วว. ประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์

พุธ ๐๖ พฤษภาคม ๒๐๐๙ ๑๓:๔๐
วว. ประกาศถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่เชิงพาณิชย์ ระบุสารสกัดพลูเร่งการเจริญเติบโตสูงสุด ผลิตภัณฑ์ C.E. ป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาได้100%

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเร่งการเจริญเติบโตและป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่ หวังเพิ่มศักยภาพการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการไทย ระบุสารสกัดจากพลูมีประสิทธิภาพเร่งการเจริญเติบโตของไก่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 2,856 กรัม ผลิตภัณฑ์ C.E. ป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาได้ 80-100%

นายสุรพล วัฒนวงศ์ รักษาการผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงว่า วว. พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต “ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่” และ “การวิจัยและผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion (C.E.) เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก” ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย และให้ไก่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ในรูปแบบการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตทั้งสองผลิตภัณฑ์ หรือเพียงผลิตภัณฑ์เดียว โดยตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกอบการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก วว. นั้น จะมีนักวิจัยของโครงการให้คำแนะนำปรึกษาตลอดทั้งโครงการ

ทั้งนี้ วว. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก บริษัทสหฟาร์ม จำกัด ในการทดสอบขั้นสุดท้ายของผลิตภัณฑ์ทั้งสองกับไก่ที่อายุการเลี้ยง 49 วัน ในฟาร์มขนาดใหญ่ของบริษัทพบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ สารสกัดที่เตรียมให้อยู่ในรูปผงแห้งใช้ผสมในอาหาร และสารสกัดที่อยู่ในรูปผงแห้งใช้ละลายในน้ำดื่ม ซึ่งพัฒนาจากสมุนไพรไทย 4 ชนิด คือ ตะไคร้ แมงลัก ไพล และพลู นั้น ผลการทดสอบปรากฎว่า ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสมุนไพรพลูมีประสิทธิภาพในการเพิ่มผลการเลี้ยงในไก่เนื้อสูงสุด โดยไก่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ย 2,856 กรัม มีอัตราการแลกเนื้ออยู่ที่ 1,968 กรัม อัตราการเจริญเติบโต 58.29 กรัมต่อวัน นอกจากนั้นยังพบว่าเนื้อไก่ที่ได้มีเนื้อสัมผัสที่นุ่มกว่าไก่ที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากสารสกัดพลู

ส่วนผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion เพื่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ หรือผลิตภัณฑ์ C.E. ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเชื้อที่แยกจากไก่ตามฟาร์มที่เลี้ยงในภาคต่างๆ ของประเทศ ผลการทดสอบเมื่อไก่ได้รับผลิตภัณฑ์เพียง 1 ครั้งเท่านั้น ให้ผลการเลี้ยงดีกว่าไก่ในกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ ในเรื่องอัตราการแลกเนื้อและดัชนีการเลี้ยงโดยการประเมินผลกำไรต่อตัวที่อายุ 49 วัน พบว่า ไก่กลุ่มที่ได้รับผลิตภัณฑ์มีผลกำไรต่อตัวสูงกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์เท่ากับ 1.65 บาทต่อตัว นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์สามารถป้องกันลูกไก่ไม่ให้ติดเชื้อแซลโมแนลลาได้ตั้งแต่ 80-100% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อ Salmonella Enteritidis ได้ 100% และป้องกันการติดเชื้อ Salmonella Typhimurium ได้ 80%

“ผลการทดสอบขั้นสุดท้ายในระดับฟาร์มขนาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นสิ่งยืนยันว่าผลงานวิจัยและพัฒนาของ วว. สามารถนำไปใช้งานได้จริง และเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีกที่มีประสิทธิภาพ ” นายสุรพล วัฒนวงศ์กล่าว

ดร.ภูษิตา วรรณิสสร นักวิชาการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ในฐานะผู้ประสานงานและนักวิจัยหลักในโครงการการวิจัยและผลิตภัณฑ์ C.E. เพื่อป้องกันการติดเชื้อในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยพัฒนาทั้งสองผลิตภัณฑ์เป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานภายใต้ชุดโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อลดและป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลา (Salmonella) ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ปีก โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อลดผลกระทบต่อการส่งออกของผู้ประกอบการจากข้อกำหนดต่างๆ ของประเทศคู่ค้า โดยผู้ประกอบการจะได้ไก่เนื้อและไข่ไก่ที่มีคุณภาพทางจุลชีววิทยาตามมาตรฐาน ปราศจากการตกค้างของสารต้องห้าม มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคภายในประเทศ และเหมาะสมแก่การส่งออก

“ภายใต้โครงการวิจัยเดียวกันนี้ นอกจากความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของผลิตภัณฑ์ที่กล่าวแล้ว ยังมีการพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นเพื่อป้องกันการติดเชื้อแซลโมแนลลาในไก่เนื้อและไก่ไข่ด้วย ขณะนี้อยู่ในระหว่างทดสอบประสิทธิภาพในการคุ้มโรคต่อไก่ทดลอง ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและในระดับฟาร์มขนาดใหญ่ที่บริษัทสหฟาร์มฯ อย่างไรก็ตาม จากการทดลองโดยความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์พบว่า ไก่ที่นำมาทดสอบไม่มีอาการป่วยหรือตาย รวมทั้งไม่มีผลการเพิ่มน้ำหนักตัวของไก่ ซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ วว. จะมีการขยายผลการใช้ผลิตภัณฑ์สู่การศึกษาต่อสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นต่อไป...” หัวหน้าโครงการวิจัยกล่าว

ดร.ศิริเพ็ญ จริเกษม นักวิชาการ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการผลิตภัณฑ์สมุนไพรฆ่าเชื้อเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมุนไพรไทยที่นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ว่า การนำสมุนไพรไทยมาใช้ในการกระตุ้นการเจริญเติบโตในไก่ จะสามารถช่วยลดการใช้ยาเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตที่จะเป็นปัญหาในการกีดกันทางการค้าได้ โดยส่วนใหญ่สมุนไพรฟ้าทะลายโจรจะได้รับความนิยมนำมาใช้ในการเลี้ยงไก่มากกว่า ซึ่งมีสรรพคุณช่วยเร่งการเจริญเติบโตเช่นเดียวกับสมุนไพรที่ วว. นำมาทดสอบ คือ แมงลัก ไพล ตะไคร้ และพลู อย่างไรก็ตามจากการสกัดสารสำคัญของสมุนไพรต่างๆ โดยวิธีเฉพาะของ วว. พบว่า สารสกัดจากพลูซึ่ง วว. มีการควบคุมสารสำคัญจะมีปริมาณสารที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตได้สูงสุด และยังยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้ดี ซึ่งส่งผลให้ไก่มีสุขภาพดี แข็งแรง

ผู้สนใจเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ วว. (ดร.ภูษิตา วรรณิสสร ) โทร. 02 5779058-9 โทรสาร. 0 2577 9009 หรือที่ E-mail : [email protected] ในวันและเวลาราชการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4