุณสมบัติในการป้องกันการเสื่อมถอยของสมอง แต่ยังไม่มีการศึกษาขนาดใหญ่และครอบคลุมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์โดยเฉพาะ เพื่ออุดช่องว่างดังกล่าว อัลเบิร์ต อัมราน นักศึกษาแพทย์จาก McGovern Medical School at The University of Texas Health Science Center at Houston และทีมงาน ได้ทำการศึกษาชุดข้อมูลบันทึกสุขภาพของชาวอเมริกันจำนวนมหาศาล (n=9,066)

อัมรานและทีมงานพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่หนึ่งครั้งทำให้ความชุกของโรคอัลไซเมอร์ลดลง (odds ratio 0.83, p<0.0001) และในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่บ่อยกว่านั้นยิ่งมีความชุกของโรคอัลไซเมอร์ลดลงอีก (odds ratio 0.87, p=0.0342) ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยกว่า โดยช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลงได้เกือบ 6% ในผู้ป่วยอายุ 75-84 ปี เป็นเวลา 16 ปี

คณะนักวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์เชิงป้องกันระหว่างวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีความชัดเจนที่สุดในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครั้งแรกเร็วกว่า ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกเมื่ออายุ 60 ปี ได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครั้งแรกเมื่ออายุ 70 ปี

“การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีราคาถูกและเข้าถึงง่ายมาก อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมจากโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ” อัมรานกล่าว “เราจำเป็นต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาการทำงานของกลไกทางชีวภาพในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังศึกษาหาวิธีการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ที่มีประสิทธิภาพ”

วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิต

การนำวัคซีนที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ดร.สเวตลานา ยูเครนเซวา รองศาสตราจารย์วิจัยประจำ Biodemography of Aging Research Unit (BARU) at Duke University Social Science Research Institute และทีมงาน ได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซันป้องกันโรคปอดบวมอย่างเดียวหรือฉีดร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในผู้ป่วยอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวน 5,146 คน ในการศึกษา Cardiovascular Health Study นอกจากนั้นยังมีการพิจารณายีนเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นั่นคือ TOMM40 rs2075650 G allele

คณะนักวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมระหว่างอายุ 65-75 ปี ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ 25-30% หลังปรับข้อมูลเพศ เชื้อชาติ การเกิด การศึกษา การสูบบุหรี่ และจำนวน G alleles โดยพบว่าความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ลดลงมากที่สุด (สูงสุด 40%) ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมและไม่มียีนเสี่ยง นอกจากนี้ จำนวนครั้งในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยอายุระหว่าง 65-75 ปี ยังสัมพันธ์กับความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ไม่พบผลลัพธ์ดังกล่าวในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อย่างเดียว

“การฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมก่อนอายุ 75 ปีอาจลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงบั้นปลายชีวิต ขึ้นอยู่กับยีนของแต่ละคน” ดร.ยูเครนเซวา กล่าว “ข้อมูลเหล่านี้บ่งชี้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมอาจเป็นความหวังในการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่มียีนเสี่ยง”

การติดเชื้อทำให้ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมักมีอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อศึกษาว่าการติดเชื้ออาจแย่ลง เป็นอันตรายต่อชีวิตมากขึ้น หรือก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

เจเน็ต แจนเบ็ค นักศึกษาปริญญาเอกจาก Danish Dementia Research Centre, Rigshospitalet and the University of Copenhagen ในเดนมาร์ก และทีมงาน ใช้ข้อมูลจากทะเบียนข้อมูลสุขภาพแห่งชาติเพื่อศึกษาการเสียชีวิตของประชากรชาวเดนมาร์กอายุ 65 ปีขึ้นไป (n=1,496,436) ซึ่งไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ โดยพบว่าผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมและมีอาการติดเชื้อ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมและไม่มีอาการติดเชื้อถึง 6.5 เท่า ส่วนผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมอย่างเดียวหรือติดเชื้ออย่างเดียวมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 3 เท่า โดยอัตราการเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วง 30 วันแรกหลังไปโรงพยาบาล

คณะนักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมยังคงมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นตลอด 10 ปีหลังไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อทั้งหมด (ตั้งแต่การติดเชื้อรุนแรงอย่างการติดเชื้อในกระแสเลือด ไปจนถึงการติดเชื้อเล็กน้อยอย่างการติดเชื้อในหู) สูงกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ได้ไปโรงพยาบาลด้วยอาการติดเชื้อ

“การศึกษาของเราตอกย้ำถึงความจำเป็นในการศึกษาความสัมพันธ์เหล่านี้ให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพื่อค้นหาว่าเพราะเหตุใดการติดเชื้อจึงมีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงและกลไกทางชีวภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการติดเชื้อที่มีต่อภาวะสมองเสื่อม” คุณแจนเบ็คกล่าว

“การศึกษาของเราบ่งชี้ว่า ระบบดูแลสุขภาพ รวมถึงญาติของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ควรตระหนักมากขึ้นเกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมที่มีการติดเชื้อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่จำเป็น ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมต้องการการรักษาเป็นพิเศษ แม้ว่าจะไปโรงพยาบาลด้วยอาการที่ไม่เกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม และดูเหมือนเป็นอาการติดเชื้อที่ไม่เกี่ยวข้องก็ตาม” คุณแจนเบ็คกล่าวเสริม

เกี่ยวกับการประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์

การประชุมนานาชาติของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (AAIC) เป็นการประชุมเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของสมาคมโรคอัลไซเมอร์ โดยนักวิจัยจากทั่วโลกจะมารวมตัวกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับโรคสมองเสื่อม รวมถึงให้การสนับสนุนชุมชนนักวิจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

- โฮมเพจของ AAIC 2020: www.alz.org/aaic/

- ห้องข่าวของ AAIC 2020: www.alz.org/aaic/pressroom.asp

- แฮชแท็ก AAIC 2020: #AAIC20

เกี่ยวกับสมาคมโรคอัลไซเมอร์

สมาคมโรคอัลไซเมอร์เป็นองค์กรอาสาสมัครด้านสุขภาพชั้นนำของโลก ซึ่งอุทิศตนให้กับการดูแลรักษา การสนับสนุน และการวิจัยโรคอัลไซเมอร์ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการกำจัดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมให้หมดไป ด้วยการสนับสนุนการวิจัยระดับโลก การลดความเสี่ยงของการเกิดโรค การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษา สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ alz.org หรือโทร. 800.272.3900

อ้างอิง

- Albert Amran, et al. Influenza Vaccination is associated with a reduced incidence of Alzheimer's Disease (Funder(s): U.S. National Institutes of Health, Christopher Sarofim Family Professorship, the CPRIT RR180012, UT Stars award)

- Svetlana Ukraintseva, PhD, et al. Repurposing of existing vaccines for personalized prevention of Alzheimer's disease: Vaccination against pneumonia may reduce AD risk depending on genotype (Funded by U.S. National Institute on Aging)

- Janet Janbek, MSc, et al. Increased short- and long-term mortality following infections in dementia: A prospective nationwide and registry-based cohort study (Funder(s): )

โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/1219566/AAIC_2020_Logo.jpg

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้