รมว.ทส.ชี้แก้ปัญหากัดเซาะต้องแก้เรื่องกระแสน้ำในอ่าวไทย จับมือนานาชาติบูรณาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

พฤหัส ๒๘ เมษายน ๒๐๑๑ ๑๖:๑๕
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับ United Nations Environment Programme/Coordinating Body on the Seas of East Asia (UNEP/COBSEA) เปิดเวทีระดมสมอง จัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ในระหว่างวันที่ 27 — 29 เมษายน 2554 เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกับนานาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งได้มีพิธีเปิดการสัมมนาในวันที่ 28 เมษายน 2554 โดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ร่วมด้วย Dr.Hak-So Kim ประธานสถาบันทางทะเล สาธารณรัฐเกาหลี และ Dr.Young-Woo Park ผู้แทนจากโครงการสิ่งแวดล้อม แห่งสหประชาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัญหาการเพิ่มระดับน้ำของมหาสมุทรนับว่าเป็นปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน สาเหตุมาจากที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้น แต่สาเหตุสำคัญของปัญหานี้ก็คือมนุษย์ เพราะการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่ถูกวิธีส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทำให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อน ส่งผลไปถึงการเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการชะล้างหน้าดิน แล้วผลลัพธ์ทั้งหมดก็ส่งผลมาถึงมนุษย์อีกที ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ประชาชนและการทำประมงชายฝั่งก็ได้รับผลกระทบนี้ด้วย รวมถึงการท่องเที่ยวเพราะชายหาดที่เคยสวยงานก็ถูกกัดเซาะออกไป เป็นปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย

จากปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น จึงทำให้ต้องมีการสัมมนาขึ้นมาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ในการสัมมนาครั้งนี้ เพื่อจะได้มองเห็นว่าในแต่ละประเทศนั้นมีการแก้ไขปัญหาในเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งและเรื่องของการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกัดเซาะชายฝั่ง รวมทั้งเรื่องของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำในมหาสมุทร แล้วก็นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์กับสภาพปัญหาของประเทศไทย ว่าได้มีการดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง และควรจะดำเนินการในเรื่องใดต่อไป

รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่เราแก้จุดหนึ่งแล้วก็จะส่งผลกระทบไปอีกจุดหนึ่ง และจากที่ผ่านมานั้นเราได้แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในหลายพื้นที่ แต่สิ่งที่ได้จากศึกษามาคือสิ่งก่อสร้างที่ยื่นลงไปในทะเลนั้นได้ส่งผลกระทบมากมายต่อระบบนิเวศ และการเกิดการไหลเวียนของตะกอนทราย ซึ่งปัญหาเหล่านี้เราจะต้องแก้ไขแบบไม่รู้จักจบสิ้น

ดังนั้นหากการพัฒนาในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ไม่มีระบบ ไม่มีการศึกษาจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ก็จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ขณะนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ทำ EIA ในเรื่องของผลกระทบดังกล่าว แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นการทำ EIA เฉพาะที่โดยถ้าไม่ดูในเรื่องของกระแสน้ำในอ่าวไทยซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดผลกระทบด้วย ถึงแม้จะมีการทำ EIA เฉพาะที่ก็อาจจะไม่สามารถครอบคุลุมทุกพื้นที่ ปัญหาแบบยั่งยืนอาจจะช่วยในเรื่องการลดผลกระทบบ้าง แต่ในระยะยาว ถ้าเรายังไม่ดูแลในเรื่องของกระแสน้ำในอ่าวไทย มันก็จะเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น อย่างเช่นตัวอย่างที่แหลมตะลุมพุกที่ได้ก็มีการเรียกร้องที่จะอพยพโยกย้ายออกมาจากพื้นที่ซึ่งต้องการให้ทางรัฐบาลจัดการแก้ไขให้

“การปักไม้ไผ่เพื่อการแก้ไขปัญหาก็เป็นกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่งที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำในเรื่องของการปลูกป่าชายเลนเทียมที่เราไม่มุ่งเน้นการปลูกป่าชายเลนในลักษณะแบบเป็นแถวเป็นแนวมันจะทำให้เกิดการกัดเซาะอยู่ดี ฉะนั้นก็ไม่สามารถป้องกันได้และต้นไม้ที่เพิ่งปลูกก็จะล้มไปด้วย ฉะนั้นการปลูกป่าชายเลนเทียมก็คือการปลูกแบบผสมผสานกันระหว่างการปักไม้ไผ่และการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลนคือปลูกในรูปแบบธรรมชาติ คือไม่เป็นแถวเป็นแนวเพื่อที่จะทำให้ระบบนิเวศได้ฟื้นตัวขึ้นมา แต่หัวใจสำคัญคือเรื่องการใช้ที่ดินชายฝั่ง เพราะตะกอนจากปากแม่น้ำนั้นจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ผมจึงได้พูดในที่ประชุมว่าเราต้องไม่มองเฉพาะชายฝั่งแต่เราต้องมองไปยังกลางน้ำและต้นน้ำด้วย การสัมนาครั้งนี้ผมเชื่อว่าในที่ประชุมคงจะแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านมารวมกันแล้วนำมาหาคำตอบในภาพรวมเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุวิทย์ กล่าว

นายเกษมสันต์ จิณณวาสโส อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า การสัมมนาในครั้งนี้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2551 เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และมติคณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 เรื่องแนวทางการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะของประเทศ เห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการจัดประชุมทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเป็นเวทีระดมสมองและนำเสนอข้อมูลวิชาการ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการและวิธีการ ใหม่ ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

โดยในวันที่ 27 เมษายน เป็นการลงพื้นที่ไปศึกษาดูงานการดำเนินการปักไม้ไผ่เพื่อเร่งการตกตะกอนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยเหลือกล้าไม้ขนาดเล็ก ณ ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และการดำเนินการสร้างเขื่อนกันคลื่น (Breakwater) รอดักทราย (Groin) หน้าชายฝั่งอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร และเขื่อนกันทรายปากร่องน้ำ (Jetty) บริเวณปากคลองบางตราน้อย ณ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ส่วนวันที่ 28 — 29 เมษายน 2554 ทช.เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาวิชาการนานาชาติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรามา การ์เดนส์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ และการสัมมนากลุ่มย่อยจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยมีผู้เข้าประชุม ประกอบด้วย กลุ่มประเทศสมาชิก COPSEA ประกอบด้วย ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ประเทศละ 2 คน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ประมาณ 250 คน

เป้าหมายของการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระดับประเทศและนานาชาติ แลกเปลี่ยนความรู้ในการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของทั่วโลก และนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาจัดทำนโยบายและแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในสถานการณ์ต่าง ๆ สำหรับประเทศไทย และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีองค์ความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการการกัดเซาะชายฝั่ง และบริหารจัดการในแนวทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ส่วนสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550

ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210

โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4