คปก.เสนอปรับปรุงกฎหมาย 2 ฉบับ ร่างกฎหมายอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามพรมแดน - ร่างพ.ร.บ.ศุลกากร

พฤหัส ๑๕ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๐:๓๕
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย 2 เรื่อง ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. ....และร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน) เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา โดย คปก.ได้ศึกษาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับในคราวเดียวกัน ซึ่งเห็นควรให้มีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ

โดยในร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน พ.ศ. ....คปก.ตั้งข้อสังเกต 3 ประเด็นหลัก คือ กรณีการลงโทษซ้ำ ซึ่งกำหนดไว้ในร่างมาตรา 10(3) คปก.เห็นว่า ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายไทยและกฎหมายต่างประเทศซึ่งฐานความผิดของแต่ละประเทศกำหนดไว้ต่างกัน หรือผิดตามกฎหมายอื่นโดยกฎหมายของประเทศภาคี หรือกฎหมายของไทยอาจกำหนดแตกต่างกัน รัฐบาลประเทศภาคีอาจร้องขอให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวเพื่อมาดำเนินคดีตามฐานความผิดหรือกฎหมายอื่นของประเทศภาคีได้ ประเด็นถัดมา ในการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ เมื่อพิจารณาตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญาแล้วเห็นว่า การกำหนดมาตรา 8 ของร่างพ.ร.บ. ซึ่งระบุว่า “ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงที่ดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา อีกทั้งการจะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีตามความตกลงที่ดำเนินพิธีการในพื้นที่ควบคุมร่วมกันในราชอาณาจักรก็ไม่เป็นไปตามเอกสิทธิและความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิพิเศษของบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้

ประเด็นต่อมา หากกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลประเทศภาคีฯ เป็น “เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา” จะเกี่ยวพันเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความรับผิด ทั้งนี้หากโทษตามกฎหมายไทยกำหนดไว้สูงกว่าประเทศภาคี มีประเด็นซึ่งต้องพิจารณาเช่นกันว่ารัฐบาลประเทศภาคีจะยอมรับหรือไม่

นอกจากนี้ การนำความตกลงระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้มีการตั้งด่าน ที่ด่านพรมแดนมุกดาหาร (สะพานมิตรภาพ 2) และด่านสากลขัวมิตรภาพแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้เฉพาะระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมากำหนดหลักเกณฑ์ในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ เจตนารมณ์ของผู้ร่างต้องการให้มีผลใช้บังคับกับทุกพื้นที่ ไม่ได้รองรับเฉพาะความตกลง CBTA เท่านั้น แต่รวมถึงความตกลงอื่นที่รัฐบาลไทยอาจไปทำกับรัฐบาลประเทศอื่นในภายหน้า หากกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ ก็ไม่มีสิ่งใดมารับรองว่ารัฐบาลประเทศอื่นๆ ซึ่งประเทศไทยจะไปทำความตกลงด้วยจะเห็นชอบกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวและจะกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ทำนองเดียวกับที่ประเทศไทยทำความตกลงกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

อย่างไรก็ตาม บางกรณีทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดน อาจมีกรณีการลักลอบขนส่งสัตว์ป่า หรือโบราณวัตถุซึ่งมีแหล่งที่มาในประเทศไทยหรือประเทศภาคีอื่น ดังนั้นการที่กฎหมายได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยได้ใช้ดุลพินิจหากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยได้เช่นกัน ส่วนประเด็นเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในร่างมาตรา 10 และ มาตรา 11นั้น คปก.มีข้อสังเกต2 ประการ ได้แก่ 1.การส่งตัวผู้ต้องหาหรือบุคคลซึ่งกระทำความผิด ควรให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การส่งผู้ร้ายข้ามแดน และ 2.การพิจารณาเรื่องการส่งผู้ต้องหาหรือบุคคลซึ่งกระทำความผิด ควรคำนึงถึงการให้ความคุ้มครองบุคคลสัญชาติไทยเป็นกรณีพิเศษมากกว่าบุคคลสัญชาติอื่นด้วย

สำหรับร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนภายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงตอนบน) เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกโดยเฉพาะจึงจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์และรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน ซึ่ง คปก.เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในร่างมาตรา 37 สัตตรส จากเดิม “ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร” เป็น “ให้กรมศุลกากรมีอำนาจในทางศุลกากรทั้งปวงในพื้นที่ควบคุมร่วมกันและพื้นที่ตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนเช่นเดียวกับในเขตศุลกากร” เพราะร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนฯ กำหนดเขตพื้นที่ควบคุมร่วมกันไว้กว้างกว่า ทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในเขตศุลกากรเท่านั้นอาจไม่ครอบคลุมกรณีที่มีความตกลงเพิ่มเติมขยายเขตพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรไปปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่นั้นได้

สำหรับเรื่องทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขนส่งข้ามพรมแดน และการลงโทษซ้ำ ในร่างมาตรา 37 เอกูนวีสติ (3) คปก.เห็นชอบให้มีการเพิ่มเติมข้อความในวรรคหนึ่ง โดยเพิ่ม “เว้นแต่จะมีความตกลงเป็นอย่างอื่น...” เข้ามา เพื่อรองรับความตกลงซึ่งรัฐบาลไทยอาจทำกับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ซึ่งอาจไม่เห็นชอบกับหลักเกณฑ์ในร่างมาตรา 37 เอกูนวีสติ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่พนักงานศุลกากรตรวจพบในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน ส่วนประเด็นการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คปก.มีความเห็นทำนองเดียวกันกับร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนฯ เนื่องจากได้นำหลักเกณฑ์ของพ.ร.บ.ดังกล่าว มากำหนดหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องโดยมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางคำให้ใช้เฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับศุลกากร

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๐๔ กลุ่ม KTIS จับมือ Marubeni ประสานความร่วมมือในการขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
๑๔:๒๐ ผู้ถือหุ้น TIDLOR อนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้น-เงินสด อัตรา 27 หุ้นสามัญ : 1 หุ้นปันผล พร้อมจ่ายเงินสด 0.2698 บ./หุ้น เตรียมขึ้น XD วันที่ 24 เม.ย. 67 รับทรัพย์ 14
๑๔:๔๙ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย
๑๔:๑๐ สสวท. เติมความรู้คู่กีฬากับ เคมีในสระว่ายน้ำ
๑๓:๐๓ ฉุดไม่อยู่! ซีรีส์ Kiseki ฤดูปาฏิหาริย์ กระแสแรง ขึ้น TOP3 บน Viu ตอกย้ำความฮอต
๑๔:๒๔ TM บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพระราม 9
๑๔:๑๒ ผถห. JR อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น พร้อมโชว์ Backlog แน่น 9,243 ลบ.
๑๔:๕๐ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ
๑๔:๓๔ ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท
๑๔:๑๔ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