งานเปิดโลกวิศวกรรมขนส่งระบบราง นศ.วิศวลาดกระบังปีที่ 1 ออกแบบรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบรางคู่

ศุกร์ ๑๘ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๗:๑๑
หลักสูตรระดับปริญญาตรีวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดสอนครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2556 และในปี 2557 นี้กำลังเปิดให้ผู้สนใจสมัครเรียน โดยสมัครสอบ(แบบรับตรง)ได้ทางอินเทอร์เน็ต ที่ http://www.reg.kmitl.ac.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 24 เมษายน 2557 แม้จะมีการชะงักของการกู้เงินโครงการสาธารณูปโภคและรถไฟความเร็วสูง มูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่การขนส่งระบบรางและรถไฟฟ้าระบบรางคู่ยังคงมีบทบาทความสำคัญยิ่งยวดต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยและการเชื่อมต่อกับคมนาคมในประเทศและภุมิภาคอาเซียน ดังนั้นการศึกษาเพื่อพัฒนาบ่มเพาะวิศวกรระบบรางจึงเป็นที่ต้องการอย่างสูงเนื่องจากยังขาดแคลนอย่างมากสำหรับงานอาชีพผู้เชี่ยวชาญพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ที่จะรองรับความเจริญก้าวหน้าของอนาคตประเทศไทยและภูมิภาค AEC

ในงานพิธีเปิดงานโลกวิศวกรรมขนส่งระบบราง ณ หอประชุมวิศวลาดกระบัง เมื่อเร็วๆนี้ โดย ศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ สุระกำพลธร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน. ) และศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)(คนที่ 3 จากซ้ายมือ) ร่วมเป็นประธาน เปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.)(คนที่ 1ขวามือ )และนายกฤษณ์ ลิ่วธนกุล ผู้จัดการฝ่ายวางแผนบริการและสารสนเทศเพื่อการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน ) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาแนวคิดในการออกแบบวางระบบการเดินรถไฟฟ้าระบบทางคู่ระหว่างเมือง โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง(สจล.) และกลุ่มชุมชนออนไลน์ Rotfaithai.com เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof.Dr.Suchatvee Suwansawat) คณบดี คณะวิศวลาดกระบัง กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกของไทยที่เปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ได้จัดกิจกรรม เปิดโลกวิศวกรรมขนส่งระบบราง ด้วยความร่วมมือจาก สวทน.และองค์กรต่างๆ โดยให้บรรดานักศึกษาคนรุ่นใหม่ชั้น ปีที่ 1 ในหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางได้ค้นคว้าวิชาการและระดมความคิดในการออกแบบวางระบบการเดินรถไฟฟ้าระบบรางคู่เพื่อการคมนาคมระหว่างเมือง (Intercity Train) แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คน ในแต่ละกลุ่มจะนำเสนอวิธีในการออกแบบการเดินรถไฟแบบปกติโดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก BTS มาให้ความรู้ ฝึกฝนการออกแบบการเดินรถไฟสายด่วน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Airport Rail Link มาถ่ายทอดประสบการณ์ การวางผังเมืองให้มีประสิทธิภาพ กำหนดปริมาณประชากร และจำนวนรถไฟเพื่อตอบสนองความต้องการเรียนรู้การทฤษฎีพื้นฐานการเคลื่อนที่ของรถไฟ โดย อ.มนต์ศักดิ์ มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นอกจากนี้ยังเขียนโปรแกรมเพื่อกำหนดกราฟความเร็วและความเร่งของรถไฟระบบรางคู่โดยใช้โปรแกรม MATLAB โดย อ.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์มาให้คำแนะนำ และเรียนรู้เทคโนโลยีอันก้าวหน้าในการวางตารางการเดินรถไฟเมื่อมีการเชื่อมต่อเส้นทางเดินรถไฟหลายสาย

4 กลุ่มนักศึกษาวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.นำเสนอแนวคิดได้ออกแบบการขนส่งทางรางในรูปแบบของรถไฟฟ้าระบบรางคู่ เพื่อการคมนาคมระหว่างเมือง (Intercity Train) โดยใช้กำลังไฟฟ้า ขนาด 25 กิโลวัตต์ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ช่วยประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 Eastern Bangkok Metro System โดยมี นายนพณัฐ ตีระพงศ์ไพบูลย์ เป็นหัวหน้าทีมนำเสนอรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบรางคู่ เส้นทาง บางซื่อ(กรุงเทพฯ) - ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 61 กิโลเมตร ที่มาของผลงาน ต้องการแก้ปัญหาเขตชุมชน และโซนธุรกิจหนาแน่นด้วยคมนาคมทันสมัย โดยความเร็วเฉลี่ยสายเมือง (City Line) 90 km/hr สายด่วน (Express Line) 140 km/hr เวลาระหว่างขบวนรถไฟ (Headway)สำหรับ City Line (Peak/off-Peak) 7/10 นาที และสำหรับ Express Line (Peak/off-Peak) 20/30 นาที

กลุ่มที่ 2 C&C Rail Infrastructure and Service โดยมีนายพรกมล นวเสนา เป็นหัวหน้าทีมนำเสนอรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบรางคู่ เส้นทาง ฉะเชิงเทรา – ชลบุรี ระยะทาง 60 กิโลเมตร ที่มาของผลงาน เส้นทางที่มีจำนวนสถานีน้อย แต่ผ่านเขตอุตสาหกรรม โดยเป็นกลุ่มที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านก่อสร้างและซ่อมบำรุงของเส้นทางและรางรถไฟ ความเร็วเฉลี่ยสายเมือง (City Line) 110 km/hr สายด่วน (Express Line) - km/hr (ไม่มีสายด่วน) ส่วนเวลาระหว่างขบวนรถไฟ (Headway) สำหรับ City Line (Peak/off-Peak) 15/20 นาที และสำหรับ Express line (Peak/off-Peak) - นาที

กลุ่มที่ 3 Northern East-coast Transit โดยมี นายจักรภัทร เสถียรภักดิ์ เป็นหัวหน้าทีมนำเสนอ รถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบรางคู่ เส้นทาง ชลบุรี – พัทยา ระยะทาง 60 กิโลเมตร ที่มาของผลงานเพื่อพัฒนาเส้นทางใกล้กับเมืองท่องเที่ยวตอนบนของสายเดินรถไฟด้านตะวันออกไประยอง ความเร็วเฉลี่ยสายเมือง (City Line) 90 km/hr สายด่วน (Express Line) 140 km/hr เวลาระหว่างขบวนรถไฟ (Headway) สำหรับ City Line (Peak/off-Peak) 10/20 นาที และสำหรับ Express Line (Peak/off-Peak) 30/60 นาที

กลุ่มที่ 4 Southern East-coast Transit โดยมี นายรัฐศักดิ์ ประทานวรปัญญา เป็นหัวหน้าทีมนำเสนอรถไฟฟ้าระหว่างเมือง ระบบรางคู่ เส้นทาง พัทยา – พลูตาหลวง (ระยอง) ระยะทาง 79 กม.ที่มาของผลงานมุ่งสร้างสรรค์คมนาคมใกล้กับเมืองท่องเที่ยวตอนล่างของสายเดินรถไฟด้านตะวันออกไประยอง ความเร็วเฉลี่ยสายเมือง (City Line) 140 km/hr สายด่วน (Express Line) 140 km/hr เวลาระหว่างขบวนรถไฟ (Headway) สำหรับ City line (Peak/off-Peak) 15/30 นาที และสำหรับ Express Line (Peak/off-Peak) 30/45 นาที

ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ (Dr. Nuttawut Lewpiriyawong) ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวถึงเส้นทางสู่อาชีพวิศวกรรถไฟฟ้าว่า “หลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง (Rail Transportation Engineering) เป็นหลักสูตรที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้เปิดสอนครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา โดยเปิดสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี จำนวน 145 หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 15 สัปดาห์ต่อภาคการศึกษา สาระสำคัญที่เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการขนส่งระบบราง ได้แก่ ส่วนประกอบของรถไฟและราง, การสร้าง ตรวจสอบ และซ่อมบำรุงระบบราง, ระบบขับเคลื่อนต่างๆ ของรถไฟ เช่น ไฟฟ้า สนามแม่เหล็ก และน้ำมัน, ความปลอดภัยและความสบายของผู้โดยสาร, การสึกหรอ และการซ่อมบำรุงของรถไฟ, การควบคุมและติดตามการเดินรถไฟ, ระบบรถไฟความเร็วสูง

สำหรับในปีการศึกษา 2557 นี้จะเปิดรับนักศึกษาใหม่อีกจำนวน 50 คน โดยคุณสมบัติของผู้สมัครคือ สำเร็จการศึกษาหรือกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์ GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.75 ผู้สนใจสมัครเรียน สมัครสอบ(แบบรับตรง)ได้ทางอินเทอร์เน็ต ที่ http://www.reg.kmitl.ac.th ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 24 เมษายน 2557

จากผลสำรวจพบว่าในปี 2558 ความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางในประเทศไทยมีมากกว่า 2,000 คน ในการเรียนวิศวกรรมขนส่งทางราง ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นี้ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้วุฒิการศึกษาเป็นวิศวกรรมบัณฑิต (วศ.บ.) สามารถประกอบอาชีพที่ท้าทายและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมและบริการขนส่งทางรางในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ วิศวกร นักวิจัย หรือ อาจารย์ ในสาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง เช่น วิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง และวิศวกรรถไฟดีเซล รวมทั้งยังสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมขนส่งทางรางของประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก สอดคล้องกับการก้าวสู่การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งผู้ที่เรียนจบสาขานี้จะเป็นบุคลากรที่ต้องการในภูมิภาค อาเซียนด้วย”

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา