บทความ: กฎหมายปัจจุบันกับการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า

อังคาร ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๐๙:๑๑
เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสร่วมฟังการประชุมนโยบายเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และความเหมาะสมของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดโดยสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ได้ฟังความเห็นของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท รองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแง่คิดที่น่าสนใจ จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง

ม.ล.ชาญโชติ ให้ความเห็นเรื่องนโยบายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าว่า พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ล้าสมัยและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพรบ.ฉบับนี้ ต้องการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นกฎหมายที่ออกมากำกับดูแลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ซึ่งม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้าไปกำกับผู้ประกอบการมากนัก ควรปล่อยให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันโดยเสรี แต่กฎหมายฉบับนี้กลับออกมากำกับไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งควรจะปล่อยให้แข่งขันไปตามกลไกของตลาด ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะให้ประโยชน์กับฝ่ายใดเลย แต่กลับเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต่างๆยื่นข้อร้องเรียน แล้วเรียกร้องให้รัฐเป็นกรรมการตัดสิน แทนที่รัฐจะทำหน้าที่ในการป้องกันเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์เริ่มแรกในการออกพรบ.ฉบับดังกล่าว

ม.ล.ชาญโชติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความล้าหลังของกฎหมายฉบับต่างๆ ที่กว่าจะออกมาได้แต่ละฉบับ ใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในขณะที่พัฒนาการทางธุรกิจ ตลอดจนความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้น กว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ ธุรกิจนั้นๆก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เงื่อนไขและรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญไปแล้ว ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายของประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎหมายแต่ละฉบับควรเป็นกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้ด้วย

ม.ล. ชาญโชติ มีความเห็นว่า กฎหมายในบ้านเรามีมากมายหลายฉบับที่มีความซ้ำซ้อนกัน และบางฉบับยังมีข้อกำหนดที่หักล้างกันเอง แทนที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น กลับมีผลทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

แต่กระนั้น ม.ล.ชาญโชติ ย้ำว่า ตนมิได้ไม่ต้องการให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้า แต่เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มแรก และที่สำคัญจะต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้ด้วย เพราะหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวยังล้าหลัง ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างภาคธุรกิจไทยให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย

ม.ล. ชาญโชติ ยังกล่าวถึง การเข้ามาของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย โดยเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็น ต้องมีนโยบายในการกำกับดูแลบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจแข่งขันว่า การที่บริษัทต่างชาติต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศ ก็ควรกำหนดเงื่อนไขค่าตอบแทนที่พึงจ่ายให้กับประเทศด้วย โดยรัฐสามารถออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างมากจนเกินไประหว่างบริษัทไทยกับบริษัทต่างชาติ ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องมีนโยบาย ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ตลอดจนผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ม.ล. ชาญโชติ ยังได้กล่าวถึงนโยบายการเปิดเสรีว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีจริงๆ เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายแตกต่างกันในการกำกับดูแลกรณีต่างๆ เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ก็มีกฎหมายที่ดินที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ม.ล.ชาญโชติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายยังมีความอ่อนแอมาก จึงทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือของต่างชาติ จึงจำเป็นที่จะต้อง พิจารณา สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องวางแผน วางหลักเกณฑ์ในการออกกฎหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น กรณี BOI ที่ต้องการจูงใจให้ต่างชาติที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยให้ออกไปลงทุนแข่งขันในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งในความเป็นจริง BOI ควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลางให้สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศ มากกว่ามาตรการ ลด แลก แจก แถม เพื่อชักจูงให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุน มีหลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย ยกตัวอย่าง บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อคนไทยไปปรึกษาข้อกฎหมาย ข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เป็นข้อพิพาทสำคัญๆ ก็จะกลายเป็นข้อมูลของบริษัทที่เป็นต่างประเทศดังกล่าว ดังนั้น รัฐจึงควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล เช่น การจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย จะต้องเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เป็นคนไทยเท่านั้น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ซึ่งคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ และไม่ควรกลัวต่างชาติ อาจจะยอมเสียเปรียบต่างชาติบ้าง แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และที่สำคัญ ม.ร. ชาญโชติ ย้ำว่า จะต้องไม่ยอมให้ต่างชาติเอาเปรียบตลอดเวลา และจะต้องกำหนดประเภทธุรกิจ และข้อจำกัดการประกอบธุรกิจไว้ให้เป็นของคนไทยอย่างชัดเจน

และในตอนท้าย ม.ล.ชาญโชติ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องบุคลากร ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเอาคนเป็นที่ตั้ง โดยเริ่มจากประชาชนคนไทย คือการสร้างคนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ โดยพิจารณาถึงความสามารถ ว่าคนไทยมีความสามารถในด้านใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนไทยมีความสามารถในด้านการให้บริการ ในด้านการบริหารจัดการซึ่งจะต้องพัฒนาให้คนไทยสามารถบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นทีม แต่อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน กลับไม่กล่าวถึงเศรษฐกิจภาคบริการ ทั้งๆที่ภาคบริการมีความสำคัญ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ90 ของประเทศเป็น SME ที่มีความสามารถทั้งสิ้น

ผมอยากจะฝากประเด็นแง่คิดของม.ล.ชาญโชติ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนพิจารณา เพราะธุรกิจปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ก็ควรที่จะหันมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกรอบของกฎหมายให้ทันสมัย รองรับความต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้อย่างแท้จริง

บทความ: อาจารย์รุจิระ บุนนาค

กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้