รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557

ศุกร์ ๐๒ พฤษภาคม ๒๐๑๔ ๐๙:๕๖
“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 บ่งชี้เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หดตัว ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศและ การส่งออกสินค้าที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ว่า “เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยทางการเมือง ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลง ตลอดจนการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่หดตัว ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามทิศทางการใช้จ่ายภายในประเทศ และการส่งออกสินค้าที่หดตัวในช่วงที่ผ่านมา” ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดในรายละเอียดพบว่า

การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี โดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 ที่หดตัวมาจากการจัดเก็บบนฐานการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ -7.4 ต่อปี ในขณะที่การจัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศยังสามารถขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในมีนาคม 2557 หดตัวร้อยละ -18.1 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -20.8 ต่อปี โดยยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่หดตัวร้อยละ -21.8 ต่อปี และยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม. ที่หดตัวร้อยละ -19.4 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมีนาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 58.7 เป็นผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 59.9 ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลดลงเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 12 ปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัวต่อเนื่อง ทั้งในหมวดการก่อสร้าง และหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนได้จากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -9.4 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -6.6 ต่อปี เช่นเดียวกับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมีนาคม 2557 ที่หดตัวร้อยละ -3.5 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี สำหรับการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ -15.2 ต่อปี ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -14.1 ต่อปี

ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ สะท้อนจากการส่งออกสินค้าของไทย ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัวที่ร้อยละ -1.0 ต่อปี จากสินค้าเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวลงมาก ขณะที่กลุ่มสินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ ยังคงขยายตัวดีขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น และกลุ่ม CLMV ตามลำดับ

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานส่งสัญญาณหดตัวเช่นกัน สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2557 หดตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ -10.4 ต่อปี ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 หดตัว มาอยู่ที่ร้อยละ -7.0 ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวลดลงในระดับสูง ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน และอาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2557 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี 8 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2552 โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 84.7 เนื่องจากความกังวลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อเช่นเดียวกับ ภาคบริการที่สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนมีนาคม 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -9.4 ต่อปี ทำให้ใน ไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ที่ หดตัวร้อยละ -5.85 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาจากกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและอาเซียนเป็นหลัก ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปยังคงขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ดี ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมีนาคม 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี ส่งผลทำให้ในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อปี ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดพืชผลสำคัญโดยเฉพาะยางพาราและข้าวโพดตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะสุกร จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และไม่มีสถานการณ์โรคระบาด

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงเช่นกัน สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนไตรมาสที่ 1 ปี 2557 อยู่ในระดับสูงที่ 167.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4