ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกเห็นพ้อง “นวัตกรรม” เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการแก้ไขปัญหาสุขภาพทั่วโลก

พฤหัส ๑๒ ธันวาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๕๘
ผู้นำและผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจากทั่วโลกได้มารวมตัวกันที่กรุงโดฮาในวันนี้ (10 ธ.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ๆที่จะใช้แก้ปัญหาสุขภาพทั่วโลกอย่างเร่งด่วนที่สุด ณ การประชุม World Innovation Summit for Health (WISH) ครั้งปฐมฤกษ์

(ภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20131210/658697 )

การประชุม WISH ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากเชคกา โมซาบินด์ นัสเซอร์ (Her Highness Sheikha Mozabint Nasser) องค์ประธานมูลนิธิกาตาร์เพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาชุมชน สามารถดึงดูดผู้ร่วมงานได้เกือบ 1,000 คน จาก 67 ประเทศทั่วโลก ทั้งนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบาย ได้แก่ ผู้นำประเทศ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล นักวิชาการ และนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล

ในการประชุมจะมีการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่สามารถใช้งานได้จริงจากทั่วโลก ซึ่งรวมถึงการนำเสนอความก้าวหน้าต่างๆทางด้านเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจใหม่ๆ และวิธีการแก้ปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่โรคอ้วน สุขภาพจิต การดูแลรักษาด้วยความรับผิดชอบ บิ๊กดาต้ากับการดูแลสุขภาพ การดื้อยาต้านจุลชีพ การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการพิเศษด้านสุขภาพและจริยธรรมด้วย

นวัตกรรมต่างๆจะถูกจัดแสดงบนแท่นแสดงสินค้าที่ตกแต่งอย่างทันสมัย เคียงคู่กับเจ้าของผลงานผู้เปลี่ยนแนวคิดให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง

ผู้เข้าร่วมงานนี้จะได้ฟังการบรรยายจากผู้บรรยายคนสำคัญหลายท่าน เช่น ไซมอน สตีเวนส์ ประธานฝ่ายสุขภาพทั่วโลกบริษัท ยูไนเต็ด เฮลธ์ กรุ๊ป (United Health Group), ออง ซาน ซู จี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของพม่า, บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน และจอห์น ดินีน ประธานและซีอีโอบริษัท จีอี เฮลธ์แคร์ (GE Healthcare)

บอริส จอห์นสัน นายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน กล่าวว่า “ปัญหาสุขภาพมากมายลายประเด็นมีความสำคัญในระดับโลก แต่ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็มีปัญหาของตนเอง การที่ผู้นำจากทั่วโลกมารวมตัวกันถือเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิด รวมถึงเรียนรู้นวัตกรรมและความเป็นเลิศจากประเทศอื่นๆ”

ลอร์ดดาร์ซีแห่งเดนแฮม (The Right Honourable Professor the Lord Darzi of Denham) ประธานบริหารของ WISH กล่าวว่า “แวดวงเฮลธ์แคร์กำลังเผชิญกับปัญหาหนักมากมาย ซึ่งเราสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หากทุกประเทศช่วยกันหาหนทางใหม่ที่ทันสมัยในการรักษาและป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เรากระตุ้นให้ผู้คนเกิดความคิดดีๆ และนำมาปรับใช้จริงในประเทศต่างๆทั่วโลก เพื่ออุดช่องว่างระหว่างสิ่งที่เรารู้กับสิ่งที่เราทำได้จริง เมื่อผู้ที่มีอำนาจในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมารวมตัวกัน เราจะสามารถพัฒนาสุขภาพของผู้คนทั่วโลกได้”

การประชุมวันที่ 2 จะมีการเปิดตัวรายงาน Global Innovation Diffusion ซึ่งเป็นการตรวจสอบและเปรียบเทียบระบบสุขภาพของ 8 ประเทศ ได้แก่ กาตาร์ อินเดีย บราซิล สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สเปน และแอฟริกาใต้ เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า มีการสนับสนุน ใช้งาน และแบ่งปันนวัตกรรมทางการแพทย์กันอย่างไร และประเทศเหล่านี้เผยแพร่แนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการดูแลสุขภาพสำหรับประชากรในประเทศอย่างไร

การประชุม WISH ตอบสนองเป้าหมายของมูลนิธิกาตาร์และยกระดับบทบาทของกาตาร์ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์แห่งใหม่ กาตาร์เป็นผู้นำในการปฏิรูปการดูแลสุขภาพในภูมิภาค โดยมีการนำยุทธศาสตร์สุขภาพแห่งชาติที่มีวิสัยทัศน์มาใช้ ขณะเดียวกันมูลนิธิกาตาร์ได้ดำเนินโครงการด้านสุขภาพหลายโครงการ ตั้งแต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับยารักษาโรค ไปจนถึงการวิจัยเกี่ยวกับอนามัยแม่และเด็ก และการดูแลรักษาทางคลินิก

ซาอัด อัล มูฮันนาดี (Engineer Saad Al Muhannadi) ประธานมูลนิธิกาตาร์ กล่าวว่า “มูลนิธิกาตาร์ทำให้วิสัยทัศน์แห่งชาติของกาตาร์ปี 2573 (Qatar National Vision 2030) กลายเป็นความจริง พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการต่างๆที่ช่วยสร้างสังคมที่แข็งแกร่งและมีสุขภาพดี การส่งเสริมนวัตกรรมการดูแลสุขภาพทั้งในกาตาร์และต่างประเทศเป็นสิ่งที่มูลนิธิกาตาร์ให้ความสำคัญ ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติจากทุกมุมโลกสู่การประชุม WISH และสู่ประเทศกาตาร์”

หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:

1. ซีดรา เมดิคัล แอนด์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ (Sidra Medical and Research Center), ธนาคารแห่งชาติกาตาร์ (Qatar National Bank) และกาตาร์ ปิโตรเลียม (Qatar Petroleum) เป็นผู้สนับสนุนระดับเพชรของการประชุม WISH

2. รายงานทั้ง 8 หัวข้อมีดังต่อไปนี้:

การดูแลรักษาด้วยความรับผิดชอบ

ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลกจนหลายประเทศไม่สามารถรับมือได้ สิ่งที่ท้าทายคือ การชะลอการขยายตัวของค่าใช้จ่ายไปพร้อมกับการปรับปรุงคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย

เราจำเป็นต้องขุดรากถอนโคนวิธีการจัดหาและใช้งบประมาณด้านการดูแลสุขภาพ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดต้นทุน หน่วยงานด้านการดูแลสุขภาพต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการให้ความสำคัญกับการจัดหาบริการ เช่น โรงพยาบาลหนึ่งแห่งทำการผ่าตัดได้กี่ครั้ง ไปเป็นให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ในการรักษา เช่น มีผู้ป่วยกี่คนที่อาการดีขึ้น โดยโรงพยาบาลและผู้ให้บริการด้านสุขภาพต้องมีความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติงานของตน

ในปี 2551 สิงคโปร์ได้บุกเบิกโครงการดูแลรักษาที่บ้านสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย และ “ชุมชนแพทย์ประจำบ้าน” สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่กลับเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ถึง 40% และลดค่าใช้จ่ายลงถึง 11 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นยังลดจำนวนผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉินลงได้ครึ่งหนึ่ง ผลลัพธ์ในการรักษาจึงดีขึ้นในขณะที่ปริมาณการรักษาลดลง

ณ โรงพยาบาลไรฮอฟ (Ryhov hospital) ในสวีเดน 60% ของผู้ป่วยโรคไตได้ทำการฟอกไตอยู่ที่บ้าน ช่วยให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างและแพทย์มีเวลามากขึ้น ขณะที่ผลการรักษาก็ดีขึ้นและผลข้างเคียงลดลง

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเริ่มจัดสรรงบประมาณเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การรักษาที่ดี และต้องสนับสนุนความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ซึ่งอาจทำให้มีทางเลือกลดลงและมีการแข่งขันน้อยลง

