“คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาที่ปรึกษาฯ

พฤหัส ๑๓ มกราคม ๒๐๑๑ ๑๔:๕๙
“คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความเห็นกับสภาที่ปรึกษาฯแนะกำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศโดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาร่วมในการพัฒนา”

เมื่อวานนี้ (12 ม.ค.54) คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา เข้าเยี่ยมเยือนและพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ โดยมี นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ

โดยการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมีภารกิจในการพิจารณาศึกษาติดตาม ตรวจสอบเพื่อการส่งเสริมและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและคมนาคม ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบนโยบายและแนวทางการส่งเสริม สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ในการดำเนินงานตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ ในการส่งเสริมเร่งรัด ผลักดันการพัฒนาการเทคโนโลยีสารสนเทศโดยรวมของประเทศ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ อันส่งผลต่อความเข้มแข็งของประเทศชาติในยุคโลกาภิวัฒน์

ในโอกาสนี้ นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) พร้อมด้วย นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ และเลขาธิการสภาที่ปรึกษาฯ ได้กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีที่คณะกรรมาธิการ เล็งเห็นความสำคัญต่อการทำหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาฯ และร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับการทำงานของสภาที่ปรึกษาฯ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมาธิการ ในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาประเทศ

นายอนันต์ วรธิติพงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา กล่าวว่า สืบเนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ในเรื่องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งก็ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง และได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งการหารือร่วมกับสภาที่ปรึกษาฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่ให้ความในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้สิ่งที่อยากจะนำเสนอ เพื่อเป็นประเด็นในการทำงานร่วมกัน คือ เสนอให้สภาที่ปรึกษาฯ กำหนดแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ โดยให้ยึดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ที่จะต้องปรับแผนอื่นๆ ให้สอดคล้องกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยทำการศึกษาว่า เทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาชาติได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เกิดการบรรจุเข้าไปในแผนของชาติ และพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้ โดยเฉพาะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่อยู่ระหว่างการร่างแผน ซึ่งอยากให้สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาเรื่องนี้ บรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาฯ ดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ได้มีการแสดงความเห็นจากคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, คณะทำงานโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคมและพลังงาน, คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว และคณะทำงานสื่อสารกับสังคม ดังนี้

- เนื่องจากยังไม่มีการจัดทำแผนแม่บท (Master plane) ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นแผนในระยะ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี จึงจำเป็นต้องจัดทำขึ้น ทั้งแผนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงแผนการพัฒนาพลังงานในประเทศด้วย

- ในต่างประเทศมีการใช้แผนข้อมูลพื้นฐานภูมิสารสนเทศ มาเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาประเทศด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่ในประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร หากมีการเตรียมทำแผนข้อมูลพื้นฐานภูมิสารสนเทศ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านภูมิประเทศ ด้านการคมนาคม ด้านการเกษตร ก็จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก

- การใช้ประโยชน์จากดาวเทียมคีออส ยังน้อยเกินไป ทั้งที่สามารถตรวจสอบสภาพภูมิสารสนเทศของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

- การทำแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ นั้น ในบางครั้งเป็นการทำแผนเฉพาะแต่ละรัฐบาล แต่ละกระทรวง เมื่อมีการปรับเปลี่ยนการบริหารงาน ก็ไม่มีใครนำมาสานต่อโครงการ ทำให้แผนงานสะดุดและขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน เนื่องจากมองว่า อาจเป็นการคัดลอกนโยบายมาทำต่อ

- การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในประเทศไทยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลมีประโยชน์ แต่ยังขาดการพัฒนาให้เป็นรูปธรรมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย อีกทั้งในเรื่องสิทธิทางปัญญา ในการคุ้มครองผู้พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ มีความล่าช้า จึงทำให้ผู้ประกอบการเสียโอกาสในการแข่งขัน

- การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ในด้านการแข่งขันในประเทศไทยยังไม่เป็นเชิงรุก แต่เป็นแบบเชิงรับมากกว่า และยังตามต่างประเทศอยู่ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ

- การแข่งขันในขณะนี้ แข่งกันที่เวลาและความสามารถ ในปัจจุบันมีเพียงเทคโนโลยีสารสนเทศเท่านั้น ที่จะทำให้ประเทศสามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้

- การขับเคลื่อนแผนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาประเทศนั้น ในระยะแรกอาจยังไม่ทันต่อการบรรจุไปในแผนของชาติ สภาที่ปรึกษาฯ คงต้องมีการกำหนดแนวทางศึกษา เพื่อให้มีความสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ด้านนายอนันต์ วรธิติพงษ์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องจากสภาที่ปรึกษาฯ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนพิจารณาประกาศใช้ หากมีการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทย ก็จะส่งผลดีต่อประเทศในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวแสดงความขอบคุณ คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา พร้อมสนับสนุนโดยจะเร่งทำการศึกษา การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาประเทศ และวางวิธีการที่จะขับเคลื่อนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา