งานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 9 ประจำปี 2555

จันทร์ ๑๗ กันยายน ๒๐๑๒ ๑๗:๔๗
งานสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ครั้งที่ 9 ประจำปี 2555“การลงทุนไทยในต่างประเทศ : โอกาสหรือความเสี่ยง?”วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2555ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

ดร.สมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงผลการสัมมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ครั้งที่ 9 ประจำปี 2555 “การลงทุนไทยในต่างประเทศ : โอกาสหรือความเสี่ยง?”(Thai Outbound Investment : Opportunities or Risks?) วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน 2555 ณ ห้องวอเตอร์เกทบอลรูม โรงแรม อมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งจากภาครัฐ เอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไรนักวิชาการ นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไปประมาณ 600 คน โดยการสัมมนาวิชาการของ สศค. ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักในการเผยแพร่ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะแนวนโยบายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ และได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นผู้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยกับนโยบายการลงทุนในต่างประเทศ” ซึ่งได้ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และในสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมรอกรับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการก้าวเข้าสู่การรวมตัวของประเทศเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 หรืออีกสองปีข้างหน้า จึงเหมาะกับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ และให้เอกชนเร่งเตรียมตัว ใช้โอกาสนี้ ออกไปสร้างรายได้ ลดต้นทุนการผลิตและเข้าถึงทรัพยากรในอาเซียนมากยิ่งขึ้น สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมเรื่องดังกล่าว มีทั้งด้านการเงิน การคลัง การอำนวยความสะดวกทั้งก่อนออกไปลงทุนและหลังจากเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ล้วนมีความสำคัญ

ในช่วงเช้า 9.50 — 12.00 น การนำเสนองานวิจัยเรื่อง “ทิศทางโลก โอกาสไทยและกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศ” สรุปได้ดังนี้

นายสุรเชษฐ์ ศศิพงศ์ไพโรจน์ นายณัฐพล สุภาดุลย์ นางสาววาทินี แก้วทับทิม และนางสาวพิมพัชรา กุศลวิทิตกุล สศค. นำเสนอว่า การส่งเสริมจากภาครัฐมีความสำคัญต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก จากการสำรวจความเห็นของบริษัทต่างๆ จะเห็นว่า การสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการสนับสนุนผ่านมาตรการภาษี มีความสำคัญสำหรับการลงทุนในต่างประเทศ อีกทั้งจากการศึกษาตัวอย่างในต่างประเทศพบว่า รัฐบาลต่าง ๆ ทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ได้มีมาตรการเพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศกันอย่างครอบคลุม ทั้งในด้านภาษี เงินทุน การอำนวยความสะดวกและข้อมูล ส่งผลให้ภาคธุรกิจของประเทศดังกล่าวสามารถออกไปแสวงหาผลประโยชน์จากตลาดในต่างประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพและทำให้ตัวเลขการลงทุนของประเทศเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ทางการไทยสามารถเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่า (1) ธุรกิจที่มีศักยภาพในการลงทุนในต่างประเทศที่ควรสนับสนุน ได้แก่ ธุรกิจในอุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ (2) ประเทศที่น่าสนับสนุนให้ไปลงทุน ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ตุรกี มาเลเซีย จีน เม็กซิโก โปแลนด์ และฮังการี (3) ควรเพิ่มบทบาทรัฐวิสาหกิจในการเป็นผู้นำการลงทุนในต่างประเทศ (4) ควรมีมาตรการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนให้ครอบคลุมการลงทุนในธุรกิจและประเทศเป้าหมายมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านภาษี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ และในด้านการสนับสนุนข้อมูล การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และการสนับสนุนทางการเงิน ทั้งในด้านการจัดหาเงินทุน และการป้องกันความเสี่ยง

ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บมจ.ปตท.ให้ความเห็นว่า การลงทุนในต่างประเทศเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ประเทศ ทั้งการใช้โอกาสลดต้นทุนและเข้าหาทรัพยากรในต่างประเทศ อาทิ น้ำมัน เพื่อสร้างความมั่นคงระยะยาวด้านพลังงานให้ไทย และเห็นว่าภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งลดภาษีเงินได้เงินได้จากต่างประเทศและให้เร่งการคืนภาษี เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย ให้ความเห็นว่าการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเป็นเรื่องทันต่อเหตุการณ์ เป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศที่ออกไปลงทุนและประเทศที่รับการลงทุน และจากการศึกษาของ ADB พบว่า ภูมิภาคเอเชียมีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด และประเทศไทยควรเร่งการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้มากขึ้น ภาครัฐควรเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนภาคเอกชนในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ

ในช่วงบ่าย 13.00 — 14.20 น การนำเสนองานวิจัยเรื่อง “ข้อเสนอมาตรการการเงินการคลังเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ” สรุปได้ดังนี้

ดร.นรพัชร์ อัศววัลลภ สศค. นำเสนอผลการศึกษาว่าปัจจุบันผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบบริษัทในต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ และมาเลเซีย จากการที่ระบบภาษีไทยมีภาระสำหรับเงินได้ในต่างประเทศ ตลอดจนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในต่างประเทศมากกว่า สำหรับการลงทุนในประเทศเป้าหมายเดียวกัน อาทิ ในพม่า ในโครงการเดียวกัน ถือหุ้นร้อยละ 20 ในบริษัทในพม่าเช่นเดียวกัน หากผู้ประกอบการไทยมีเงินได้สุทธิหลังภาษีในไทย 1.0 ล้านบาท ผู้ประกอบการสิงคโปร์จะมีเงินได้สุทธิหลังภาษี 1.39 บาท หรือมากว่าร้อยละ 39 นอกจากนี้ สิงคโปร์และมาเลเซียให้การสนับสนุนทั้งด้านสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าและการหักภาษีค่าใช้จ่ายการลงทุนในต่างประเทศได้ 2 เท่าตัวในหลายกรณี สร้างความเสียบเปรียบให้กับผู้ประกอบการไทยในการแข่งขัน การออกไปประมูลงานแข่งขันในต่างประเทศ

นางสาวกฤติกา โพธิ์ไทรย์ สศค. นำเสนอผลการศึกษาในส่วนของข้อเสนอมาตรการการเงินการคลังที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยลดภาระภาษีและทางการเงินในการใช้ไทยเป็นฐานในการบริหารการค้าและการลงทุน รวมทั้งการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ไม่ต้องไปใช้ฐานการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในสิงคโปร์ ในขณะเดียวกัน ได้หาแหล่งเงินเพื่อสนับสนุนและอุดหนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในการขยายกิจการในต่างประเทศ นอกจากนี้ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของการใช้มาตรการอย่างรอบด้านทั้งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ค่าเงินบาท เงินลงทุนในประเทศ การหนีภาษี การสูญเสียรายได้จากมาตการนี้ ซึ่งสรุปได้ว่าการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้จะส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนในไทยเพิ่ม และเกิดภาษีทางอ้อมให้กับรัฐบาลมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

นายแอนโทนี โลห์ หุ้นส่วนบริษัท Ernst and Young ได้ให้ความเห็นว่าปัจจุบันระบบภาษีของไทยควรมีการปรับปรุงเพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรการศูนย์ปฎิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarter) และศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (International Procurement Center) ของไทยที่มีเงื่อนไขยากในการปฏิบัติตาม ยังไม่ดึงดูดนักลงทุน นอกจากนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากส่วนเกินทุน (capital gain) การเร่งทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับต่างประเทศมีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ

ในช่วงบ่าย 14.30 — 16.30 น เป็นการเสวนาเรื่อง “นโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ :โอกาสหรือความเสี่ยง?” สรุปได้ดังนี้

ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้ให้ความเห็นว่าการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจไทย ทั้งจะช่วยให้เข้าถึงตลาดใหม่ๆ และทำให้ธุรกิจไทยมีความแข็งแกร่งในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น การแข่งขันจะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันยังมีไม่มากและยังกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ จึงควรมีการจัดตั้งหน่วยงานกลาง ที่จะทำหน้าที่วางแผนกลยุทธ์ ผลักดัน และขับเคลื่อนให้มาตรการต่างๆ เกิดขึ้น รวมทั้งทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมและสังเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศและนำเสนอแนวทางแก้ไขไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และที่ขาดไม่ได้ก็คือการเป็นศูนย์รวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน

นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่า การลงทุนในต่างประเทศก็มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ในปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมขึ้นมากจากในอดีต ทั้งความมั่นคงในระดับเศราฐกิจมหภาค ความเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน และการมีกลไกรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย การลงทุนในประเทศต่างๆ หลายๆ ประเทศก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุน อีกทั้งก็จะปรับฐานะการลงทุนสุทธิของไทยให้มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น และขณะนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการผ่อนปรนเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศมาก และมีแผนการผ่อนปรมมากยิ่งขึ้นในปี 2556 - 2557 อย่างไรก็ตาม บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยก็คงจะต้องปรับกฎระเบียบให้มีความเหมาะสม ทั้งในด้านการส่งเสริมการลงทุนและการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย

ดร. สมชัยฯ ได้กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังก็ให้ความสำคัญ และเชื่อว่ามาตรการการส่งเสริมที่ได้จัดเตรียมขึ้น จะเป็นกลไกที่ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจ SME จะได้ประโยชน์จากมาตรการที่เสนอมา โดยธุรกิจขนาดใหญ่ก็จะได้ประโยชน์จากต้นทุนด้านภาษีที่ลดลง การบริหารเงินสกุลต่างประเทศที่สะเดวกขึ้น ในขณะที่ค่าธรรมเนียมที่ได้จากธุรกิจขนาดใหญ่รวมทั้งบริษัทต่างชาติ จะสามารถนำมาเป็นเงินทุนที่จะใช้ช่วยสนับสนุนธุรกิจ SME และนำมาใช้สร้างองค์ความรู้เพื่อสนับสนุน SME ต่อไป ในขณะเดียวกัน การลงทุนในต่างประเทศที่สนับสนุนการส่งออกของไทย สนับสนุนการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้ารวมทั้งการบริหารการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ ดึงดูดธุรกิจต่างชาติใช้ไทยเป็นฐานการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดรายได้ภาษีทางอ้อมปีละหมื่นล้านบาท หลังจากหักภาษีที่สูญเสียจากการนำมาตรการมาใช้

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยและ CEO บมจ.บ้านปู ได้เสนอมุมมองของภาคธุรกิจ ที่เห็นว่าการสนับสนุนในประเทศที่เข้าไปลงทุนก็เป็นส่วนสำคัญ โดยอยากเห็นกระทรวงการต่างเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีเครือข่ายอยู่ในต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความเข้าใจในสภาวะแวดล้อมในต่างประเทศ ซึ่งจำทำให้การสนับสนุนเกิดขึ้นได้รวดเร็ว นอกจากนี้ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาเรื่องภาษีกำไรนำกลับและภาษีซ้อนที่จะทำให้เงินทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศกลับเข้ามาในไทยมากยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีความน่าดึงดูดการลงทุนอยู่แล้ว ดังนั้น อัตราภาษีของเรา อาจไม่จำเป็นจะต้องต่ำที่สุด แต่ควรปรับให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ปัจจุบันมีเครือข่ายในต่างประเทศอยู่แล้ว ก็อาจเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลาง เป็นหาคู่ค้าหรือหุ้นส่วนท้องถิ่นในต่างประเทศให้นักงธุรกิจไทย

ทั้งนี้ สศค. จะนำผลงานวิจัย ข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์ต่างๆ ไปใช้ในการพัฒนางานและประกอบการออกแบบนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อ่ไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest