สช.ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เสนอรัฐบาลทบทวนนโยบายพลังงานไฟฟ้าชีวมวล

อังคาร ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๑ ๑๐:๕๑
สช.ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล เสนอรัฐบาลทบทวนนโยบายพลังงานไฟฟ้าชีวมวล พบการแปลงนโยบายสู่ปฏิบัติกระทบวิถีความเป็นอยู่ชุมชน

เมื่อวานนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2554) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มูลนิธินโยบายสุขภาวะ (มนส.) และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้จัดเวที “อุดรูรั่วโรงไฟฟ้าชีวมวล” ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดยมีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกว่า 100 คน จาก จ.อุบลราชธานี จ.สุรินทร์ จ.เชียงราย จ.ลำพูน จ.ตาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชัยภูมิ เข้าร่วมประชุมเพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายพลังงานไฟฟ้าชีวมวล

นางสาวสดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล กล่าวว่า พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ได้จากวัสดุทางการเกษตร และส่วนต่างๆ ของพืช เช่น กิ่งไม้ แกลบ ชานอ้อย เป็นต้น ซึ่งเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจมากกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติหรือเขื่อน โดยหลักการแล้วโรงไฟฟ้าชีวมวลจะไม่ก่อมลภาวะหรือน้ำเสียปนเปื้อนสารเคมีอันตราย อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาโลกร้อน หรือปัญหาการรเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่เมื่อแปลงนโยบายนี้สู่การปฏิบัติพบว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลลได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชุมชนในหลายพื้นที่ เช่น ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันเปิดทดลองเดินเครื่องพบปัญหาฝุ่นละอองปกคลุมพื้นที่ และพบปัญหาการปลอมแปลงเอกสารในกระบวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่บ้านหนองปลาขอ ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ปัจจุบันเปิดทดลองเครื่องแล้วทำให้เกิดฝุ่นละอองในชุมชน และเนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้หัวไร่ปลายนาเพื่อขายให้โรงงานเพราะไม้โตเร็วที่โรงงานปลูกไว้นั้นโตไม่ทัน นอกจากนี้โรงงานยังดึงน้ำจากแม่น้ำพวงมาใช้ ทำให้กระทบต่อการใช้น้ำของครัวเรือนที่อยู่บริเวณโดยรอบด้วย

ในขณะที่ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย ได้มีการจัดเวทีประชาคมเพื่อขอความเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ประชาชนร้อยละ 90 ไม่เห็นด้วย และไม่ยินยอมให้สร้างโรงไฟฟ้า ปัจจุบันจึงเกิดความขัดแย้งในพื้นที่และอาจเกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านผู้คัดค้านกับทางโรงไฟฟ้า ส่วนที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก มีการสร้างโรงไฟฟ้าไปแล้วร้อยละ 30 โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้เดิมได้รับการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์แต่ภายหลังกลับเป็นการอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล หลังจากนั้นได้มีการเปิดเวทีประชาคมขอความเห็น โดยพาชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปดูงานที่จังหวัดสุรินทร์ก่อนเปิดเวทีรับฟังความเห็นแต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ข้อมูลจากผู้ที่ไปดูงาน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันยื่นเรื่องขอระงับไว้

ด้านนายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ซึ่งเป็นผู้ประเมินผลกระทบด้านสุขภาพร่วมกับนักวิจัยชุมชน กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิต 9.0 เมกกะวัตต์ ที่บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี พบว่าโครงการนี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของชุมชน ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ผลผลิตที่สำคัญ ได้แก่ มะม่วงหิมพาน ข้าว ปอ และมันสำปะหลัง ซึ่งรายได้รวมประมาณ 32 ล้านบาท ต่อปี ด้านการเลี้ยงสัตว์มีการเลี้ยงไก่ไข่ 39 โรงเรือน วัว ควาย รวมรายได้ 260 ล้าน คิดเป็นรายได้รวมประมาณ 292 ล้านบาทต่อปี มีการจ้างแรงงานในชุมชน 348 คน นอกจากนี้ยังมีเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้นับเป็นตัวเงิน คือ การจับสัตว์ตามธรรมชาติตลอดปี ได้แก่ แมลง ไข่มดแดง ปู ปลา หอย กบ หนู หากได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าทั้งจากฝุ่นละออง การใช้น้ำและเสียง คิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผลผลิตลดลง 5 เปอร์เซ็น หรือรายได้รวมลดลง 14.6 บ้านบาท ต่อปี และกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือ กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่จำนวน 39 โรงเรือน มีขนาด 5,000- 22,000 ตัว หากมีผลกระทบบริษัทที่ส่งไก่จะไม่ส่งไก่ให้ชาวบ้านเลี้ยง ทำให้ไม่มีอาชีพและเป็นหนี้ ธกส. ราว 70 ล้านบาท

นางสาวสมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านนสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.เป็นผู้สนับสนุนให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพกรณีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลของบริษัทบัวสมหมายไบโอแมส จำกัด เนื่องจากประชาชนพื้นที่ดังกล่าวได้ทำจดหมายขอใช้สิทธิ์ตาม ม.11 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 นอกจากกรณีนี้แล้วยังมีชาวบ้านที่ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย ก็ได้ยื่นขอใช้สิทธิ์ตามมาตราดังกล่าวเช่น ซึ่ง สช.จะมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินงานดังกล่าวต่อไป

“การที่รัฐบาลสนับสนุนนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวล นับว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตามการดำเนินงานตามนโยบายนี้ยังมีช่องว่างอยู่หลายประการ อาทิ โรงไฟฟ้าชีวมวลส่วนใหญ่ไม่ต้องทำอีไอเอ เนื่องจากมีกำลังการผลิตต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ มีสถานที่ตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ชุมชนขาดโอกาสการเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีส่วนร่วมในการพิจารณาโครงการน้อย ขาดแนวทางหรือมาตรการในการพิจารณาให้ใบอนุญาตอย่างรอบคอบ รอบด้าน โดยเฉพาะมิติผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำให้เกิดการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโครงการอย่างกว้างขวาง ดังนั้น สช. จึงจะสนับสนุนให้มีการทำเอชไอเอ ในระดับนโยบายเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาข้อเสนอทางเลือกในการปรับปรุงการดำเนินงานตามนโยบายโรงไฟฟ้าชีวมวลให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของประชาชนมากที่สุด” นางสาวสมพร กล่าว

ประสานงาน : งานสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

- พลินี เสริมสินสิริ (แตงโม) 02-590-2307

- ขนิษฐา แซ่เอี้ยว (อ้อ) 02-590-2478

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital