วิถีชีวิตตลาดค้าส่งมะม่วงไทยโกอินเตอร์

อังคาร ๒๙ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๑:๑๒
มะม่วง (Mango) จัดเป็นพืชประเภทไม้ผลเศรษฐกิจที่มีความสำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทยเห็นได้จากทุกพื้นที่ในจังหวัดและทุกภาคของประเทศ ต่างนิยมปลูกมะม่วงกันเกือบทุกครัวเรือนไม่ว่าจะปลูกเพื่อใช้อาศัยร่มเงาของใบ หรือแม้แต่ปลูกเพื่อเอาผลไว้บริโภค กรณีที่ผลผลิตมากเกินความต้องการบริโภคก็สามารถนำไปจำหน่ายในตลาดได้อีกด้วย

ถ้ากล่าวถึงตลาดกลางค้าส่งมะม่วงขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ในการรวบรวมลูกสวนและผู้ค้ามะม่วงเพื่อตอบสนองความต้องการตลาดในประเทศและส่งออก หลายคนที่เป็นผู้ค้ามะม่วงประเภททั้งขายส่งและขายปลีก รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ชื่นชอบรสชาติของมะม่วง คงไม่ปฏิเสธว่าไม่รู้จัก “ตลาดสี่มุมเมือง” ซึ่งถือเป็นตลาดกลางค้าส่งมะม่วงที่มีคุณภาพขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ทุกวันนี้ถ้าใครต้องการพบเห็นภาพความคึกคักของผู้ค้ามะม่วงที่หลั่งไหลเข้ามาจากทั่วสารทิศ เพื่อนำสินค้าไปกระจายต่อให้แก่ ผู้ค้ารายย่อย และผู้ค้าปลีก ในตลาดขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ อาทิ ตลาด อตก. (องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร) ตลาดมหานาค และส่งต่อไปยังตลาดต่างจังหวัดอย่างเช่น ตลาดภาคตะวันออก คงต้องเข้ามาดูความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้เฉพาะตลาดสี่มุมเมืองเท่านั้น

ใครรู้บ้างว่าทุกวันนี้ กระบวนการค้า-ขาย มะม่วงที่มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและนอก นั้นมีเทคนิค ขั้นตอน รวมถึงวิธีการค้า เป็นอย่างไร คุณปวีร์รัฐ พงษ์ธรรมวัฒนา (เจ๊แดง) ผู้จำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ในตลาดสี่มุมเมือง ให้มุมมองการทำธุรกิจไว้อย่างน่าสนใจว่า เดิมธุรกิจของครอบครัวเป็นผู้ค้าส่งข้าวโพดหวานอยู่ที่ตลาดมหานาค โดยปล่อยเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกรปลูกแล้วจะรับซื้อจากสวนมาขายอีกต่อหนึ่ง ด้วยพื้นฐานครอบครัวที่ค้าขายสินค้าเกษตรมายาวนาน จึงนำประสบการณ์เดิมมาต่อยอดจนปัจจุบันได้ขยายกิจการเป็นผู้จำหน่ายมะม่วงน้ำดอกไม้ โดยกลุ่มมีกลุ่มลูกค้าหลักคือ พ่อค้า-แม่ค้า ที่เข้ามาซื้อมะม่วงเพื่อส่งต่ออีกทอดให้ลูกค้าตลาดค้าส่ง-ปลีก ขนาดใหญ่ของประเทศ

ธุรกิจค้ามะม่วงน้ำดอกไม้ ภายใต้แบรนด์ “ปวีร์รัฐ” เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นซัพพลายเออร์ส่งออกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ให้ลูกค้าในประเทศฮ่องกง และจีน จากนั้นจึงขยายตลาดส่งออกให้ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทส่งออกมะม่วงให้ลูกค้าในแถบยุโรป และอเมริกา สำหรับตลาดในประเทศได้ส่งมะม่วงให้บริษัทที่เป็นซัพพลายเออร์ คิงเพาว์เวอร์ และส่งให้ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจมะม่วงน้ำดอกไม้แปรรูปเป็นไอครีมมะม่วงน้ำดอกไม้ใช้ชื่อ ปวีร์รัฐ ในการทำตลาด โดยได้เปิดร้านไอครีมมะม่วงสาขาแรกที่ตลาดจัตุจักร ปี 2257 คาดว่าจะขยายสาขาเพิ่มอีก 5 สาขา ทั้งนี้ จะเลือกทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าเป็นหลัก และเพื่อสร้างการจดจำในแบรนด์สู่กลุ่มลูกค้าให้รู้จักเมนูใหม่ไอครีมข้าวเหนียวมะม่วง ทางร้านจึงใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดด้วยการออกบูธตามงานจำหน่ายอาหารและสินค้าทั่วไป

ปัจจุบันปริมาณยอดขายมะม่วงน้ำดอกไม้เฉพาะปวีร์รัฐเพียงเจ้าเดียว อยู่ที่ประมาณ 11-12 ล้านตัน/ปี ในจำนวนนี้ส่งต่อให้แก่ลูกค้าในประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวลูกค้าจะนำไปกระจายต่อให้แก่ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมถึงส่งให้ห้างซูเปอร์เซ็นเตอร์ชั้นนำด้วย ส่วนตลาดต่างประเทศจะส่งตรงให้บริษัทส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน สำหรับยอดส่งออกในแต่ละปีจะขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก มะม่วงสายพันธุ์ที่ตลาดนิยม คือ มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ห่อ และมะม่วงสีทองห่อโดยสินค้าก่อนจะส่งออกต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากแล็ปที่มีมาตรฐานอย่างกรมวิชาการเกษตรซึ่งสามารถการันตีได้ว่าสินค้าที่ส่งออกนั้นมีความปลอดภัยไม่มีสารพิษตกค้างตามที่มาตรฐานกำหนด ยิ่งมีใบการันตีมาตรฐานคุณภาพสินค้าอย่าง “มาตรฐาน Q” สินค้าดังกล่าวก็สามารถส่งออกได้อย่างไม่มีปัญหา ถ้าไม่มีมาตรฐานตรงนี้สินค้าก็ไม่สามารถส่งออกได้

วางกลยุทธ์การค้า-การแข่งขัน แสวงหากำไร

ตลาดสี่มุมเมือง ถือเป็นแหล่งค้าส่งมะม่วงขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพอับดับต้นๆ ของประเทศสินค้าหลักที่มีปริมาณเข้ามาจำนวนมากได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้ เขียวเสวย ฟ้าลั่น โชคอนันต์ และมะม่วงตามฤดูกาล ซึ่งเทียบปริมาณการค้าส่งมะม่วงในตลาด น้ำดอกไม้ และเขียวเสวย จะอยู่ใน2 อันดับต้นๆ ที่มีศักยภาพ และจะเห็นภาพการค้าขายตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องรอซื้อตามฤดูกาล

เจ๊แดง เผยว่า ถ้าเอ่ยถึงมะม่วงส่งออกคุณภาพ ในวงการบริษัทส่งออกให้ได้ความเชื่อมั่นว่ามะม่วงน้ำดอกไม้จะมีคุณภาพถ้ามาจากตลาดสี่มุมเมือง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพตรงตามมาตรฐานส่งออกได้นั้น เพราะทางตลาดได้กำหนดให้พ่อค้า-แม่ค้า ให้ความสำคัญในแง่การควบคุมคุณภาพสินค้าที่เข้ามาจำหน่ายในตลาด ผนวกกับร้านค้าต่างๆ ได้ให้ความสำคัญต่อการคัดสรรสินค้าคุณภาพให้แก่ลูกค้า ส่งผลให้ระบบการจัดการภายในตลาดเกิดการแข่งขันในแง่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสินค้าก่อนถึงมือผู้บริโภค จึงมีการคัดสรร แยกขนาด แยกเกรดชัดเจน ทำให้สินค้าที่จำหน่ายภายในตลาดมีมาตรฐานกว่าตลาดกลางค้าส่งรายอื่น

ปัจจุบันวิธีการซื้อขายมะม่วงซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ของตลาดสี่มุมเมืองหลักๆ เราสามารถแบ่งได้เป็นร้านค้าขายมะม่วงที่มีแผงประจำในตลาด ในแต่ละวันจะมีลูกค้าเข้ามาเลือกดูสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อขายตกลงราคากัน บางร้านอาจส่งมะม่วงโดยตรงจากสวนให้แก่ลูกค้าประจำเพื่อนำไปขายต่อในตลาดทั่วไป หรือส่งให้บริษัทส่งออก และนำไปแปรรูปสินค้า ขณะที่ผู้ค้าบางส่วนจะเช่าพื้นที่ในลานผลไม้รังสิต (ขายส่งมะม่วงทุกสายพันธุ์) เพื่อคอยซื้อตัดมะม่วงจากแม่ค้าแผงประจำมาขายปลีก-ขายย่อย เพื่อสร้างกำไรอีกต่อหนึ่ง สำหรับกำไรที่ได้จากการค้าขายมะม่วงในตลาดกรณีที่ร้านค้าส่งรับมาจากลูกสวน ร้านจะได้กำไรกิโลกรัมละ 2 บาท แล้วถ้าส่งต่อให้ผู้ค้าปลีกซึ่งขายผลไม้ในตลาดมหานาค ปากคลองตลาด ตลาด อตก. โรงแรม และห้างสรรพสินค้า จะได้กำไรอีกทอดประมาณ 2-5 บาท ต่อกิโลกรัม

ทุกๆ วันนี้ ผู้ค้าในตลาดต้องสังเกตรถที่วิ่งเข้ามาส่งมะม่วงพันธุ์ต่างๆ ว่า มีอะไรบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ ถ้าพันธุ์ไหนมีเข้ามาน้อย กรณีถ้าซื้อตัดไว้ก่อนก็จะขายได้กำไรมากเพราะของในตลาดมีน้อย แต่ถ้าซื้อมะม่วงที่มีปริมาณเข้ามามากจะเกิดภาวะเช่นเดียวกับสินค้าล้นตลาด ภาษาตลาดเรียกว่า ผลไม้ตาย ถ้าเป็นผักเราก็จะเรียกว่า ผักตาย ส่งผลให้การค้าขายทุกวันนี้ พ่อค้า-แม่ค้า จะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ค้าขายในพื้นที่ ยิ่งช่วงฤดูกาลมะม่วงในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ผู้ค้าจะต้องแย่งชิงสินค้าโดยใช้ไหวพริบ ปฎิพาน ประสบการณ์ และเงินทุน เหมือนการเล่นหุ้นในตลาดเลยทีเดียว กรณีถ้าคำนวณความต้องการของตลาดผิดพลาดผู้ค้ามะม่วงที่ซื้อตัดสินค้ามาขายจะต้องแบกรับภาระจากการขายไม่หมดภายในวันเดียว เพราะสินค้าถ้าเก็บไว้นานหลายวันจะทำให้ราคาลดลงและอาจเน่าเสียทำให้ขาดทุน

พ่อค้าอ่วมยอดขายหดกว่าครึ่ง...ชี้กระทบเหตุการณ์บ้านเมือง

คุณสวัสดิ์ บุญญเสธ (พี่โย) ผู้จำหน่ายมะม่วงตามฤดูกาล “คละเกรด” ปลีก-ส่ง ตลาดสี่มุมเมือง เผยว่า ตนเองเป็นผู้ค้ามะม่วงทุกสายพันธุ์มายาวนานกว่า 20 ปี มะม่วงที่จำหน่ายจะคัดเลือกสายพันธุ์ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคตามฤดูกาลและนอกฤดูกาล ได้แก่ เขียวเสวย น้ำดอกไม้ และอื่นๆ สัดส่วนการทำตลาดทั้งหมดแบ่งเป็นสายพันธุ์ละ50 เปอร์เซ็นต์ เริ่มต้นการขายส่งมะม่วงช่วงแรกๆ การค้าดีมากเพราะสมัยก่อนตลาดคู่แข่งยังมีไม่มากนัก เขียวเสวย 1 กิโลกรัม ขายประมาณ100 กว่าบาท สาเหตุที่ราคาขณะนั้นค่อนข้างสูงเพราะผลผลิตมีน้อยความต้องการสูง แต่ในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ปลูกมะม่วงเศรษฐกิจอย่างเช่น เขียวเสวย น้ำดอกไม้ มากขึ้นทำให้ราคามะม่วงทั้ง 2 ประเภท มีราคาลดลง เฉลี่ยราคาในช่วงเทศกาลมะม่วงราคาขายอยู่ที่ 30-40 บาท ต่อ1 กิโลกรัม แต่ถ้านอกฤดูจะขายประมาณ 50-60 บาท ต่อ 1กิโลกรัม

ผลผลิตมะม่วงจากลูกสวนจะมาจากแหล่งใหญ่ เช่น จังหวัดอ่างทอง ชัยนาท นครนายก ปากช่อง เพชรบูรณ์ พิจิตร เป็นต้น โดยเกษตรกรจะเป็นผู้นำผลผลิตมาส่งที่ตลาดเอง มะม่วงที่ขายจึงมีความหลากหลายๆ เกรดมีตั้งแต่มะม่วง เกรดA เกรดปานกลาง และเกรดพอใช้ ซึ่งเป็นเกรดที่จะถูกนำไปแปรรูปขายตามรถเข็นผลไม้ ตลาดนัดทั่วไป สำหรับปริมาณมะม่วงที่เข้ามาส่งในร้านช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 10 ตัน หนึ่งปี 3,650 ตัน ถ้าเป็นกิโลกรัมจะอยู่ที่ 3,650,000 กิโลกรัมต่อปี

“สำหรับสถานการณ์การค้ามะม่วงในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าซบเซามาก ยอดขายทางร้านหายไปกว่า 40-50 เปอร์เซ็นต์ ปัจจัยสำคัญมาจากผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้บริโภคและตลาด ทำให้ปริมาณการซื้อสินค้าไปขายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงเห็นได้ชัดเจน ทั้งลูกค้าตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่และกลุ่มธุรกิจโรงแรม จากเดิมเคยเข้ามาซื้อมะม่วงจำนวนมากต่อครั้ง ขณะนี้ปริมาณสั่งของก็น้อยลงเพราะยังไม่เชื่อมั่นจากสถานการณ์บ้านเมือง คาดว่าหลังจากยุติความขัดแย้งทางการเมืองคลี่คลายลงแล้ว ภาพการค้าขายของตลาดสี่มุมเมืองรวมทั้งการค้าขายในมหภาคจะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่านี้แน่นอน” พี่โย กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4