บิ๊กดาต้ากับการดูแลสุขภาพ

การเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปเป็นวิธีการบำบัดรักษาใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลายอย่างมาก

การติดตามข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงบัตรต่างๆ ช่วยให้เราเห็นภาพได้อย่างชัดเจนมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา

ในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้สร้างแผนที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อแสดงถึงสถานที่ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงสุด ด้วยการติดตามโทรศัพท์มือถือของผู้ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเป็นหวัดหรือป่วยเป็นไข้

ในเมืองลาฮอร์ ประเทศปากีสถาน ผู้เชี่ยวชาญได้รับมือกับการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโรคไข้เลือดออกด้วยการแสดงพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูงสุด และใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อบันทึกสถานที่ที่มีแหล่งน้ำขัง หลังจากนั้นได้มีการทำลายแหล่งน้ำขังหรือนำปลาไปปล่อยเพื่อให้กำจัดลูกน้ำ

อย่างไรก็ดี การเก็บข้อมูลด้วยการติดตามร่องรอยดิจิตอลที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกทิ้งเอาไว้ ซึ่งเรียกรวมๆว่า “บิ๊กดาต้า” ได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกขึ้น เนื่องจากบ่งชี้ว่าเราถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวอย่างมโหฬาร

คณะผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้มีการกำหนดกฎบัตรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดูแลสุขภาพทั่วโลก รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปรับปรุงนโยบายความเป็นส่วนตัวและการเป็นเจ้าของข้อมูล

สุขภาพจิต

การเจ็บป่วยทางจิตส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก แต่กลับเป็นปัญหาหนึ่งซึ่งถูกมองข้ามมากที่สุดในบรรดาปัญหาสุขภาพทั่วโลก ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางเกือบทุกประเทศใช้งบประมาณไม่ถึง 2% ของงบด้านการดูแลสุขภาพทั้งหมดในการรักษาและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดคือ การตอบสนองความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพจิตด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด

ในอังกฤษ ผู้ป่วยจำนวน 1.7 ล้านคนได้รับการบำบัดรักษาโดยนักจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นพิเศษเพื่อช่วยเติมเต็มการให้บริการของแพทย์ ส่งผลให้ผู้ป่วย 2 ใน 3 มีอาการดีขึ้น และช่วยลดจำนวนผู้ที่ลาหยุดงานโดยที่ยังได้รับค่าจ้างด้วย

ในชิลี โครงการยกระดับการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าผ่านความร่วมมือระหว่างจิตแพทย์และแพทย์ที่ทำการรักษาในเบื้องต้น ได้ช่วยให้อัตราการฟื้นตัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากระดับ 30% เป็น 70% และพิสูจน์ว่าคุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปด้วย

ขณะเดียวกันบางประเทศได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษาโดยจิตแพทย์ได้มากขึ้น โดยโครงการบำบัดรักษาพฤติกรรมการเรียนรู้ (Cognitive Behavior Therapy) ผ่านทางอินเทอร์เน็ตในออสเตรเลียที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมกว่า 7,000 คน พบว่ามีอัตราการฟื้นตัวถึง 30% และมีค่าใช้จ่ายถูกลงถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับการบำบัดรักษาแบบตัวต่อตัว

คณะผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้มีการผลิตเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพจิตที่มีความถนัดหลากหลาย รวมทั้งเรียกร้องให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึง วินิจฉัย และทำการบำบัดรักษาโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ความตายและวาระสุดท้ายของชีวิตเป็นประเด็นต้องห้ามในหลายประเทศ ในแต่ละปีมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายกว่า 100 ล้านคนที่ควรได้รับการรักษาแบบประคับประคอง แต่กลับมีไม่ถึง 8% ที่ได้รับการรักษา ความทุกข์ทรมานที่ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของชีวิตได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมระดับโลก

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ประเทศต่างๆควรจัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และบรรจุการรักษาแบบประคับประคองให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการดูแลสุขภาพ ตลอดจนยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ในโคลอมเบีย ได้มีการประกาศใช้นโยบายแห่งชาติในปี 2550 หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาอาการเจ็บปวดได้ชี้ถึงปัญหาต่างๆในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน ส่งผลให้ยอดขายยาที่มีฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในเวลาเพียง 3 ปี

ในยูเครน แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาแบบประคับประคองราว 500,000 คน แต่มีโครงการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพียง 9 โครงการ และสถานดูแลผู้ป่วยเพียง 650 แห่ง ในเดือนพฤษภาคม 2556 รัฐบาลยูเครนได้ผ่อนปรนกฎหมายซึ่งกำหนดให้แพทย์ 4 คนต้องลงชื่อในใบสั่งยาที่มีฤทธิ์รุนแรง และอนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถเก็บยากลุ่มโอปิออยด์ไว้ที่บ้านได้เป็นเวลา 15 วัน

ในรัฐเกรละ ประเทศอินเดีย ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายอาสาสมัครช่วยดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน โดยรัฐเกรละถูกขนานนามว่าเป็น “ดวงประทีปแห่งความหวัง” (beacon of hope) ที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมดทั่วประเทศ แม้ว่าประชากรในรัฐจะมีเพียง 3% ของทั้งประเทศก็ตาม

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในที่ที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาสมัยใหม่จากตะวันตกได้นั้น ก็ควรจัดหาแพทย์พื้นบ้านเพื่อให้บริการตรวจรักษาแทน

การดื้อยาต้านจุลชีพ

เรากำลังจะพ่ายแพ้ให้กับโรคติดเชื้อเพราะเชื้อโรคเริ่มดื้อยาสมัยใหม่ หากไม่มีการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อโรคดื้อยา ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การผ่าตัดพื้นๆอย่างการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกเทียมอาจกลายเป็นการผ่าตัดที่อันตรายเกินไป

“สิ่งที่ฉันรู้ทำให้ฉันกลัวมาก ไม่ใช่แค่ในฐานะแพทย์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ในฐานะแม่ ภรรยา และเพื่อนคนหนึ่งด้วย” ศาสตราจารย์คุณหญิงแซลลี เดวีส์ (Professor Dame Sally Davies) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์และประธานคณะผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

ทุกปีมีผู้ป่วยมากกว่า 500,000 คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากเชื้อโรคดื้อยา ทางคณะผู้เชี่ยวชาญจึงเรียกร้องให้มีการออกข้อกำหนดที่เคร่งครัดยิ่งขึ้นเพื่อจำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในคนและสัตว์ ตลอดจนดำเนินโครงการต่างๆในการพัฒนาตัวยาใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ขยายของเชื้อโรคดื้อยา เพื่อลดยอดผู้เสียชีวิตทั่วโลกซึ่งอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก

ยาปฏิชีวนะมากกว่า 70% ผลิตขึ้นสำหรับสัตว์ และ 3 ใน 4 ของยาส่วนนี้ใช้เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในสัตว์ ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าควรสั่งห้ามใช้ยาเพื่อจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่การรักษาแบบนี้ และควรใช้วิธีการฉีดวัคซีนแทน เช่นการฉีดวัคซีนปลาแซลมอนในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะได้มากถึง 98%

บริษัทเภสัชภัณฑ์ที่พัฒนายาปฏิชีวนะลดจำนวนลงอย่างมากจาก 18 แห่งในปี 2533 เหลือเพียง 5 แห่งในปัจจุบัน เนื่องจากผลกำไรต่ำ คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่าควรมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการขึ้นราคา การยืดอายุสิทธิบัตร รวมถึงผลตอบแทนขั้นต่ำสำหรับนักพัฒนานวัตกรรม

โรคอ้วน

ปัจจุบันโรคอ้วนระบาดไปทั่วโลกและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน โรคอ้วนเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคเบาหวานประเภท 2 และโรคมะเร็งบางชนิด

ในช่วงปี 2533-2563 คาดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเหล่านี้จะพุ่งขึ้นถึง 77% และอาจทำให้อายุขัยของมนุษย์ลดลงหลังจากที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา และสร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุขของประเทศต่างๆ

ปัจจุบันการลดการบริโภคแคลอรี่และการทำกิจกรรมต่างๆให้มากขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่ในแวดวงสุขภาพเท่านั้น แต่ได้ขยายขอบเขตไปสู่ภาคการศึกษา การค้าปลีก การเกษตร และการเงิน จากการศึกษาเมือง 2 แห่งในประเทศฝรั่งเศสเป็นเวลา 12 ปีพบว่า เมืองที่ให้โรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโรคอ้วน มีอัตราโรคอ้วนต่ำกว่าอีกเมืองหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมอย่างมาก แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในเมืองและเมืองใหญ่ในยุโรป 275 แห่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

นอกจากนั้นยังมีโครงการกิจการเพื่อสังคมที่ดำเนินการในตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ซึ่งประสบความสำเร็จในการลดรอบเอวลงอย่างมาก โดยโครงการ Mind Exercise Nutrition Do It ได้ให้เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้ว ให้บทเรียนการใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉงและการกินเพื่อสุขภาพเป็นเวลานาน 9 สัปดาห์แก่ครอบครัวที่ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของลูกๆ

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขประเทศต่างๆ ต้องประกาศต่อสาธารณชนว่าจะต่อสู้กับโรคอ้วน กำหนดเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงอาหารและพฤติกรรม สร้างมาตรฐานฉลากอาหาร และกำหนดแนวทางการดูแลภาวะโภชนาการ

การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายล้านคน ประเทศที่ได้รับผลกระทบสาหัสที่สุดคือประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วในตะวันออกกลาง โดยในประเทศกาตาร์นั้น ยอดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมีมากกว่าผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจเสียอีก

เราตระหนักถึงคุณค่าของเข็มขัดนิรภัยมานานถึง 40 ปี แต่มีประชากรโลกเพียง 69% ที่ได้รับความคุ้มครองโดยสมบูรณ์จากกฎหมายเข็มขัดนิรภัย

นอกจากนั้นยังมีนวัตกรรมอื่นๆ ซึ่งถูกกล่าวถึงในการประชุม อันประกอบไปด้วย เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ในรถยนต์ อุปกรณ์ป้องกันศีรษะทำจากโฟมสำหรับที่นั่งเด็ก การห้ามพิมพ์ข้อความระหว่างขับรถ และเขตลดความเร็วในย่านที่อยู่อาศัย

ในรัฐวิคตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ได้มีการริเริ่มโครงการ Arrive-Alive เมื่อปี 2544 โดยตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดมากขึ้นและใช้กล้องตรวจจับความเร็วมากเป็นพิเศษ จนยอดผู้เสียชีวิตลดลง 16% ในอีก 3 ปีต่อมา และลดลงถึง 40% ในเขตความเร็วต่ำในเมลเบิร์น

ในเมืองเซาโฮเซโดสคัมโปส ประเทศบราซิล ได้มีการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงความปลอดภัยบนท้องถนน สร้างความตระหนักให้แก่สาธารณชน และกระตุ้นให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ส่งผลให้อุบัติเหตุที่ทำให้ถึงแก่ความตายลดลงถึง 41% ในช่วงปี 2553-2554 แม้ว่าจำนวนยานยนต์จะเพิ่มขึ้น 9% ก็ตาม

คณะผู้เชี่ยวชาญระบุว่า รัฐบาลทุกประเทศควรใช้มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ว่าด้วยความปลอดภัยบนท้องถนน ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงความเสี่ยงบนท้องถนน

ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ต้องปวดหัวกับวิธีการมากมายที่ใช้ยกระดับการดูแลสุขภาพในประเทศ แต่กลับมองข้ามวิธีที่สำคัญที่สุด นั่นคือ การสนับสนุนให้บุคคลแต่ละคนดูแลสุขภาพของตนเอง

ท่ามกลางการขยายตัวของการสื่อสารอิเล็กทรอนิก อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ผู้ป่วยมากมายได้หันมาใช้ช่องทางดังกล่าวเป็นกระบอกเสียงของตนมากขึ้น ในกรณีของสุขภาพจิต การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และการดื้อยาต้านจุลชีพ เครื่องมือนี้นับเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพการรักษาและลดค่าใช้จ่าย

ผลสำรวจประชากร 11 ประเทศในทวีปออสเตรเลีย ยุโรป และอเมริกาเหนือเมื่อปี 2554 พบว่า ผู้ป่วยที่ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองรายงานว่าระบบสาธารณสุขมีคุณภาพดีขึ้น มีข้อผิดพลาดน้อยลง ตลอดจนมีทัศนคติดีขึ้นต่อระบบ

ด้านสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วยแห่งเดนมาร์ก (The Danish Society of Patient Safety) ได้ออกแคมเปญ “Just Ask” เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยกล้าตั้งคำถามเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของตน โดยผลวิจัยชี้ว่า 86% ของกลุ่มเป้าหมายมีการสนทนากับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในระดับที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ WHO กำลังจัดทำรายการตรวจสอบให้บรรดาคุณแม่นำไปใช้ในช่วง 7 วันอันตรายนับตั้งแต่ที่ทารกเกิด เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ว่าเมื่อใดควรจะพาลูกน้อยไปหาหมออย่างเร่งด่วน

คณะผู้เชี่ยวชาญเรียกร้องให้องค์กรสาธารณสุขดำเนินการแต่งตั้งที่ปรึกษาสำหรับผู้ป่วยและครอบครัวเพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและการกำหนดนโยบาย พร้อมกับแนะนำว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเอาผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ

3. สามารถดูรายงานการประชุมได้ที่ http://www.wish-qatar.org/reports/2013-reports

4. ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน กรุณาติดต่อ [email protected]

5. เกี่ยวกับ WISH

การประชุม World Innovation Summit for Health (WISH) ครั้งปฐมฤกษ์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ตั้งแต่วันที่ 10-11 ธันวาคม 2556 เป็นการรวมตัวของผู้นำประเทศ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล นักคิดและนักวิชาการ ตลอดจนนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแก้ปัญหาสุขภาพทั่วโลกด้วยวิธีที่ทันสมัย ยั่งยืน และใช้ได้จริง

จุดมุ่งหมายของ WISH คือการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนานโยบายสุขภาพ ระบบสุขภาพ และการให้บริการดูแลสุขภาพ เพื่ออุดช่องว่างระหว่างสิ่งที่เรารู้กับสิ่งที่เราทำได้จริงในด้านการดูแลสุขภาพและยารักษาโรค

การประชุม WISH ตอบสนองเป้าหมายของมูลนิธิกาตาร์และวิสัยทัศน์แห่งชาติของกาตาร์ปี 2573 นอกจากนั้นยังยกระดับบทบาทของกาตาร์ในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมการดูแลสุขภาพแห่งใหม่ กาตาร์เป็นผู้นำในการปฏิรูปการดูแลสุขภาพในภูมิภาค ขณะที่มูลนิธิกาตาร์ได้ดำเนินโครงการวิจัยด้านสุขภาพหลายโครงการ ซึ่งรวมถึงการสร้างความร่วมมือกับ Weill-Cornell Medical College, Biobank Qatar, Qatar Robotic Surgery Centre, Qatar Cardiovascular Research Centre, Virgin Health Bank และ Sidra Medical and Research Center

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ WISH กรุณาเข้าชม http://www.wish-qatar.org

6. เกี่ยวกับมูลนิธิกาตาร์

มูลนิธิกาตาร์เพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และการพัฒนาชุมชน เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไร ซึ่งช่วยเหลือกาตาร์ในการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบบเศรษฐกิจคาร์บอนไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ด้วยการปลดปล่อยศักยภาพของประชากรเพื่อประโยชน์ของกาตาร์เองและของทั่วโลก มูลนิธิกาตาร์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยชีค ฮาหมัด บิน คาลิฟา อัล ธานี (His Highness Sheikh Hamad Bin Khalifa Al Thani) เจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และมี เชคกา โมซาบินด์ นัสเซอร์ เป็นองค์ประธาน

