เปิดบันทึกเรื่องเล่า “จากความเชื่อ...สู่ความจริง” “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร รางวัลยอดเยี่ยมด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จากยูเนสโก

ศุกร์ ๑๘ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๗:๐๒
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา มีโครงการด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทยถึง 10 ผลงานที่สามารถคว้ารางวัลอันทรงเกียรติจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มาได้เป็นผลสำเร็จ โดยล่าสุด ในปี 2556 ที่ผ่านมา โครงการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ทำผลงานโดดเด่นจนได้รับการยกย่องให้รับรางวัลยอดเยี่ยม อันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากองค์การยูเนสโก ซึ่งถือเป็นโครงการแรกและโครงการเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลระดับนี้

พระบรมธาตุมหาเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีสัณฐานรูประฆังคว่ำ นับเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ และสูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เริ่มสร้างพระบรมธาติเจดีย์องค์นี้ขึ้นพร้อมกับวัดเมื่อปี พ.ศ.2371 แต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็ถึงแก่พิราลัยไปก่อน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้เป็นทายาทได้สร้างพระเจดีย์ต่อจนแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4

เรื่องราวของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ซึ่ง พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) ระบุไว้โดยสังเขปว่า “ตามหลักฐานเอกสารจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ พบว่ามีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นไปประดิษฐานบนพระเจดีย์องค์ใหญ่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 เป็นต้นมา เวลาผ่านล่วงเลยไปนับร้อยปีเรื่องราวของพระบรมสารีริกธาตุเริ่มเลือนหายออกไปจากประวัติของวัด ไม่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด จนกระทั่ง ปี 2498 มีการชำระประวัติวัดประยุรวงศาวาสใหม่ และกล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุบนพระบรมมหาธาตุเจดีย์เป็นครั้งแรกว่า “เชื่อกันว่าพระเจดีย์องค์ใหญ่นี้เป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ” ซึ่งแสดงถึงความเชื่อสืบๆ กันมาว่ามีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายในพระบรมธาตุมหาเจดีย์ โดยไม่มีพยานบุคคล รู้เห็น หรือเอกสารหลักฐานชี้ชัดว่าบรรจุไว้ตรงส่วนไหนและตั้งแต่เมื่อไหร่”

จนกระทั่งมีการบูรณปฏิสังขรพระบรมธาตุมหาเจดีย์ และพรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา ในช่วงปี 2549-2550 มีการขึ้นสำรวจความเรียบร้อยของงานบนองค์พระเจดีย์ ซึ่ง พระพรหมบัณฑิต เล่าให้ฟังว่า “ได้พูดคุยกันกับคณะกรรมการว่า เราน่าจะต้องขึ้นไปสำรวจความเรียบร้อยของงาน พร้อมหาที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากศรีลังกา ซึ่งกรรมการท่านหนึ่งบอกว่าให้เจ้าอาวาสปีนเอง อาตมาก็บอกว่า ถ้าหาก รศ.สมศักดิ์ ธรรมเวชวิถี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบัง ยอมปีนขึ้นไปสำรวจพร้อมกันอาตมาก็ยินดีที่จะปีนขึ้นไปด้วย สรุปแล้วก็ปีนกันขึ้นไป โดยอาตมาเป็นคนนำ ตอนแรกตั้งใจว่าจะปีนขึ้นไปนิดเดียว แต่พอปีนขึ้นไปมันลงไม่ได้ เพราะทางขึ้นค่อนข้างแคบ เลยต้องปีนกันจนถึงปลายสุดของปล้องไฉนซึ่งอยู่ที่ความสูง 50 เมตร จากองค์พระเจดีย์ที่สูงถึงกว่า 60 เมตร”

เมื่อมองลงมาจากด้านบนองค์พระเจดีย์ สิ่งที่ปรากฎให้เห็นคือ บริเวณวัดในมุมมองใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รั้วเหล็กสีแดงที่มีความงดงามอย่างน่าประหลาดใจ “เป็นมุมมองที่อยู่มาไม่เคยได้เห็น รั้วเหล็กสีแดงตรงกลางวัดทอดยาวจากประตูเป็นเส้นตรงจากเจดีย์ สวยงามมาก แบ่งวัดออกเป็น 2 ซีก เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสถาปัตยกรรม 2 แบบ ทั้งแบบไทย และแบบตะวันตก ก่อนลงจากพระเจดีย์ อาตมาอธิษฐานจิต แล้วกิดความรู้สึกอย่างแปลกประหลาดว่าข้างบนต้องมีของดีอยู่เป็นแน่แท้ พอลงมาก็ประชุมกันต่อเลยว่าต้องรีบกลับขึ้นไปสำรวจอีกครั้ง”

