บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการอ่าน ปลูกจินตนาการของวัยเยาว์ ในงานเทศกาลนิทานในสวนกระดาษ ปีที่ 3

ศุกร์ ๐๖ กันยายน ๒๐๑๓ ๐๙:๐๘
การจะพัฒนาสังคม ย่อมหมายถึงการสร้างคนให้มีคุณภาพ และหนึ่งในวิธีสร้างคนคุณภาพที่ทำได้ไม่ยาก นั่นคือ การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กๆ เพราะการอ่านจะนำไปสู่การคิด วิเคราะห์ กลั่นกรอง พิจารณา รวมทั้งบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งคุณธรรมจริยธรรมให้งอกงาม และเพื่อส่งเสริมให้ ‘คน’ เป็น ‘คนเก่งและดี’ เป็นกำลังหลักของสังคม มูลนิธิเอสซีจี จึงมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน โดยเริ่มจากครอบครัว หน่วยที่เล็กที่สุดแต่ทว่ามีความหมายและสำคัญที่สุดของสังคมนั่นเอง

‘เทศกาลนิทานในสวนกระดาษ’ กิจกรรมจุดประกายให้คุณพ่อคุณแม่นำกระบวนการเล่านิทาน อ่านหนังสือไปใช้กับลูกน้อย เกิดขึ้นโดยมูลนิธิเอสซีจีได้นำกิจกรรมไฮไลต์จาก ‘เทศกาลนิทานในสวน’ มาสร้างความอลังการบนลานกระดาษแห่งจินตนาการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในงานเทศกาลหนังสือครอบครัวนักอ่าน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ร่วมฉลองในวาระที่กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกจาก UNESCO เป็นเมืองหนังสือโลก 2556 (Bangkok World Book Capital 2013) มหานครแห่งการอ่านที่ยั่งยืน

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้กล่าวในวันเปิดงานฯ ถึงความสำคัญของการอ่านไว้อย่างน่าฟังว่า “การอ่าน นอกจากจะก่อให้เกิดความรู้แล้วยังสร้างสรรค์จินตนาการ นำไปสู่ความคิด การกลั่นกรอง การพิจารณา รวมถึงการที่จะช่วยให้เยาวชนคิดดี พูดดี ทำดี มีจำนวนมากขึ้น การสร้างนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่เยาว์วัย ต้องเริ่มต้นจากครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่เป็นจุดแรกที่จะช่วยเยาวชนมีโอกาสอ่านหนังสือได้มากที่สุด”

สำหรับในปีนี้เทศกาลนิทานในสวนกระดาษถูกเนรมิตขึ้นบนพื้นที่กว่า 150 ตารางเมตร ให้น้องๆ และครอบครัวได้ตื่นตาตื่นใจไปกับสวนกระดาษแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์ อุปกรณ์ทุกชิ้นไม่ว่าจะเป็น โต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ ม้าโยก เขาวงกต ล้วนทำจากกระดาษ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมแสนสนุกและเปี่ยมไปด้วยสาระทั้งการแสดงละครนิทาน การแนะนำเทคนิคการใช้หนังสือภาพจากวิทยากรชื่อดังระดับประเทศ อาทิ ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ ครูชีวัน วิสาสะ และคุณชัยฤทธิ์ ศรีโรจน์ฤทธิ์ ให้คุณพ่อ คุณแม่ได้นำกลับไปเสริมสร้างพัฒนาการทั้งด้านไอคิว อีคิว ให้กับลูกน้อย และในงานยังมีกิจกรรมสุดฮิตขวัญใจน้องๆ หนูๆ อย่างกิจกรรมเพนท์หน้าเป็นตัวการ์ตูนหลากสีออกมาสร้างสีสัน สร้างความสุข เรียกเสียงหัวเราะของคุณหนูๆ ได้อย่างน่ามหัศจรรย์

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด พบว่า เด็กและเยาวชนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 39 นาที ส่วนใหญ่หมดเวลาไปกับการดูทีวี เล่นเกม เล่นเน็ต ซึ่งพฤติกรรมละทิ้งการอ่านนี้ ผู้ปกครองสามารถป้องกันไม่ให้ลุกลามได้เพียงใช้กระบวนการเล่านิทาน อ่านหนังสือเป็นประจำ กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก เพราะกระบวนการนี้นอกจากจะเป็นวิธีที่ประหยัด ง่าย และทรงพลังแล้วยังสามารถสร้างช่วงเวลาที่มีคุณภาพของครอบครัว เพียงวันละ 10-15 นาที เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ภาษา ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ผ่านน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความรัก ได้ซึมซับรสนิยมทางศิลปะจากหนังสือภาพ และเติบโตเป็นคนที่รักและผูกพันกับการอ่านจนชั่วชีวิต”

สำหรับครอบครัวที่มาร่วมงานในปีนี้ ก็ได้รับสาระความรู้ ความสนุก และความประทับใจกับกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มูลนิธิเอสซีจี ตั้งใจมอบให้กับทุกครอบครัวกลับบ้านไปอย่างอิ่มเอม เช่นเดียวกับครอบครัวพันธุ์รักษ์ ที่คุณแม่จิตรภรณ์ พาน้องทอฝัน (น้องรุ้ง) อายุ 4 ขวบเศษมาร่วมกิจกรรมด้วยรอยยิ้ม พร้อมย้อนเล่าถึงวิธีการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน ตั้งแต่น้องทอฝันยังเล็กๆ ให้ฟังว่า

“คุณแม่เริ่มใช้กระบวนเล่านิทาน อ่านหนังสือตั้งแต่น้องอายุราว 6 เดือน โดยเลือกใช้หนังสือภาพอย่างเดียว ไม่มีตัวอักษรเพื่อกระตุ้นในเรื่องการสัมผัส หลังจากนั้นพอน้องโตขึ้นนิดก็เริ่มอุ้มลูกนั่งตักอ่านนิทาน เล่าให้ฟังก่อนนอน โดยใช้หนังสือภาพของมูลนิธิเอสซีจีที่นำวรรณกรรมระดับโลกมาแปล ทำทุกวันจนเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวัน ถึงแม้ตอนนี้น้องจะยังอ่านหนังสือไม่ได้ แต่เวลาเห็นหนังสือก็จะชอบเปิดดู มีความคุ้นเคยกับหนังสือ นอกจากนี้การที่เราอ่านให้เขาฟังบ่อยๆ ทำให้น้องมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี สามารถผสมคำศัพท์ที่เคยได้ยินจากในนิทาน กับคำศัพท์ใหม่ที่ได้ยิน”

ด้านครอบครัวตันติเมธานนท์ คุณพ่อกฤติน พาน้องณัฐณิชา (ใบข้าว) มาร่วมงานกล่าวว่า “ผมและภรรยาอยากให้ลูกมีนิสัยรักการอ่าน เพราะได้เห็นเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่เล็กจนโต ผลออกมา คือ ลูกพี่เขาเรียนดี ประพฤติดี ช่วยเหลือตัวเองได้ เราสองคนจึงตั้งใจว่าจะช่วยกันปลูกฝังให้น้องใบข้าวรักการอ่านตั้งแต่ยังเล็ก โดยอ่านหนังสือให้ฟังทุกวันก่อนนอน เรื่องที่หยิบมาเล่าส่วนใหญ่มาจากชุดหนังสือภาพของมูลนิธิเอสซีจี ตอนนี้เขาโตขึ้นก็เริ่มอ่านอะไรได้มากขึ้น และมีการจดจำที่ดี สนใจเรียนรู้เรื่องการผสมคำ สระ วรรณยุกต์ ซึ่งเพื่อนๆ ที่มีลูกรุ่นราวคราวเดียวกันก็ชมว่าลูกเราเก่ง อ่านได้ ผสมคำได้ ทุกวันนี้มีเวลาก็จะพาลูกเขาร้านหนังสือ เขาก็จะคลุกอยู่ในมุมหนังสือเด็ก แล้วก็จะเลือก 1 เล่มที่ชอบกลับมาอ่านที่บ้าน ผมเชื่อว่าการอ่านเป็นสิ่งที่ดีเป็นพื้นฐานที่สำคัญของเด็กวัยนี้ ซึ่งผมคิดว่าเรากำลังให้องค์ความรู้ เป็นสิ่งที่เขาสามารถนำไปใช้ได้ในอนาคต มีค่ามาก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องขวนขวายมาก เลือกใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด และก็อยู่กับสิ่งที่ลูกชอบย่อมเกิดสายสัมพันธ์อันดีในครอบครัว”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4