มูลนิธิกาตาร์ดำเนินภารกิจโดยใช้กลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ การศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัย และการพัฒนาชุมชน ทางมูลนิธิดำเนินกลยุทธ์ด้านการศึกษาด้วยการนำมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่งมาสู่กาตาร์ เพื่อช่วยสร้างรากฐานการศึกษาที่เยาวชนสามารถพัฒนาทัศนคติและทักษะที่จำเป็นสำหรับระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ส่วนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยเน้นไปที่การสร้างนวัตกรรมและขีดความสามารถทางเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาและขายองค์ความรู้ในศาสตร์ต่างๆ และสุดท้ายคือกลยุทธ์การพัฒนาชุมชนซึ่งช่วยสร้างสังคมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า พร้อมกับส่งเสริมวัฒนธรรม รักษามรดกของกาตาร์ และตอบสนองความต้องการอย่างเร่งด่วนในชุมชน

สำหรับรายชื่อโครงการทั้งหมดของมูลนิธิกาตาร์ กรุณาเข้าชม http://www.qf.org.qa

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิกาตาร์ กรุณาติดต่อ [email protected]

7. เกี่ยวกับ ซีดรา เมดิคัล แอนด์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์

ซีดรา เมดิคัล แอนด์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในโดฮา ประเทศกาตาร์ จะเป็นโรงพยาบาลนำร่อง รวมทั้งเป็นสถาบันวิจัยและศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพและความเป็นอยู่ของเด็กและสตรีในภูมิภาคและทั่วโลก ซีดราจะเป็นสถานบริการแบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยที่สุดทั้งในด้านการรักษา การวิจัย และการดำเนินธุรกิจ ในเบื้องต้นซีดราจะรองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง แต่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการขยายตัวเป็น 550 เตียงได้ในขั้นต่อไป

ซีดราแสดงถึงวิสัยทัศน์ของ เชคกา โมซาบินด์ นัสเซอร์ ผู้เป็นองค์ประธาน สิ่งอำนวยความสะดวกอันล้ำสมัยไม่เพียงทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลระดับเวิลด์คลาสเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างทรัพยากรและความเชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ให้กาตาร์ด้วย ซีดราจะได้รับเงินสนับสนุนมูลค่า 7.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐจากมูลนิธิกาตาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดของโลก

ซีดราเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงการวิจัยและการศึกษาอันทรงพลังในกาตาร์ ซึ่งประกอบด้วยสถาบันนานาชาติระดับแนวหน้า เช่น Weill-Cornell Medical College ในกาตาร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านวิชาการของซีดรา เป็นต้น นอกจากนี้ ซีดรายังสร้างความร่วมมือกับสถาบันชั้นนำทั่วโลก เพื่อสร้างระบบนิเวศทางปัญญาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ผ่านการลงทุนในการวิจัยทางการแพทย์

ซีดราจะมีโครงสร้างการทำงานที่เป็นเอกลักษณ์ โดยการร่วมมือระหว่างบุคลากรจะเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุด และสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ซีดราจะผสมผสานความเป็นเลิศด้านการออกแบบ เทคโนโลยี การปฏิบัติงาน และแนวทางการปฏิบัติงานจากศูนย์การแพทย์ทั่วโลกมาไว้ในที่เดียว เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ให้ความรู้สึกพิเศษและคุ้นเคยแก่เจ้าหน้าที่

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

โดฮา, กาตาร์ (EST +7 hours)

นางสาวนัวร์ อัล โคไบซี (Ms. Noor Al Kobaisi)

อีเมล: [email protected]

เว็บไซต์: http://www.sidra.org

แหล่งข่าว: มูลนิธิกาตาร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital