สศอ.เกาะติดการใช้สิทธิ์ FTA ของไทยประหยัดภาษีฯ รวมกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท

พุธ ๐๗ กรกฎาคม ๒๐๑๐ ๑๐:๒๒
สศอ. เผยกรอบ FTA พบผู้ประกอบการตื่นตัวใช้สิทธิ FTA เพิ่มขึ้นทั้งนำเข้าและส่งออกคิดเป็นร้อยละ 52 และ 59 ตามลำดับ

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยผลการศึกษา “การใช้ประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจาก FTA ของไทย” สศอ.ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่าปัจจุบันไทยได้ลงนามทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับคู่ค้าหลายประเทศ ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยปี 2552 มูลค่าส่งออกจากไทยไปประเทศคู่ค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปทุกประเทศทั่วโลก ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าของไทยจากคู่ค้าเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 59 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด

ผลการศึกษาการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวของผู้ส่งออกไทย จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และโครงการเก็บเกี่ยวล่วงหน้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA) พบว่า ในภาพรวมส่งผลต่อการขยายตัวการค้าระหว่างกันมากขึ้นและทั้งภาคส่งออกและภาคนำเข้าไทยมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จาก FTA เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2551 สินค้าส่งออกไทยมีราคาลดลงจากการประหยัดภาษีศุลกากรได้ 85,633 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.44 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดไปยังประเทศที่มีความตกลง FTA กัน ทั้งนี้ ความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (52,381 ล้านบาท) และความตกลง JTEPA (8,479 ล้านบาท) ในขณะเดียวกัน ผู้นำเข้าไทยสามารถประหยัดภาษีศุลกากรได้ 27,230 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.94 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดจากประเทศที่มีความตกลง FTA กัน โดยความตกลงที่ทำให้เกิดการประหยัดภาษีศุลกากรมากที่สุดคือ ความตกลง AFTA (18,177 ล้านบาท) และความตกลง ACFTA (7,539 ล้านบาท)

เมื่อพิจารณาในรายสาขาอุตสาหกรรม พบว่า ผู้นำเข้าไทยส่วนใหญ่เกือบทุกสาขามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับต่ำจนถึงปานกลาง ยกเว้นเพียงอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก AFTA ACFTA TAFTA และ TIFTA ในระดับสูง ตัวอย่างสาขาอุตสาหกรรมหลักที่มีอัตราการใช้ประโยชน์ในระดับต่ำ เช่น เคมีภัณฑ์และชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ JTEPA เครื่องหนังและรองเท้าภายใต้ ACFTA อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักรกล ภายใต้ ACFTA และ JTEPA ในด้านภาคส่งออกไทย

ผู้ประกอบการไทยหลายสาขามีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA หลายฉบับในระดับปานกลางจนถึงสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอีกบางสาขาที่ยังใช้ประโยชน์จาก FTA ไม่เต็มที่ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอภายใต้ ACFTA และ AFTA อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้ JTEPA และ ACFTA อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลภายใต้ ACFTA และ TAFTA อุตสาหกรรมเหล็กภายใต้ AFTA เป็นต้น

เมื่อพิจารณาในรายสินค้าพบว่า สินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยบางรายการยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก FTA ได้ เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1) ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการเจรจา FTA เช่น สินค้าอยู่นอกรายการลดภาษีหรื ออยู่ในรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหว สินค้าที่ได้รับสิทธิแต่ถูกจำกัดโควต้า สินค้าได้รับแต้มต่อด้านภาษีศุลกากรไม่จูงใจพอเมื่อเทียบกับต้นทุนในการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ภายใต้ FTA และสินค้าไม่สามารถปฎิบัติได้ว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า 2) ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากการดำเนินการตาม FTA เช่น ผู้ประกอบการขาดความตระหนักถึงประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีภายใต้ FTA และกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ผู้ประกอบการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขอใช้ประโยชน์ การตีความพิกัดศุลกากรของสินค้าแตกต่างกัน เวลาในการเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องนานเกินไปและไม่สอดคล้องกัน การไม่ยอมรับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า(C/O) ที่ออกโดยประเทศที่สามกรณีความตกลง ACFTA และ TIFTA และ 3) ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการยังแข่งขันด้านราคาสู้กับคู่แข่ง เช่น จีนและเวียดนามไม่ได้แม้จะได้รับแต้มต่อจาก FTA แล้วก็ตาม ตลอดจนยังมีมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญในหลายอุตสาหกรรม

จากการประมาณการพบว่า หากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้รับการแก้ไข ผลประโยชน์ที่ภาคเอกชนไทยจะได้รับจาก FTA จะเพิ่มสูงขึ้นได้อีกมาก โดยหากทำให้อัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงขึ้นเต็มร้อยละ 100 โดยที่ยังไม่ได้เจรจาเพื่อขยายความครอบคลุมและแต้มต่อ ประโยชน์ที่สินค้าส่งออกไทยจะได้รับจากการประหยัดภาษีศุลกากรจะเพิ่มจากประมาณ 68,704 ล้านบาทเป็นประมาณ 136,951 ล้านบาท ในขณะที่ประโยชน์ที่ผู้นำเข้าไทยจะได้รับจะเพิ่มจากประมาณ 33,250 ล้านบาท เป็นประมาณ 83,920 ล้านบาท ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วอย่างสูงสุด

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest