หนุน “ดีเจชุมชน” สร้าง “สังคมฐานความรู้วิทย์”

ศุกร์ ๐๓ กันยายน ๒๐๑๐ ๑๑:๒๗
หลายครั้งที่เสียงใสๆ ของดีเจทางคลื่นวิทยุ ได้นำพาสาระและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ มาอัพเดทให้เราได้รู้ทุกที่ทุกเวลา แต่ก็หลายคราที่ความรู้เหล่านั้นอาจถูกหยิบยกมาอธิบายได้ไม่หมด เนื่องด้วยวิทยาศาสตร์อาจเป็นความรู้ที่ต้องอาศัยความเข้าใจ และยากที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นถ้อยคำที่เข้าใจง่ายแก่ผู้ฟัง

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จึงได้ชักชวนนักจัดรายการวิทยุชุมชนกว่า 40 คน จากทั่วประเทศ มาเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน” ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 24-25 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเติมเต็มประสบการณ์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ สร้างเครือข่ายการสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงรู้จักการใช้เครื่องมือและเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยให้การสื่อสารวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงผู้ฟังมากยิ่งขึ้น

นาย จุมพล เหมะคีรินทร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่อธิบายถึงองค์ความรู้และกฎเกณฑ์ต่างๆ ของธรรมชาติ รวมถึงการคิดวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีเหตุและผล ดังนั้นหากนักจัดรายการวิทยุชุมชน ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับประชาชนในวงกว้าง มีความรู้และมีทักษะในการเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ ก็จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และช่วยสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์

โดยในการอบรมครั้งนี้ นักจัดรายการวิทยุชุมชนจะได้พบปะกับบรรดานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชั้นนำของเมืองไทยที่พร้อมใจกันมาถ่ายทอดกลยุทธ์และประสบการณ์มากมาย อาทิ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ได้มาแนะนำเทคนิคต่างๆ ว่า สื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างไรให้สนุก ขณะที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ มาถ่ายทอดเรื่องราวการต่อสู้และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์สังคมไทยสู่สังคมฐานความรู้วิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังมีการหยิบยกประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมมาสรุปเป็นองค์ความรู้ง่ายๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกับภาวะโลกร้อน โดย ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นต้น พร้อมกันนี้ ดร.อัจฉริยา อักษรอินทร์ ยังได้มาแนะนำแหล่งสืบค้นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคม ทั้งไฮไฟว์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และยูทูป เพื่อเป็นช่องทางใหม่ๆ ในการสื่อสารกับผู้ฟังมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภายหลังการอบรม นักจัดรายการวิทยุชุมชนจะต้องนำความรู้ที่ได้มาทดลองจัดรายการวิทยาศาสตร์สดๆ กันบนเวทีเลยทีเดียว

นายคณาโชค ตามกิจเจริญ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุ 2 แห่งในกรุงเทพ และเลขาเครือข่ายวิทยุทีวีเสรี กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถือว่าเปิดโลกทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับจากระดับปรมาจารย์ก็ว่าได้ อย่างเช่น เรื่องของภาวะโลกร้อน ขณะนี้ในหลายประเทศกำลังมีความร่วมมือในเรื่องของการซื้อขาย คาร์บอนเครดิต ซึ่งแต่ละประเทศจะใช้คำนวณเพื่อนำไปใช้เป็นตัวบอกว่าประเทศนั้นๆ ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่ ซึ่งเมื่อเข้าใจเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้น ก็นำมาแปลความหมายง่ายๆและสื่อสารให้ชุมชนรับรู้ นอกจากนี้ เดิมเราอาจคิดว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่ดีคือรู้จักใช้คำที่เข้าใจง่ายก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงยังต้องอาศัยการเปรียบเทียบ หรือการสร้างกิจกรรมให้เขามีส่วนร่วมในค้นหาความรู้นั้นๆ ด้วย

“ต่อจากนี้เราไม่ต้องไปนั่งเทียนพูดอีกต่อไปแล้ว ความรู้พื้นฐานตรงนี้ทำให้เราเข้าใจ รวมทั้งการได้มาพบปะนักวิจัยอย่างใกล้ชิดก็ทำให้เรามีเครือข่าย เข้าถึงแหล่งข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้เรานำความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้มากขึ้น และสิ่งสำคัญที่ได้ติดตัวกลับไป คือหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งนักจัดรายการวิทยุจะต้องสร้างความตระหนักในด้านนี้ให้กับชุมชนและสังคมไทย เปลี่ยนการเชื่อตามสิ่งที่ “เขาว่า” ให้ได้ เพราะหลายครั้งที่ชาวบ้านเลือกที่จะเชื่อไปก่อน ส่วนการพิสูจน์มาทีหลัง ฉะนั้นความคิดอย่างเป็นเหตุและผลนี่แหละ ที่นักจัดรายการวิทยุจะต้องช่วยกันสื่อสารและเปลี่ยนแนวคิดของชาวบ้านให้มากขึ้น”

ด้าน นางดาราพร มะอะอุ นักจัดรายการวิทยุสายสัมพันธ์ เรดิโอ จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การอบรมเติมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับนักรายการครั้งนี้ถือว่าได้ประโยชน์มากๆ เพราะส่วนตัวถือว่าช่วยให้เราเข้าใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งเรื่องสาเหตุของภาวะโลกร้อน การสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เป็นต้น

“ชาวไร่ชาวนาไม่รู้หรอกว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร แต่สำหรับนักจัดการการวิทยุถือว่าเป็นสื่อบุคคลที่ต้องเรียนรู้ให้ความสำคัญ เพราะหลายครั้งที่ความรู้และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์สามารถนำไปปรับใช้และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น เมื่อเราได้ข้อมูลว่าพืชบางชนิดที่มีอยู่ในท้องถิ่นสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำยาล้างจาน พอมาเล่าในรายการ ชาวบ้านเขาได้ยินได้ฟัง ก็เริ่มสนใจติดต่อขอข้อมูลไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง ฉะนั้นวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว การมาอบรมครั้งนี้จึงเหมือนให้โอกาสเราได้มาเรียนลัด ได้มารู้ มาเห็น จากนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