อย่าเชื่อโพลล์ ตอนที่ 2

อังคาร ๐๕ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๓ ๑๔:๐๘
ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบทความเรื่อง อย่าเชื่อโพลล์ตอนที่ 2 เมื่อผมอยู่ในรายการวิทยุสถานีหนึ่งและผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์ผมว่า ผลโพลล์มีความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ ผมตอบโดยทันทีว่า “อย่าเชื่อโพลล์” เพราะในการทำโพลล์มีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอน ผมเคยเขียนบทความเรื่อง อย่าเชื่อโพลล์ตอนที่ 1 ในปี พ.ศ. 2551 หรือประมาณหกปีก่อนเพราะเกิดแรงบันดาลใจขึ้นจากนายทหารท่านหนึ่งที่นั่งรับประทานอาหารด้วยกันและท่านก็ถามผมว่า นักทำโพลล์จะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประชาชนตอบความจริงมาให้ในแบบสอบถาม และบทความนี้หาอ่านได้ง่ายในอินเทอร์เน็ตเพียงพิมพ์คำว่า “อย่าเชื่อโพลล์” เข้าไปก็จะพบบทความตอนที่ 1

“ทำไมเราต้องทำโพลล์ด้วย” เป็นอีกคำถามหนึ่งที่มักจะพบบ่อยๆ คำตอบคือ ถ้าเราไม่มีการทำโพลล์ในสังคมประชาธิปไตย เราจะพบว่า เมื่อเปิดโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ขึ้นมาเพื่อติดตามข่าวสาร เราก็จะพบว่า พื้นที่ข่าวของการให้สัมภาษณ์เกือบร้อยละร้อยเป็นเสียงของคนชนชั้นนำ เช่น นักการเมือง นายทุน นักวิชาการ นักวิเคราะห์ข่าว และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น ผลที่ตามมาคือ สังคมก็จะถูกชี้นำโดยชนชั้นนำเหล่านี้ แต่การทำโพลล์เป็นการทำให้ “เสียงของคนทุกชนชั้นสำคัญ”

“โพลล์เป็นการชี้นำหรือไม่” คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิตเลยทีเดียว ผมจึงตอบเชิงคำถามกลับไปว่า มีอะไรบ้างที่มนุษย์พูดออกมาและไม่เป็นการชี้นำ เพราะทันทีที่มนุษย์พูดหรือแสดงพฤติกรรมอะไรออกมาล้วนแต่มีส่วนชี้นำด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่จะพูดทิ้งท้ายว่า “แล้วแต่จะพิจารณา” ก็ตาม ดังนั้นเมื่อคณะวิจัยตระหนักถึงเรื่องการชี้นำจึงต้องหาทาง “ลด” การชี้นำ แต่ไม่มีทางหมดไปได้ โดยอาศัยหลักสถิติและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

บางคนโจมตีว่า “โกหกยิ่งกว่าโกหกคือ สถิติ” เป็นสำนวนของผู้ที่ต้องการหักล้างการใช้หลักสถิติและต่อต้านการทำโพลล์ ผมจึงชี้ให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้ที่นักวิจัยบางคนใช้หลักสถิติเพื่อปกปิดข้อมูลบางอย่างและเปิดเผยบางอย่าง แต่เราก็จะพบว่า “มันง่ายกว่าที่จะโกหกโดยไม่มีตัวเลขทางสถิติมายืนยัน” และสังคมมักจะถูกคนบางกลุ่มโกหกผ่านสื่อมวลชนโดยไม่มีข้อมูลสถิติมารับรองความถูกต้องอยู่บ่อยๆ เช่น นักการเมืองบางคนบอกว่าผู้สมัครของตนชนะการเลือกตั้งแต่ไม่มีข้อมูลวิจัยใดๆ มายืนยัน

ล่าสุดมีนักการเมืองบางคนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านความเติบโตในฐานเสียงของฝ่ายตรงข้ามต้องออกมาโจมตีโพลล์สำนักต่างๆ ว่า นักทำโพลล์เป็นพวกมักง่าย ทำโพลล์มากี่ครั้งๆ ในอดีตที่ทำนายผลการเลือกตั้งก็ผิดพลาดมาตลอด ซึ่งเราลองมาดูกันว่าใครเป็นพวกมักง่ายในข้ออ้างที่พูดโดยต้องการ “ชี้นำ” สังคมให้คล้อยตามและตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

เอแบคโพลล์ทำนายผลการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 ว่า ดร.พิจิตต รัตตกุล จะชนะการเลือกตั้ง ต่อมาสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เอแบคโพลล์บอกว่านายสมัคร สุนทรเวช จะได้เกินกว่า 1 ล้านคะแนน และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี พ.ศ. 2551 เอแบคโพลล์ทำนายว่า นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้ร้อยละ 44.07 ผลการเลือกตั้งจริงได้ ร้อยละ 45.93 และในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ปี 52 ในโค้งแรก เอแบคโพลล์พบว่า ม.ล.ปลื้มได้ร้อยละ 37.0 แต่ยังมีการสำรวจต่อเนื่องไปจนถึงโค้งสุดท้ายที่พบว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ร้อยละ 44.40 และผลการเลือกตั้งจริง ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ ได้ร้อยละ 45.41 ดังนั้นการที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองระบุว่านักทำโพลล์ทำนายผิดพลาดมาโดยตลอด คณะวิจัยเอแบคโพลล์ ก็ต้องขอร้องให้ผู้พูดตรวจสอบข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ใช้สำนวนโวหารชี้นำสังคมโดยเลือกเอาข้อมูลเฉพาะจุดว่าสนับสนุนการชี้นำของตัวเอง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ในต่างประเทศเรียกว่า “พิกกี้” (Picky) หมายถึงพวกที่ชอบหยิบบางจุดบางประเด็นมาสนับสนุนความชอบธรรมในคำพูดของตน แต่ละทิ้งจุดที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตัวเองต้องการชี้นำ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมา จะมีข้อมูลยืนยันให้เห็นว่า ผลโพลล์ใกล้เคียงความจริงมากเพียงไร แต่ก็ “อย่าเชื่อโพลล์” เพราะโพลล์เป็นเรื่องของการสำรวจจากตัวอย่างที่มีสองประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ หลักความเป็นตัวแทน และ หลักของความคลาดเคลื่อน

หลักความเป็นตัวแทนเกิดขึ้นเมื่อให้โอกาสกับการถูกเลือกกับทุกคนในประชากรเป้าหมายที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ดังนั้นสำนักโพลล์ต้องมีฐานข้อมูลลงไปให้ถึงระดับครัวเรือนอย่างครอบคลุม บางสำนักใช้วิธีการโทรศัพท์สัมภาษณ์อย่างเดียวก็จะพบ “ปัญหาแห่งความไม่ครอบคลุม” (Non-Coverage Problem) ถ้าคนที่ถูกศึกษาคิดแตกต่างไปจากคนที่ไม่ถูกศึกษา นอกจากนี้ปัญหาใหญ่หลวงของนักทำโพลล์ในสังคมไทยคือ ส่งนักศึกษาไปเก็บข้อมูลโพลล์เลือกตั้งแบบเฉพาะเจาะจงตามร้านชา กาแฟ ห้างสรรพสินค้า แหล่งผู้คนเดินไปเดินมา ไม่ได้ลงไปที่ครัวเรือน ยิ่งไปกว่านั้น การทำโพลล์โดยให้คนโทรเข้ามาโหวต เสนอตัวเข้ามาตอบเอง เป็นวิธีที่ “ทำลาย” หลักการแห่งความเป็นตัวแทน

หลักของความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนของการทำโพลล์แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการเลือกตัวอย่าง (Sampling Error) และความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตัวอย่าง (Non-Sampling Error) โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้เกิดจากแบบสอบถามที่ไม่มีคุณภาพ เกิดจากอคติของผู้ตอบ และอคติของผู้ถาม รวมถึงการประมวลผลข้อมูลผิดพลาด เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อตระหนักและเล็งเห็นเช่นนี้แล้ว จึง “อย่าเชื่อโพลล์และอย่ายึดมั่นถือมั่น” แต่ก็อย่าดำรงตนในความประมาท อย่ามองข้าม แต่ควรนำข้อมูลผลโพลล์ที่ค้นพบไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ แล้วตัดสินใจด้วยตนเอง เพราะเอแบคโพลล์เชื่อว่า ประชาชนไม่ได้เป็นเพียง “ผู้รับ” หรือ Passive แต่ประชาชนเป็นผู้ที่สามารถตอบโต้หรือไตร่ตรองด้วยตนเองได้ หรือ Active และตัดสินใจเลือกคนที่ใช่สำหรับตนเองในวันเลือกตั้ง

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โทร. 027191546—7 www.abacpoll.au.edu

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๕๔ กทม. เตรียมปรับปรุงพัฒนาระบบการให้บริการงานทะเบียนสำนักงานเขต
๑๗:๑๗ สมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวทางลดก๊าซเรือนกระจก
๑๗:๔๑ กทม. เร่งติดตั้งเสา-ตะแกรงรั้วกั้นเกาะกลางถนนวิสุทธิกษัตริย์ที่ถูกรถชนเสียหาย
๑๗:๐๔ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ขอเชิญชวนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมงาน M-Sci JOB FAIR 2024 หางานที่ใช่ สร้างงาน สร้างโอกาส วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอประชุม รักตะกนิษฐ
๑๗:๒๘ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค นำเสนอโซลูชั่นดิจิทัลลุยตลาดอาคารอัจฉริยะเพื่อความยั่งยืน
๑๖:๒๙ จิม ทอมป์สัน เผยทิศทางการพา แบรนด์ผ้าเมืองไทย ผงาดเวทีโลก ส่องกลยุทธ์การครีเอตผลงานคุณภาพให้สอดรับเทรนด์สิ่งทอระดับสากล
๑๖:๓๘ อาดิดาสจับมือนักฟุตบอลระดับตำนาน ส่งแคมเปญ 2006 JOSE 10 สร้างแรงบันดาลใจและความเป็นไปได้อันไร้ขีดจำกัดให้กับเหล่านักฟุตบอลเยาวชนหญิง
๑๖:๑๐ Maison Berger Paris พาชมเครื่องหอมบ้าน 2 คอลเลคชั่นใหม่ MOLECULE และ JOY จัดเต็มเซ็ตของขวัญ ครบทุกรูปแบบความหอม สร้างบรรยากาศหรูหราพร้อมกลิ่นหอมบริสุทธิ์
๑๖:๕๗ กทม. เตรียมระบบเฝ้าระวัง-ควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 หลังเทศกาลสงกรานต์
๑๕:๑๕ NCC. ผนึก ททท. ขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง ชี้ตลาดท่องเที่ยวเฉพาะทาง (Niche Market) โต ลุยจัดงาน Thailand Golf Dive Expo plus OUTDOOR Fest