หอการค้าฯ คาดเศรษฐกิจขยายตัวไตรมาส 4 ค้าปลีก 2556 เติบโตชะลอ ตามกำลังซื้อ และภาระหนี้สินของผู้บริโภค แนะผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งเร่งปรับตัวรับเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน

อังคาร ๒๐ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๗:๒๓
หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 56 จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้นและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ คาดธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งเติบโตชะลอตามกำลังซื้อและภาระหนี้สินของผู้บริโภค แนะผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งเร่งปรับตัวรองรับเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงผันผวน

เสนอแนะภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของธุรกิจการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว หวังทดแทนกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลง

นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีแรกยังคงชะลอตัวลงเล็กน้อยตามภาวะเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากหน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต่างก็มีการปรับประมาณการตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจของไทยลงเหลือประมาณ 3.8-4.3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ทั้งจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้การส่งออกโดยรวมในครึ่งปีแรกของไทยลดลง ส่งผลให้รายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งออกลดลงตามไปด้วย นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ก็มีราคาลดลงทำให้เกษตรกรของเรามีกำลังซื้อน้อยลงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การค้าชายแดนและการท่องเที่ยวได้เข้ามามีส่วนสำคัญที่ช่วยฉุดให้เศรษฐกิจของเราไม่ทรุดตัวลงไปมากนัก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการค้าชายแดนแทบทุกด่านรอบประเทศของเรามีอัตราการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งตัวเลขนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน และเชื่อว่าในครึ่งปีหลังการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวก็จะยังเป็นตัวสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของไทย ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญ โดยเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรค รวมทั้ง หามาตรการต่าง ๆ มาสนับสนุนและส่งเสริมให้กับทั้งสองธุรกิจนี้

สำหรับเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐและญี่ปุ่นจะดีขึ้น ในขณะที่ยุโรปและจีนคงจะทรงตังหรือดีขึ้นเล็กน้อย พร้อมทั้งคาดว่ารัฐบาลคงจะมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 56 ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 1 ของปี 57 คงจะได้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยเริ่มกระเตื้องขึ้น

นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล ประธานคณะกรรมการค้าปลีกและค้าส่ง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 2556 เติบโตต่ำกว่าประมาณการ โดยอยู่ที่ 7-8% และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวไม่เกิน 10% โดยกลุ่มสินค้าที่ยังขยายตัวดีจะเป็นเฉพาะสินค้าในกลุ่มอาหาร เพราะเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการบริโภค

การชะลอตัวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยหลัก ๆ คือ กำลังซื้อที่ชะลอตัวอันเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ อีกทั้งภาคการส่งออกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อประเด็นเรื่องค่าครองชีพ/ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเริ่มมีการปรับราคาก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนอีก 0.50 บาท/กิโลกรัม ทุกเดือนตั้งแต่ ก.ย. 2556 อีกทั้งถูกกดดันด้วยภาระหนี้สินของครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประมาณ 80% ต่อ GDP ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต เนื่องจากกำลังซื้อที่ลดลงจากเงินจับจ่ายของประชาชนส่วนหนึ่งถูกแบ่งไปใช้สำหรับผ่อนชำระจากการซื้อรถยนต์คันแรก รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่ต่อเนื่อง เป็นผลให้มีการระมัดระวังการใช้จ่าย ตัดลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เปรียบเทียบราคา คำนึงถึงคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันภาคธุรกิจยังอยู่ในช่วงที่รอประเมินแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจ-การเมืองในประเทศ เป็นผลให้ชะลอการลงทุนใหม่และการจ้างงานเพิ่มสัญญาณลบต่าง ๆ เหล่านี้ เริ่มสะท้อนภาพมาสู่การปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่า GDP จะเติบโตเพียง 3.8-4.3% เท่านั้น

ขณะที่ภาคค้าปลีกและค้าส่ง 5 เดือนที่เหลือของปี 2556 นั้น คาดว่าจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และยังไม่มีปัจจัยบวกเสริมที่ชัดเจนที่จะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน ทำให้คาดว่าธุรกิจการค้าปลีกค้าส่งอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้หากไม่ได้รับการสนับสนุน และร่วมมือกันแก้ไข-กระตุ้นกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและเอกชน ภาคค้าปลีกอาจจะขยายตัวได้เพียง 6-8% ทำให้ผู้ค้าปลีกต้องดิ้นรนแข่งขันกันกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่หากจะให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ผู้ค้าปลีกควรเน้นไปที่การร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ ทำงานร่วมกันทั้ง Supply Chain เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการเข้าถึงความต้องการผู้บริโภค พัฒนาคุณภาพสินค้า สร้างความแตกต่าง สร้างมูลค่าเพิ่ม รวมไปถึงลดต้นทุนและความซ้ำซ้อนในองค์กร และที่สำคัญเป็นโอกาสในการวิเคราะห์ตนเอง หาจุดในการพัฒนาและดึงศักยภาพในแต่ละด้านมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งด้านคน เทคโนโลยี และใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ต่อยอดเป็นนวัตกรรม เพื่อรับมือการแข่งขันค้าปลีกไม่เพียงในประเทศแต่เพื่อรองรับการก้าวสู่ AEC อีกด้วย

ไม่เพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่ต้องปรับตัว การเตรียมความพร้อมและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐที่ออกมาล้วนมีบทบาทต่อความอยู่รอดของธุรกิจค้าปลีก ซึ่งหากมีการกระตุ้น สนับสนุน ส่งเสริมที่เหมาะสมก็จะส่งผลดีในองค์รวมต่อภาคธุรกิจ เนื่องจากภาคค้าปลีก เป็นส่วนที่สำคัญและมีผลต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับจำนวนแรงงานและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ทั้งการผลิตบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เป็นต้น

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมและเข้ามาช่วยพัฒนาและกระตุ้นอย่างจริงจัง เพราะหากสามารถดึงกำลังซื้อกลับมาจับจ่ายในประเทศได้จะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและภาคค้าปลีกไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ในระยะสั้น ควรมีมาตรการมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามา Shopping มากขึ้น และส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อทดแทนกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลงส่วนในระยะปานกลาง-ระยะยาว นโยบายสนับสนุนของภาครัฐควรจะมุ่งไปที่การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม การเติบโตอย่างยั่งยืนแบบมีส่วนร่วม รวมไปถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ

- การพัฒนา - เตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนภาคค้าปลีกตลอดทั้ง Supply Chain ทั้งด้าน Logistics ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมไปถึงส่งเสริมให้เกิดการลดต้นทุนในการผลิต-การดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดพลังงาน

- ส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นวัตกรรม ควรส่งเสริมให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งด้านส่งเสริมเงินลงทุนต้นทุนต่ำสำหรับการทำ R&D งานวิจัยเพื่อเพิ่ม Productivity เป็นต้น

- สนับสนุนช่องทางในการพัฒนา ฝึกอบรม เตรียมความพร้อมทางด้านแรงงานให้พร้อมรองรับการแข่งขัน โดยอาจจะต้องมีการปรับรูปแบบการศึกษา ให้เน้นไปที่การเรียนควบคู่ไปกับการปฏิบัติมากขึ้น

- ส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการ Supporting Industry มากขึ้น เพื่อที่จะได้มีทางเลือกและมีต้นทุนที่ต่ำลง รวมไปถึงควบคุมด้านคุณภาพและมาตรฐาน

- การส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ใช้ประโยชน์จากพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นทางเลือกในการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น โดยต้องมีมาตรฐานการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรหลักด้านธุรกิจของภาคเอกชน มีหน้าที่ในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา นอกจากจะทำหน้าที่พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการแล้ว ยังส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส มีจรรยาบรรณ และธรรมาภิบาล เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๑ ALLY ผนึก Mural ลงทุนซื้อหุ้นสมาคมมวยปล้ำสเปน หวังผลักดันมวยปล้ำสเปนขึ้นแท่นลีกหลักในยุโรปและลาตินอเมริกา
๑๖:๓๙ โอกาสจองซื้อหุ้นกู้บริษัทชั้นนำ ช.การช่าง เสนอขายช่วงวันที่ 25 - 29 เมษายน 2567 ชูผลตอบแทน 3.40 - 4.10% ต่อปี อันดับความน่าเชื่อถือ A- ติดต่อผ่าน ธ.กรุงเทพ และ ธ.กรุงไทย
๑๖:๕๔ บางจากฯ สนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาเยาวชนในทักษะแห่งอนาคต ผ่านโครงการ SI Sphere: Sustainable Intelligence-based Society Sphere โดย UN Global Compact Network
๑๕:๑๓ เปิดไลน์อัพ 10 ศิลปินหน้าใหม่มาแรงแห่งปีจาก Spotify RADAR Thailand 2024
๑๕:๐๘ อาร์เอส กรุ๊ป เดินหน้ากลยุทธ์ Star Commerce ยกทัพศิลปิน-ดารา เป็นเจ้าของแบรนด์ และดันยอดขายด้วย Affiliate Marketing ประเดิมส่งศิลปินตัวแม่ ใบเตย อาร์สยาม
๑๕:๒๐ กสิกรไทยผนึกกำลังเจพีมอร์แกน เปิดตัวโปรเจกต์คารินา ดึงศักยภาพบล็อกเชน ลดระยะเวลาธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ
๑๕:๐๖ สเก็ตเชอร์ส จัดกิจกรรม SKECHERS PICKLEBALL WORKSHOP ส่งเสริมสุขภาพและขยายคอมมูนิตี้กีฬา Pickleball ในไทย
๑๕:๕๖ SHIELD จับมือแอสเซนด์ มันนี่ และ Money20/20 Asia จัดกิจกรรมระดมเงินบริจาคแก่มูลนิธิรามาธิบดี
๑๕:๔๓ 'ASW' เตรียมโอนกรรมสิทธิ์ 4 คอนโดฯ ใหม่ ไตรมาส 2 ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และภูเก็ตมูลค่ารวมกว่า 6,600 ล้านบาท
๑๕:๔๑ โก โฮลเซลล์ สนับสนุนเกษตรกรไทย ปูพรมจำหน่ายผลไม้ฤดูกาล สดจากสวนส่งตรงถึงมือคุณ