“หลังจากนั้นจึงเริ่มสำรวจด้วยการเคาะตามจุดต่างๆ จนกระทั่งพบห้องลับอยู่ทางด้านทิศตะวันออก บริเวณฐานของระฆังก่ออิฐ 2 ชั้น ปิดปากห้องลับแล้วฉาบปูนสีขาวทับไว้อย่างกลมกลืน จึงไม่มีใครพบเห็นตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่พบในห้องลับ ประกอบไปด้วยเศียรพระพุทธรูป เครื่องเขิน ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่รายล้อมด้วยพระพุทธรูปบูชาสมัยต่างๆ เมื่อเปิดฝาออกก็จะพบสถูปจำลองทรงเดียวกับพระบรมธาตุมหาเจดีย์ตั้งอยู่ท่ามกลางพระพุทธรูป 4 องค์ ทำจาก ทอง นาก เงิน ส่วนฐานของสถูปทำด้วยเงิน ด้านบนครอบด้วยกระจกสีขาวใส ภายในสถูปมีแผ่นทองคำม้วนกลมขนาดเท่าปลายนิ้วก้อยห่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ นอจากนี้ยังพบพระบรมสารีริกธาตุ มีสีขาว สัณฐานขนาดเท่าเมล็ดถั่วและข้าวสารหัก ที่บรรจุไว้ในผอบเงินส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในล็อกเก็ตรูปหัวใจทำด้วยเงิน”พระพรหมบัณฑิต กล่าว

หลักฐานสำคัญที่ทำให้เรื่องเล่า “จากความเชื่อ...สู่ความจริง” ที่ค้นพบเป็น “กระดานชนวน” ซึ่งเขียนด้วยลายมือ พระครูสาราณิยคุณ (พระสุมห์ปุ่น) ทั้ง 2 ด้าน โดยมีคำจารึกเป็นอักษรไทยว่า “พระสมุห์ปุ่น ได้จารึกพระธรรมประจุพระเจดีย์ ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 หลัง ปีมะแม พระพุทธศาสนา 2450 เป็นส่วนอดีต 2549 ส่วนอนาคต ขอให้เป็นปัจจัยแด่ พระวิริยาธิกโพธิญาณในอนาคตกาลเทอญ”

พระพรหมบัณฑิต ได้นำพระบรมสารีริกธาตุ และพระเครื่องที่ค้นพบไปประดิษฐานเป็นการชั่วคราวให้ประชาชนได้สักการะบูชาที่วิหารพระพุทธนาคก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุบางองค์กลับไปบรรจุในพระเจดีย์ตามเดิมหลังบูรณะเสร็จ ส่วนพระพุทธรูปบูชา และพระพิมพ์ที่ค้นพบทั้งหมดถือเป็นสมบัติของพระศาสนาและเป็นมรดกของแผ่นดิน ทางวัดประยุรวงศาวาสวรวิหารจะนำบางส่วนเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์พระ “ประยูรภัณฑาคาร”ซึ่งอยู่ในอาคารพิพิธภัณฑ์พรินทรเปรียญปริยัติธรรมศาลา

อีกหนึ่งเรื่องราวจากการตกผลึกทางความคิดที่พระพรหมบัณฑิตเปิดประเด็นไว้อย่างน่าสนใจ คือ แนวคิดเรื่องเสาแกนกลางของพระบรมธาตุมหาเจดีย์ “ตัวพระเจดีย์ เป็นสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา ความอัศจรรย์อยู่ตรงที่เทคนิคการสร้างที่เป็นวงกลม ตรงระฆังคว่ำจะมีลักษณะเป็นผนังชนกัน เหมือนนำคนมายืนหันหน้าแล้วผลักเข้าหากัน ยอดตั้งแต่บัลลังก์ขึ้นไปจนถึงปลียอดรวมถึงปล้องไฉนอยู่ด้านบนวางทับกัน สร้างให้มีส่วนโค้งชนกันเพื่อจะได้ยันกัน ส่วนด้านในสร้างเป็นลักษณะโดม ค้ำกันไว้ ใต้ฐานด้านบนจะเป็นวงแหวน ถ่ายน้ำหนังลงไปชนกันทุกทิศ ถ้าพังอันใดอันหนึ่งจาก 8 ด้าน ก็จะพังทั้งหมด ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วตอนแรกที่เราคิดกันว่าเสาแกนกลางจะเป็นส่วนที่รับน้ำหนัก แท้จริงแล้วไม่ใช่ แต่ส่วนด้านข้างเป็นตัวรับน้ำหนักแทน เพราะฉะนั้นหากจะบอกว่าเทคนิคที่ใช้ในการสร้างพระเจดีย์เป็นของอยุธยาเพียงอย่างเดียวนั้น คิดว่าคงไม่ใช่ แต่เป็นการนำเทคนิคของสมัยอยุธยา และแนวคิดของตะวันตกมาผสมผสานกัน”

“ประเด็นคือทำอย่างไรจะให้เจดีย์เป็นทรงกลม เวลาสร้างจริงๆ ไม่เหมือนในรูปถ่าย เขาก็เลยใช้ซุงเป็นแกนกลาง และทำเป็นรัศมี เอาอิฐมาหุ้มเสาแกนกลาง ส่วนข้างนอกทำเป็นเจดีย์ล้อม 18 องค์ แล้ววัดระยะจากรัศมีให้เท่ากัน รอบๆ ส่วนด้านนอกมี 54 คูหา คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมต้องเป็น 18 หากเราคิดในหลักทางพระพุทธศาสนามันดูเหมือนจะไม่เข้าสักเท่าไหร่ อย่างเช่น ถ้าเป็นธรรมจักร จะเป็น 12 บ้าง 24 บ้าง พอคิดในมุมใหม่จึงตกผลึกได้ว่า น่าจะเป็นเทคนิคของฝรั่ง อธิบายให้เห็นอย่างชัดเจนได้ว่า เขาคิด 360 องศา ซึ่งฐานเลขของมันไม่ใช่เลข 10 เราลองแบ่งดู ถ้าครึ่งหนึ่งคือ 180 เอาเลข 0 ออกก็จะได้ 18 ซึ่งหมายถึงเจดีย์ 18 องค์ โดยวางให้ห่างเท่าๆ กัน พอคิดให้ลึกเข้าไปอีกก็พบว่า ฐานเลข 360 องศามาจากเปอร์เซีย โดยเปอร์เซียรับวัฒนธรรมมาจากชาวบาบิโลน และบาบิโลนเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่อง 360

พระพรหมบัณฑิต กล่าวปิดท้ายว่า “สิ่งที่คิดขึ้นมานี้ ทำให้เราสามารถเชื่อมโยงได้ว่าต้นตระกูลบุนนาค ที่มีเชื้อสายมาจากเปอร์เซีย ซึ่งรับวัฒนธรรมของบาบิโลนที่เป็นผู้คิดเรื่องเวลา จักรราศี หรือวิธีคิดแบบ 360 องศานั่นเอง”

ทั้งหมดนี้ คือ การเปิดบันทึกเรื่องราวของ “พระบรมธาตุมหาเจดีย์” จากเรื่องเล่าที่นำมาสู่เรื่องจริง รวมถึงการตกผลึกทางความคิดของ พระพรหมบัณฑิต ในการอธิบายความเกี่ยวกับเรื่องเสาแกนกลางของพระเจดีย์ไว้อย่างน่าอัศจรรย์

สำหรับพิธีมอบรางวัลยอดเยี่ยม (อันดับ 1) หรือ Award of Excellence ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากองค์การยูเนสโก ให้กับวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร จะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ 23 เมษายน 2557 ส่วนงานสมโภช มูลนิธิสิริวัฒนภักดี ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงาน เตรียมเนรมิตรพื้นที่วัดเป็นเพลินวันวาน ตลาดโบราณที่ผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชุมชนกะดีจีน การออกร้านจำหน่ายอาหารและสินค้า ถ่ายภาพย้อนยุค พร้อมกิจกรรมและการแสดงสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2557

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital