สช.เจาะประเด็น ชี้ตัวอย่างจากการดูแลผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง ย้ำต้องรวมพลังสามประสาน รัฐ วิชาการ ท้องถิ่น

จันทร์ ๓๐ มกราคม ๒๐๑๒ ๑๖:๓๘
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ไขกุญแจความสำเร็จในการริเริ่มสร้างระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุภาวะพึ่งพิง มติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ชี้คุณค่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกิดจากการสานพลังทุกภาคส่วน รุดหน้าขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ พร้อมประกาศความพร้อมสำหรับสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 วันที่ 2-4กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

วันที่ 27 มกราคม 2555 ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เวที “สช.เจาะประเด็น” หัวข้อ“คุณค่ามติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ : สุขภาวะผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง”ได้รายงานความคืบหน้าในการผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 พ.ศ.2552ชื่อมติ“การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง”ซึ่งต้องนำเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 อันเป็นไปตามที่ระบุในมติดังกล่าว

นายสุพัฒน์ ธนะพิงค์พงษ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าการทำงานแบบ ‘สมัชชาสุขภาพ’ ถือเป็นเครื่องมือใหม่ในการผลักดันนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม จากเดิมทีมักใช้วัฒนธรรมการทำงานแบบบนลงล่าง ก่อให้เกิดความไม่เข้าใจหรือไม่รู้สึกเป็นเจ้าของร่วม ทำให้นโยบายไม่ได้ผลเท่าที่ควร สมัชชาสุขภาพได้ทำหน้าที่ชักชวนภาคส่วนต่างๆ มามีส่วนร่วมในการร่างมติและผลักดันมตินั้นให้เกิดผลจริง ซึ่งในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 จะมีทั้งสิ้น 34 มติเพื่อสร้างเวทีของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกระบวนการสำคัญในการสร้างสรรค์พลังทางสังคม

“หัวใจสำคัญคือเราได้เชิญคนที่ร่างมติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และประชาชนมาร่วมทำงานด้วยกัน เมื่อได้คนที่ทั้งเข้าใจและสนใจในประเด็นดังกล่าว ก็เกิดการทำงานที่มีส่วนร่วมอย่างสมานฉันท์ กล่าวคือเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มติการพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงผมสังเกตเห็นว่า เมื่อหลายภาคส่วนได้มานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยน รายงานสถานการณ์ ก็เกิดการขอความช่วยเหลือในส่วนที่ติดขัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยกันติดตามประเมินผล นี่คือความงดงามจากการพูดคุยอย่างฉันท์มิตร ไม่ใช่การตั้งท่าตำหนิกัน

“เช่นเดียวกันกับในมติอื่นๆ ที่เราจะนำดอกผลจากการทำงานมารายงานในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เพื่อสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยน เชิดชูและชื่นชมดอกไม้แต่ละดอก ซึ่งส่งผลให้สังคมเห็นแบบอย่างของการทำงานร่วมกัน”

ด้านนายแพทย์นันทศักดิ์ ธรรมานวัตร์ ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้บอกเล่าถึงภาพรวมการขับเคลื่อนมติ“การพัฒนาระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง” ว่า ในปี 2552 สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเป็นหนึ่งในมติของสมัชชาสุขภาพ ซึ่งประจวบเหมาะกับประเด็นของสมัชชาผู้สูงอายุ จึงมีมติร่วมกันในสาระสำคัญคือ “ให้รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานหลัก” ซึ่งคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น (มีนาคม 2553) ได้มีมติให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งต่อมา กผส.ได้แต่งตั้งกลไกขับเคลื่อนโดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน โดยจัดทำแผนปฏิบัติการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (3ปี พ.ศ.2554-2556) ที่ระบุสามประเด็นหลัก มุ่งบูรณาการโดยพร้อมเพรียงทั้งระดับท้องถิ่น ส่วนกลาง การเงินและการคลัง เป็นกรอบในการดำเนินการ

“สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันเรามีผู้สูงอายุร้อยละ 12 หรือ 8 ล้านคน ในขณะที่มีอัตราการเกิดเพียง 1.5 คนต่อครอบครัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณแจ้งให้รัฐและเอกชนจำต้องสานพลังกับภาควิชาการและประชาสังคม เร่งเตรียมการวางระบบการดูแลพลเมืองกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ร.อ.หญิง ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สะท้อนถึงความก้าวหน้าในประเด็นการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงว่าเกิดการรับรู้และเข้าใจในวงวิชาการมากขึ้น ทำให้เกิดงานวิจัย ซึ่งสนับสนุนให้ประเด็นนี้ได้นำเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติและเป็นที่สนใจของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติซึ่งยังผลให้ภาครัฐตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และให้กองทุนสำหรับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเดินหน้าสู่การแก้ไขตัวบทกฎหมายเพื่อปกป้องผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น

“ปัจจุบันนี้กรมอนามัยได้นำผลการศึกษาไปใช้ในชุมชม จนเกิดการสร้างตำบลต้นแบบในการดูแลระยะยาวขึ้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้สร้างกลไกอาสาสมัครที่ดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง สภาการพยาบาลได้ร่างมาตรฐานสถานพยาบาลผู้ป่วยเรื้อรัง กระทรวงศึกษาได้พัฒนาหลักสูตรการแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ พยาบาลเฉพาะทาง และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญผู้สูงอายุ ด้านผู้ดูแลและผู้ช่วยดูแล กรมอนามัยก็ได้พัฒนาหลักสูตรเหล่านี้ออกมา กระทรวงแรงงานได้พัฒนามาตรฐานความรู้สำหรับผู้ดูแล

“อย่างไรก็ดี โครงสร้างการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงยังมีช่องว่างอยู่มาก เช่น บุคลากรไม่เพียงพอ การดูแลธำรงไว้ซึ่งบุคลากร ระบบการควบคุมดูแลสถานบริบาล ซึ่งเกี่ยวของกับกฎหมายการขึ้นทะเบียนของสถานบริบาล การบังคับใช้กฎหมาย การคัดกรองผู้สูงอายุ”

ด้านนายยอดศักดิ์ สุขโรจณี รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางสีทอง อ.บางกรวยจ.นนทบุรีพื้นที่ตำบลต้นแบบด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการทำงานเรื่องนี้ว่า ต.บางสีทองเป็นตำบาลนำร่องที่เริ่มต้นดูแลผู้สูงอายุทั่วไปตั้งแต่ 2548 เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชยย้ายถิ่นมาอยู่อาศัยมากขึ้นจนเป็นชุมชนเมือง ส่งให้มีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 1,100 คน หลังจากทำงานไปได้ระยะหนึ่งก็เล็งเห็นว่าในพื้นที่มีผู้สูงอายุติดเตียงอยู่ด้วย จึงขอความร่วมมือจากกรมอนามัย อนามัยชุมชน และโรงพยาบาลในพื้นที่มาให้การอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่อาสาสมัครและครอบครัวผู้สูงอายุ จนเกิดเครือข่ายการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาวในระดับพื้นที่ขึ้น

“นายกองค์การบริการส่วนตำบลเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาก ท่านบอกว่า ผู้สูงอายุต้องอยู่อย่างมีเกียรติ จากไปอย่างมีศักดิ์ศรี เราจึงทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หากเกิดปัญหาใดขึ้น เราจะขอให้กัลยาณมิตรมาช่วยเหลือ ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นักวิจัย นักวิชาการ”

นายยอดศักดิ์เสนอแนะต่อไปว่า เนื่องจากสภาพสังคมเมืองในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่หาอาสาสมัครได้น้อยลง หากมีระเบียบข้อบังคับเรื่องการว่าจ้างผู้ดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงในระดับตำบลชุมชนจะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างครบถ้วนและยั่งยืนมากขึ้นโดยส่งเสริมบุคลากรท้องถิ่นได้เข้าอบรมด้านการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิงโดยเฉพาะ

รูปธรรมของสมัชชาสุขภาพ 6 ประการได้แก่ เกิดการตัดสินใจระดับชาติ เช่น เป็นมติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐ เกิดการวางยุทธศาสตร์การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวของ เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลในการทำงานเชิงนโยบาย เกิดการผลักดันไปสู่กฎหมาย เปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และก่อให้เกิดหัวข้องานวิจัยในเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน

นี่คือตัวอย่างความสำเร็จเบื้องต้นของพลังขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ตอกย้ำคุณค่าสมัชชาสุขภาพที่ให้ความสำคัญกับการได้มาของมติแต่ละเรื่องที่เรียกว่า “กระบวนการประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม” โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) จะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ภายใต้แนวคิดหลัก “รับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest