บทความ: สู่ฝันโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ปั้น “เด็กไทยหัวใจวิทยาศาสตร์”

จันทร์ ๐๘ ตุลาคม ๒๐๑๒ ๐๙:๐๖
เป็นเวลานานนับจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่หลักวิชาและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ผู้เป็นกำลังหลักสำคัญ จึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วนมาร่วมจุดประกาย “โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (Thailand Children’s University)” เพื่อปูพื้นฐานเด็กไทยให้รักและสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย ตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจที่ไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ณ Shanghai Institutes for Biological Sciences เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2553 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิชาการ และการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยเครือข่าย กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรความร่วมมือแลกเปลี่ยนทางวิชาการแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (DAAD) ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องมหาวิทยาลัยเด็กมาตั้งแต่ปี 2554 จนเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยได้มีงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา และจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ และมีการจัดกิจกรรมสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ในระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคม 2555 นี้ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการฯ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2555

ทั้งนี้ รูปแบบการเรียนการสอนของโครงการ จะเป็นการนำต้นแบบโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก มหาวิทยาลัยบีเลเฟล สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๔๗ โดยศาสตราจารย์ ดร. Katharina Kohseh?inghaus ผู้ออกแบบห้องปฏิบัติการทอยโทแลปมาประยุกต์ใช้ ซึ่งยังคงเน้นให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมทดลองวิทยาศาสตร์ที่สนุกสนาน และได้พัฒนาทักษะการสังเกต รู้จักตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักศึกษาปริญญาตรี โท และเอกเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ต่างประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้เด็ก ๆ เกิดแรงบันดาลใจ มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การเรียนการสอนผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง (Hands-on) จะทำให้นักเรียนเกิดการจดจำ เรียนรู้ และเข้าใจวิทยาศาสตร์ได้ลึกซึ้งมากขึ้น โดยที่ผ่านมา สวทช. ได้นำกิจกรรมทดลองชุดต่าง ๆ ไปใช้จัดค่ายวิทยาศาสตร์รวม 7 ครั้ง มีนักเรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายเข้าร่วมทั้งสิ้น 440 คน ซึ่งเด็ก ๆ ต่างเทคะแนนเต็มร้อยสำหรับความรู้และความสนุกสนานที่ได้รับ ไม่ต่างจากการนำไปใช้จัดการเรียนการสอนให้ครูสอนเด็กหูหนวกและนักเรียนหูหนวกรวม 88 คน ซึ่งกิจกรรมทดลองได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นใบงานสำหรับสอนเด็กหูหนวกต่อไป

“เราพยายามเปลี่ยนภาพของการเรียนวิทยาศาสตร์ที่เคยเป็นเรื่องยากและน่ากลัวให้เป็นเรื่องง่ายและสนุก ซึ่งเด็กสามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว และใช้วิทยาศาสตร์ในการค้นหาคำตอบในเรื่องที่สงสัย โดยเรายังได้เชิญชวนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มีความพร้อมมาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนเรื่องสถานที่ อุปกรณ์การทดลอง ตลอดจนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นพี่เพื่อมาเป็นพี่เลี้ยงคอยตอบคำถาม ให้คำแนะนำ และร่วมกิจกรรมทดลองที่สนุกสนานไปพร้อมกับเด็ก ๆ ด้วย”

เช่นเดียวกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้นำกิจกรรมทดลองชุดทดสอบน้ำนม ไปจัดแสดง ณ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2555 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ในชื่อกิจกรรม “สสวท.ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์” โดยชูความสนุกสนานของกิจกรรม “Milk Milk Milk” เพื่อให้เด็กนักเรียนได้ทดลองทำสีจากน้ำนมด้วยตนเอง ซึ่งเด็ก ๆ ต่างให้ความสนใจและร่วมทำการทดลองอย่างเพลิดเพลิน

อาจารย์ดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็กฯ มีส่วนช่วยเติมเต็มหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องจากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยที่ทางสสวท. จัดให้กับเด็กปฐมวัย รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาด้านการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ที่อาจขาดแคลนงบประมาณ อุปกรณ์การทดลอง ขาดครูที่จบสายวิทยาศาสตร์โดยตรง หรือเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล หรือไม่ได้อยู่ในสังกัดของสสวท.และสพฐ. เช่น โรงเรียนชายขอบ โรงเรียน ตชด. ซึ่งส่งผลให้เด็กๆ ได้แต่เรียนรู้และสนุกกับวิทยาศาสตร์แค่บนหน้ากระดาษเท่านั้น

“สสวท. จะใช้ศูนย์โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ 20 แห่งทั่วประเทศ เป็นศูนย์ให้บริการการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเด็ก ๆ โดยมีรุ่นพี่นักศึกษาปริญญาตรี และปริญญาโทมาเป็นพี่เลี้ยง รวมทั้งจะมีการดัดแปลงกิจกรรมทดลองให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่ ซึ่งเราหวังผลให้เด็กเหล่านี้เติบโตไปเป็นคนที่มีจิตวิทยาศาสตร์ คือ รู้จักคิด วิเคราะห์ และค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล ตลอดจนเกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อจนจบเพื่อไปทำงานด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น”

กิจกรรมที่น่าสนใจในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ตัวอย่างเช่น กิจกรรมทดลองชุดผลไม้สกุลส้มในเรื่องของกลิ่นที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยบริเวณผิวเปลือกส้ม การสกัดน้ำมันหอมระเหยจากผิวส้ม การบีบน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้มที่ทำให้เปลวเทียนลุกสว่างวาบได้ กิจกรรมทดลองชุดผลไม้สกุลส้มในเรื่องกรด ในการเปลี่ยนสีน้ำกระหล่ำปลีม่วงให้กลายเป็นสีแดง หรือการเติมสารละลายที่มีความเป็นกรดต่างกันในสีน้ำกระหล่ำปลีม่วงซึ่งทำให้เกิดสีที่แตกต่างกัน กิจกรรมทดลองชุดมายากล เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเปลือกไข่ที่ถูกน้ำมะนาว หรือ กิจกรรมทดลองชุดเคมีของน้ำนมในการสร้างสีจากดับเบิ้ลครีม ชีส ซึ่งสามารถนำมาใช้วาดภาพหรือสร้างงานศิลปะได้ เป็นต้น

อาจารย์ บุษบา แก้วลังกา อาจารย์จากโรงเรียนสวนมิกสกวัน ซึ่งได้นำเด็กนักเรียนประถมศึกษากว่า 20 คน เข้าร่วมกิจกรรมการทดลองในงานเปิดตัวโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยให้การเรียนรู้ทาง วิทยาศาตร์ของเด็ก ๆ มีความทัดเทียมกันในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะเด็กในต่างจังหวัด ซึ่งขาดแคลนทั้งครูและอุปกรณ์ นอกจากนี้ การออกแบบกิจกรรมทดลองยังใช้อุปกรณ์ที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถหาได้ในท้องถิ่น ทำให้เด็กบางคนเมื่อได้ทดลองทำแล้ว ก็อยากนำไปทดลองกับสิ่งอื่น ๆ ถือเป็นการต่อยอดจินตนาการด้านวิทยาศาสตร์ที่เด็ก ๆ จะสนุกมากขึ้นเมื่อได้คิดและลงมือทำด้วยตัวเอง

น้องแบม ดญ. ศุภิสรา แก้วลังกา และ น้องบีม ดญ. ทิฐินันท์ นาใจทน นักเรียนชั้น ป.6 ได้ช่วยกันทำการทดลองเรื่องน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม ซึ่งสามารถทำให้เปลวไฟสว่างวาบได้ กล่าวว่า มีความสนใจการเรียนวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ยิ่งถ้าได้ทำการทดลองจะยิ่งชอบมาก เพราะทำให้เราได้รู้เรื่องแปลก ๆ ที่ไม่เคยรู้เพิ่มขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์ เหมือนที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าในเปลือกส้มมีน้ำมันหอมระเหยซ่อนอยู่ ทำให้อยากไปทดลองกับผลไม้อย่างอื่นบ้าง

ส่วนน้องมอส ดช. กัมปนาท อำพร นักเรียนชั้น ป.5 กล่าวว่า ได้รู้เรื่องโครงการมหาวิทยาลัยเด็กจากคุณครูก็สนใจอยากเข้าร่วม พอมาเห็นกิจกรรมทดลองหลายอย่างซึ่งไม่เคยทำมาก่อน ก็รู้สึกตื่นเต้น วันนี้ได้ลองทำการทดลองหยดน้ำมะนาวบนเปลือกไข่จนเกิดเป็นฟองฟู่ รู้สึกสนุกมาก

น้องสปาย ดช. นรภัทร เวทยะเวทิน นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งได้ร่วมทำกิจกรรมทดลองการเปลี่ยนสีน้ำดอกกระหล่ำปลีม่วงด้วยสารละลายต่าง ๆ ที่มีค่าความเป็นกรด-เบสต่างกันจนเกิดเป็นสีสันสวยงาม กล่าวว่า เคยมีความคิดที่จะทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์เองแต่ก็ไม่กล้า พอมีพี่ ๆ ในโครงการมาคอยสอนคอยแนะนำทีละขั้นตอนทำให้กลัวน้อยลง สนุกมากขึ้น และรู้สึกว่าการทดลองจะช่วยให้เราเข้าใจและจดจำความรู้ได้ดีกว่าการอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว

โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งความหวัง และอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทุกฝ่ายจะมาร่วมมือกันในการเตรียมความพร้อมและผลักดันเด็กไทย ผ่าน “การฝึกฝน เรียนรุ้ จุดประกาย การพัฒนาพื้นฐานทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” เพื่อการเติบโตอย่างมีศักยภาพสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ไทยที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๕๐ ก.แรงงาน เตือนประชาชนรอบโกดังกากของเสีย จ.ระยอง ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมกำชับดูแลความปลอดภัยของลูกจ้างแรงงาน
๐๙:๒๘ MSC ร่วมกับ AWS จัดงาน MSC x AWS ECO Connect
๐๙:๐๕ เอเอฟเอส ประเทศไทย ผนึกกำลังศิษย์เก่า แลกเปลี่ยนแนวคิดธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืน
๐๙:๐๐ Synology ช่วยให้องค์กรต่างๆ นำแผนการกู้คืนข้อมูลจากแรนซัมแวร์ไปปรับใช้ได้อย่างไร
๐๙:๓๗ ศูนย์ฯ สิริกิติ์ ชวนคนกรุงฯ ค้นหาความสุขที่แท้จริงของชีวิต กับกิจกรรม ธรรมะในสวน ห้วข้อ เข้าใจชีวิต พิชิตสุข ณ สวนเบญจกิติ 4 พฤษภาคม 2567
๐๙:๐๒ ฉางเจียงเปิดแฟชั่นโชว์ หลอมรวมวัฒนธรรมและงานศิลป์อวดสายตาชาวโลก
๐๙:๕๗ เจาะฟีเจอร์กล้อง 108MP ใน HUAWEI nova 12i สเปกเท่าเรือธงในงบต่ำหมื่น!
๐๘:๑๓ ม.หอการค้าไทย ลงนามความร่วมมือ กับ AIT
๐๘:๒๑ จับติ้วแบ่งสายสุดเดือด ศึกลูกหนังเยาวชน แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024 เริ่มโม่แข้ง 23 เม.ย.นี้!!
๐๘:๔๐ The Winner of OpsSimCom 2024 by MIT Sloan is.THAMMASAT.!!