หมอประเวศ เสนอ 6 แนวทางรับมือภัยพิบัติ จัดการภัยสุขภาวะ ชี้ไทยประสบภัยพิบัติขั้นวิกฤต ย้ำทุกฝ่ายร่วมมือ ชูชุมชน-ท้องถิ่นเป็นแกนกลาง

จันทร์ ๐๖ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๑:๐๒
“ราษฎรอาวุโส” เสนอ 6 แนวทางในเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เน้นจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างก้าวกระโดด ย้ำคนไทยต้องร่วมมือกล้าเผชิญวิกฤต ตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติจากผู้เชี่ยวชาญทุกภาคส่วน พร้อมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชุมชนเป็นแกนกลางจัดการภัยพิบัติ ขณะที่ “ภาครัฐ” ยัน พร้อมรับมติจากทุกภาคส่วนที่นำประโยชน์สู่ประชาชน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ผู้ทรงคุณวุฒิ และราษฎรอาวุโส แสดงปาฐกถาในพิธีเปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ในหัวข้อ "รับมือภัยพิบัติ จัดการสุขภาวะ" ว่าภัยพิบัติถือเป็นภัยหลวงที่กระทบต่อสุขภาวะของคนไทย ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องเผชิญกับภาวะนี้อีกอย่างน้อย 20 ปี พร้อมระบุภัยพิบัติไม่ได้มีเพียงภัยธรรมชาติ แต่ภัยพิบัติคือการบรรจบของวิกฤตต่างๆ ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวิกฤตการเมือง ซึ่งอาจนำไปสู่สงครามการแย่งชิงทรัพยากร

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า วิกฤตที่ผ่านมาเกิดจากการคิดแบบแยกส่วน ซึ่งส่งผลทำให้สังคมขาดพลัง แนวทางที่ควรจะเป็นในการเผชิญหน้ากับวิกฤตวันหน้าคือ คนไทยต้องร่วมมือกัน ต้องเลียนแบบตัวอมีบ้า สัตว์เซลเดียว ที่ยามปกติ จะต่างคนต่างอยู่ แต่ในสภาวะวิกฤตก็จะกระจุกตัวกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต

“ทุกวันนี้ สังคมไทยใช้แต่สมองส่วนหลัง ซึ่งเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน ใช้แต่การต่อสู้ เต็มไปด้วยความเกลียด ความโกรธ ขณะที่สมองส่วนหน้าหดหาย ซึ่งเป็นส่วนของสติปัญญา ความรู้ จริยธรรมและศีลธรรม ดังนั้น เพื่อการพัฒนา ประเทศไทยต้องเข้าเกียร์ใหม่ เปลี่ยนจากเข้าเกียร์หลังมาเกียร์หน้าแทน”

ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติ จำต้องเชื่อมโยงส่วนที่แตกต่างเพื่อเผชิญภัยพิบัติและภัยสุขภาวะ โดยเสนอแนวทาง 6 ประเด็น คือ 1.คนไทยต้องเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิด จิตสำนึกใหม่ และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เพราะคนไทยคิดเสมอว่าเราจะไม่ประสบภาวะวิกฤต จึงไม่มีใครเตรียมตัว เราต้องเพิ่มสมรรถนะเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในข้อมูล 2.สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งทั่วประเทศเพื่อรับมือภัยพิบัติและจัดการภัยสุขภาวะ คือต้องสำรวจข้อมูลว่าภัยพิบัติในพื้นที่ของตนจะเกิดจากอะไรได้บ้าง จะป้องกันและรับมืออย่างไร ใครจะต้องทำอะไร จะต้องใช้เครื่องมืออะไรบ้าง จะสื่อสารให้รู้ทั่วถึงกันอย่างไร ทำการซักซ้อมการเผชิญภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ

3. มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรมีศูนย์ศึกษาภัยพิบัติ เพื่อศึกษาลักษณะของภูมิประเทศ และภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การร่วมมือ โดยร่วมมือระหว่างชุมชนกับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด 4. มีระบบการสื่อสารที่สื่อสารให้รู้ความจริงถึงกันโดยทั่วถึง เพราะที่ผ่านมามีการสื่อสารสับสน จนไม่รู้ว่าอะไรคือความจริง 5.มีเครื่องมือการตัดสินใจทางนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติในทุกเรื่อง เพราะระบบรัฐ ระบบราชการและระบบการเมืองที่ผ่านมาเป็น “ระบบอำนาจ” ไม่ใช่ “ระบบปัญญา” จึงแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ รวมทั้งควรมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งนอกจากมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการแล้ว ควรมีกรรมการเสียงข้างมากที่รู้จริง ที่มาจากผู้นำชุมชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญการสื่อสาร และมีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระเพื่อสรรหาผู้มีความสามารถมาบริหารยุทธศาสตร์ และทำงานต่อเนื่องยาวนาน ไม่ใช่เป็นเพียงส่วนราชการที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่ไม่มีสมรรถนะ เสี่ยงต่อความล้มเหลว และ 6.ออกพระราชบัญญัติป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติ มีการรวบรวมความรู้ที่เกี่ยวกับภัยพิบัติทั้งหมดมาบัญญัติเป็นกฎหมาย เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของทุกภาคส่วน ตัวอย่างเช่นประเทศเยอรมนี มีกฎหมายน้ำท่วม คือหากให้ข่าวที่ไม่จริงจะถูกจับ เพราะถือเป็นการทำร้ายสังคม

ขณะที่ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า สมัชชาสุขภาพเป็นการรวมตัวระหว่างเครือข่ายหลายภาคส่วน นำไปสู่ข้อสรุป ซึ่งท้ายสุด คนที่ได้ประโยชน์ที่แท้คือ “ประชาชน” ในฐานะตัวแทนภาครัฐ ยินดีสนับสนุนและผลักดันมติเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนัก จนปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นฟูเข้าสู่ภาวะปกติได้ แม้จะใช้การจัดการจากทุกภาคส่วน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะเน้นนโยบายระยะยาว โดยเตรียมพร้อมเรื่องการผลักดันพระราชกำหนดเพื่อรับมือกับภัยพิบัติโดยเฉพาะ เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งต้องเร่งดูแลแก้ปัญหาในภาพรวมเพื่อให้ประเทศพ้นจากวิกฤต และเกิดความเชื่อมั่น

“ในฐานะที่ดูแลด้านสาธารณสุขก็จะนำมติเหล่านี้ไปปฏิบัติให้เกิดผล แต่ยอมรับว่าหลายส่วนยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ เช่น เรื่องเหตุฉุกเฉิน ระบบส่งต่อ เรื่องยารักษาโรค การแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข แต่สิ่งที่อยากฝากคือการจะผ่านพ้นวิกฤติได้ “คนไทยต้องไม่ทิ้งกัน”

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า ภัยที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่แต่ภัยจากธรรมชาติ แต่ยังมีภัยจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญาณเตือนมนุษย์ว่าไม่ให้เราโลภ หรือหลงกับการพัฒนา ไม่ให้เราใช้ทรัพยากรอย่างทารุณ

“ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้สร้างความเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้ มีคนเดือดร้อนจำนวนมาก และที่ผ่านมา การช่วยเหลือของหลายหน่วยงานมีข้อจำกัด เช่น ไม่มีแผนรับมือ ระบบที่วางไว้เกิดขัดข้อง หรือขาดความยืดหยุ่น ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีสุดคือให้ชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดการภัยพิบัติเอง เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ได้รับผลกระทบ”

กรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวว่า เราต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาสคือ1.ต้องผลักดันความเดือดร้อนประชาชนให้นำไปสู่การพัฒนา 2.บรรเทาความเดือดร้อนที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 3.สนับสนุนให้ “คนใน” ดูแลกันเอง 4.กระจายความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อนเองเพื่อความรวดเร็ว และตัดวงจรการทุจริต 5.สร้างความผูกพัน ทำให้หลายชุมชนก้าวผ่านความชัดแย้ง 6.กระบวนการเยียวยาจิตใจให้มีพลัง ตั้งหลักเดินหน้า 7.พัฒนาศักยภาพชุมชนเชิงโครงสร้างสู่การร่วมมือจัดกันระยะยาว และ 8.สร้างจิตสำนึกสาธารณะ พลิกจากชุมชนประสบภัยเป็นชุมชนแห่งการป้องกันภัย มีการพัฒนาแนวราบแทนแนวดิ่ง ซึ่งทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดการให้ชุมชนมีแผนรับมือภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลที่ใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาดังกล่าวกว่า 3.5 แสนล้านบาท จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

ด้าน นายวิชัย บรรดาศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครปากเกร็ด กล่าวว่า นครปากเกร็ดถือเป็นท้องถิ่นเล็กๆ แต่ทุกฝ่ายพยายามบริหารจัดการโดยเน้นการเข้าถึงพื้นที่ เข้าใจภาพรวมพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเข้าใจว่ามีหลายท้องถิ่นที่พยายามปกป้องพื้นที่ตนเอง บางที่ก็สำเร็จ บางที่ก็ประสบปัญหา แต่สิ่งที่สะท้อนท้ายสุดคือการทำให้ทุกพื้นที่เกิดความร่วมมือร่วมใจ

จากภัยพิบัติที่ผ่านมาทำให้มองเห็นว่าชุมชนมีกระบวนการแก้ปัญหาซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ต้องอาศัยคนในชุมชนแต่ละพื้นที่ร่วมกันหารูปแบบที่เหมาะสมของตนเอง เพื่อนำไปสู่การจัดการและการรับมือที่ดี ตัวอย่างจากพื้นที่นครปากเกร็ด ทีมงานมีการประเมินตลอดว่าเป็นพื้นที่ลุ่มแม่น้ำ ทำให้ต้องสร้างแผนป้องกันสาธารณภัยโดยปรับปรุงทุกปี เพราะภัยพิบัติแต่ละครั้ง บริบทของปัญหาต่างกัน ส่วนหนึ่งที่สำเร็จคือมีกำลังคน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณพอสมควร รวมทั้งมีการสื่อสารทำความเข้าใจผ่านเครือข่ายชุมชนเพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญและกำลังใจให้คนในพื้นที่

อย่างไรก็ตามคงไม่มีใครสามารถจัดการปัญหาได้สำเร็จเพียงลำพัง โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติดังนั้น ข้อเสนอคือรัฐต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ให้ท้องถิ่นสามารถนำทรัพยากรมาแก้ปัญหาภัยพิบัติแบบบูรณาการ ส่วนภาครัฐผันตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและข้อมูลที่ถูกต้อง

ติดตามความเคลื่อนไหวสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.samatcha.org

ติดตามชมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ทาง www.healthstation.in.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้