งานสัมมนาเวทีสาธารณะ “ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์: เสียงจากประชาชน”

พุธ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๐๐๘ ๑๗:๒๘
วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค

เมื่อวันพุธที่ 12 พฤศจิกายน 2551 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนาเวทีสาธารณะภายใต้หัวข้อ “ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์: เสียงจากประชาชน” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงทัศนะ รับฟังข้อเสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับตัวแทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชน พร้อมทั้งเสนอมาตรการป้องกันหรือรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าได้อย่างเหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงนโยบายการเปิดเสรีการค้าของกรมเจรจาฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม

งานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยชี้แจงให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (ASEAN-CER) เพิ่มเติมจากความตกลงทวิภาคีไทย-ออสเตรเลียและไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนสำหรับไทย แต่ในขณะเดียวกัน เนื่องจากรวมอีก 9 ประเทศในอาเซียนไว้ด้วย ข้อตกลงดังกล่าวย่อมนำไปสู่ความท้าทายในบางอุตสาหกรรมที่ไทยแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของความตกลงและนำไปใช้ปรับตัวให้ได้อย่างเหมาะสม

หลังจากนั้น ดร. ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์: จากแดนตะวันตกสู่โลกตะวันออก” โดยบรรยายถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจของสองประเทศดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าจะมีประชากรเพียงร้อยละ 0.4 ของโลก แต่กลับมีขนาดเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 2 หรือเทียบเท่ากับอาเซียน 10 ประเทศ จุดเด่นของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์คือการเป็นเศรษฐกิจเสรีที่มีการเปิดตลาดสูง หรือกล่าวได้ว่าสนับสนุนการเปิดเสรีการค้าทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง ต่างจากประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆที่มักปกป้องภาคเกษตร ทั้งนี้ เป็นเพราะสองประเทศดังกล่าวมีขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคเกษตร สินแร่ และพลังงาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการเปิดเสรีในกรอบพหุภาคีชะงักงัน ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์จึงหันมาเจรจาในกรอบภูมิภาคและทวิภาคีกับอาเซียน โดยได้ทำความตกลงทวิภาคีไปแล้วกับหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ และบรูไน แต่ความตกลง ASEAN-CER จะรวม 12 ประเทศไว้ด้วยกัน อันจะเป็นบันไดขั้นสำคัญไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

จากนั้น ในช่วงสภากาแฟ “กรองสถานการณ์: การบ้านหลังการเจรจา” คุณวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ที่ปรึกษาการพาณิชย์และหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยกล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงไทย-ออสเตรเลียและไทย-นิวซีแลนด์ค่อนข้างมาก จึงมั่นใจว่าความตกลง ASEAN-CER จะยิ่งกระตุ้นให้ผู้ผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยแข่งขันได้ดี เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ พลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า ตื่นตัวในการเจาะตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพราะสามารถใช้กฎแหล่งกำเนิดสะสมได้ ส่วนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ซึ่งก็คือเกษตรกรโคเนื้อ-โคนม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกองทุนช่วยเหลือในการปรับตัวอยู่แล้ว

ในขณะเดียวกัน ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้กล่าวสนับสนุนว่า ความตกลง ASEAN-CER ไม่น่าจะมีผลกระทบเชิงลบ-เชิงบวกมากนัก เพราะจากการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) พบว่าทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.03 เปรียบเทียบกับร้อยละ 1-2 ในกรณีของญี่ปุ่น โดยดร. วิศาล บุปผเวส อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ได้กล่าวเสริมว่า เมื่อการค้าเสรีทำให้ตลาดใหญ่ขึ้น โอกาสอาจเป็นของผู้ผลิตรายใหญ่ ในขณะที่รายย่อยปรับตัวหรือยกระดับมาตรฐานสินค้าให้ตรงกับเงื่อนไขของแต่ละตลาดได้ไม่ทัน ดังนั้น การบ้านหลังการเจรจาก็คือการติดตามว่า หลังความตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว มีผู้ใช้ประโยชน์มากน้อยเพียงใด และผู้ได้รับผลกระทบเป็นใครบ้าง เช่นเดียวกับคุณวีรชัย วงศ์บุญสิน ประธานคณะติดตามผลกระทบจากเอฟทีเอ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่าน่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเข้ามาดูแลคนกลุ่มนี้โดยตรง

ในช่วงเสวนา “รู้ลึก รุกล้ำ … นำตลาดออสซี่-กีวี่” ตัวแทนภาคเอกชนถึง 4 รายร่วมกันชี้ช่องทางการค้าการลงทุนในออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ว่ามีปัญหา อุปสรรค หรือเงื่อนไขของความสำเร็จอย่างไร โดยคุณปราโมทย์ พงษ์ทอง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกล่าวว่าสองประเทศดังกล่าวถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของไทย และมีจีน ไต้หวัน และอินเดียเป็นคู่แข่งหลัก จึงไม่กังวลว่าจะเสียส่วนแบ่งตลาดให้ประเทศอาเซียนอื่นเท่าใดนัก ทั้งนี้ ไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและชุดแต่งรถ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอย่างมาก โดยแผนงานในอนาคตคือการลดต้นทุนและจัดตั้งศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนเพื่อรับรองมาตรฐานสากลและสร้างศักยภาพการแข่งขันในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม คุณปราโมทย์ยอมรับว่าตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมเข้มข้น อันเป็นอุปสรรคหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการไทย สอดคล้องกับความเห็นของคุณสมศักดิ์ จิตติพลังศรี ประธานกรรมการบริหารบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดที่ว่า สองตลาดนี้น่าสนใจแต่เน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน เครื่องปรับอากาศของตนที่ทำความเย็นจากน้ำ อันเป็นทรัพยากรที่ออสเตรเลียขาดแคลนและมีราคาแพง จึงไม่สามารถเจาะตลาดดังกล่าวได้ แต่หากสามารถพัฒนาสินค้าประหยัดไฟ ก็จะสามารถแข่งขันในตลาดออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ได้อย่างยั่งยืน การรวมตัวกันของผู้ร่วมค้าหรือเครือข่ายซับพลายเออร์จึงมีความสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งหรือนวัตกรรมใหม่ๆที่จักนำไปสู่ความยั่งยืนทางธุรกิจได้อย่างแท้จริง

ในส่วนของภาคบริการ คุณปวรวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยไปเปิดร้านอาหารไทยในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นถึง 300 แห่ง ทำให้จำนวนทั้งหมดเพิ่มเป็น 1,500 แห่ง แต่ขาดความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลียกับผู้ผลิตอาหารในประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่ซื้อวัตถุดิบจากร้านของชาวเวียดนามที่มีราคาถูกกว่า รัฐบาลจึงควรผลักดัน “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งในขั้นแรก ควร ปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบรวมทั้งร้านภายในประเทศให้ได้มาตรฐานก่อน เพราะหากปรับให้เป็นสากลได้ ก็จะสามารถไปเปิดร้านอาหารได้ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความต้องการอาหารไทยในออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตรงกับความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนครศรีธรรมราชท่านหนึ่ง ที่อยากทราบช่องทางป้อนวัตถุดิบให้กับร้านอาหารไทยในต่างประเทศ

ในอีกมุมมองหนึ่ง คุณอดุลย์ วังตาล นายกสมาคมโฮสไตล์ฟีเชี่ยน มองว่าในสาขาปศุสัตว์ ไทยแข่งขันกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ไม่ได้เลย และนำเข้านมจากสองประเทศนี้ถึงครึ่งหนึ่งของการบริโภคในประเทศ ที่ผ่านมา ความช่วยเหลือจากกระทรวงพาณิชย์ก็มีอยู่จำกัด จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีบทบาทชัดเจนมากกว่านี้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากฝ่ายประชาสมพันธ์งานสัมมนาฯ

คุณปิยะนันท์ 02-704-7958 ต่อ 202 และ 081-714-6700

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest