ปภ.แนะผู้สูงอายุขับรถอย่างปลอดภัย

ศุกร์ ๐๓ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๔:๓๓
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวให้หลีกเลี่ยง การขับรถตามลำพัง เพราะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง และหากประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 9 เท่า พร้อมแนะให้ตรวจสอบสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนเดินทาง ถ้ามีปัญหาทางสายตา ให้เลี่ยงการขับรถในช่วงโพล้เพล้ เวลากลางคืนและช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี ส่วนผู้สูงอายุที่มีปัญหากำลังกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ควรขับรถในระยะทางไกลเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถและความรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนน้อยกว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากขับรถช้ากว่าและมีประสบการณ์ในการขับรถมายาวนาน แต่ด้วยสภาพร่างกายของผู้สูงอายุที่ไม่แข็งแรง และมีโรคประจำตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 9 เท่า เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนให้ผู้สูงอายุเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนขับรถ โดยปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการมองเห็น กำลังกล้ามเนื้อแขน ขา การตอบสนองของระบบประสาท รวมถึงกระดูกข้อต่อต่างๆ หากมีโรคประจำตัว ให้หลีกเลี่ยงการขับรถตามลำพัง หากจำเป็นให้นำยารักษาโรค บัตรบันทึกประวัติของโรค และบัตรประจำตัวผู้ป่วยติดตัวมาด้วยเสมอ เพราะอาจเกิดอันตรายในขณะขับขี่ได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว 8 โรคเสี่ยง ดังนี้ โรคเกี่ยวกับสายตา เช่น จอประสาทตาเสื่อม ให้หลีกเลี่ยงการขับรถในช่วงโพล้เพล้หรือตอนกลางคืน ส่วนผู้ที่เป็นต้อหิน จะมีลานสายตาแคบ มองเห็นเส้นทางด้านข้างไม่ชัดเจน และเห็นแสงไฟพร่ามัว ไม่ควรขับรถในช่วงที่ทัศนวิสัยไม่ดี เพราะจะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางลดลง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง โรคข้อเสื่อม ไม่ควรขับรถระยะทางไกลเป็นเวลานาน หรือในช่วงที่การจราจรติดขัด เพราะจะอ่อนเพลียง่าย ไม่มีแรงเหยียบเบรค หรือคันเร่ง รวมถึงขาดกำลังแขนในการบังคับพวงมาลัย และเปลี่ยนเกียร์ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถและความรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โรคสมองเสื่อม อาจมีอาการหลงลืมเส้นทาง ทำให้หลงทาง รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง โรคอัมพฤกษ์ ทำให้แขนขาไม่มีแรงเหยียบคันเร่ง เหยียบเบรค และเปลี่ยนเกียร์ โรคพาร์กินสัน มีอาการมือเท้าสั่น และเกร็ง จึงขับรถได้ไม่ดีนัก โรคลมชัก อาจะมีอาการกระตุก โดยไม่รู้ตัว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในขณะขับขี่สูง โรคหัวใจ หากต้องขับรถในช่วงการจราจรติดขัด จะทำให้เกิดอาการเครียดจนโรคกำเริบมากขึ้น โรคเบาหวาน ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำ จะหน้ามืด สายตาพร่ามัว และหมดสติ ทำให้เกิดอันตรายได้ ที่สำคัญ ผู้สูงอายุควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะแรงกระแทกเพียงเล็กน้อย อาจทำให้กระดูกแตกหักได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรหาเพื่อนร่วมทางในขณะขับรถ จะได้ช่วยกันดูเส้นทาง สัญญาณไฟจราจรและสภาพแวดล้อมโดยรอบ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4