“ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ”

ศุกร์ ๒๕ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๑:๔๙
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความในใจของผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ : แนวทางสู่การปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 20 กรกฎาคม 2557 จากประชาชนที่ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ รถแท็กซี่มิเตอร์ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,257 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาในการใช้บริการรถแท็กซี่ การปรับอัตราค่าโดยสาร และแนวทางการแก้ไขปัญหาในการให้บริการ อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาที่พบจากการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ พบว่า ผู้ที่เคยใช้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.12 ระบุว่า เป็นการปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร เลือกผู้โดยสาร โดยชอบอ้างว่าไปส่งรถ/แก๊สหมด/อยู่นอกเส้นทาง เลือกรับเฉพาะผู้โดยสารชาวต่างชาติ เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 12.72 ระบุว่า เป็นการขับรถไม่ถูกกฎจราจร ขับรถหวาดเสียว ขับปาดหน้า ขับผ่าไฟแดง จอดซ้อนคัน ร้อยละ 11.98 ระบุว่า เป็นคนขับพูดจาหรือมีพฤติกรรมไม่สุภาพกับผู้โดยสาร หรือผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ๆ ร้อยละ 10.09 ระบุว่า เป็นคนขับขาดความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ทอนเงินไม่ครบ เรียกเก็บค่าโดยสารเกินกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนด พาผู้โดยสารไปเส้นทางที่อ้อม ออกนอกเส้นทาง ร้อยละ 6.32 ระบุว่า เป็นสภาพรถเก่า ไม่สะอาด ประตูชำรุด แอร์ไม่เย็น เข็มขัดนิรภัยชำรุด ร้อยละ 4.91 ระบุว่า เป็นคนขับชอบพูดเรื่องการเมือง ร้อยละ 4.75 ระบุว่า ไม่เคยพบเจอปัญหาใด ๆ ในการให้บริการ ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ไม่จอดรับ – ส่ง ผู้โดยสารตามป้าย จอดรถเลยป้าย จอดรถรับ – ส่งผู้โดยสารในเลนกลาง ร้อยละ 2.04 ระบุว่า คนขับรถใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ร้อยละ 2.00 ระบุว่า คนขับชอบถามเรื่องส่วนตัวผู้โดยสาร และ ร้อยละ 6.99 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น คนขับดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ขณะขับรถ มีพฤติกรรมส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ไล่ผู้โดยสารลงกลางทาง สภาพคนขับไม่พร้อม บัตรประจำตัวคนขับไม่ตรงกัน ไม่ชำนาญเส้นทาง พูดเรื่องส่วนตัว เปิดวิทยุเสียงดัง

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีการยอมจ่ายอัตราค่าโดยสารที่สูงขึ้น หากมีการบริการรถแท็กซี่มิเตอร์พิเศษ (VIP) เช่น รถแท็กซี่เฉพาะผู้หญิง (Lady Taxi) หรือรถแท็กซี่ที่มีขนาดรถใหญ่ขึ้น คนขับแต่งกายและพูดจาสุภาพ สามารถพูดภาษาต่างประเทศได้ ไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่ว่าจะไปที่ไหนหรือช่วงเวลาใด และมีการให้บริการที่ดีขึ้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.44 ระบุว่า ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารสูงขึ้น รองลงมา ร้อยละ 20.21 ระบุว่า ไม่ยินดีที่จะจ่ายค่าโดยสารที่สูงขึ้น ขณะที่ ร้อยละ 1.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ต้องทดลองใช้บริการก่อนว่าจะได้รับการบริการคุ้มค่ากับอัตราค่าโดยสารที่จ่ายเพิ่มขึ้นหรือไม่

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อสิ่งที่ต้องการให้พัฒนาในด้านการบริการของคนขับรถแท็กซี่ในด้านต่าง ๆ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.12 ระบุว่า ต้องการให้มีการพัฒนาในเรื่องของการไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร / ไม่เลือกผู้โดยสาร ไม่เห็นแก่ได้ รองลงมา ร้อยละ 17.25 ระบุว่า เป็นความมีระเบียบวินัยในการขับรถ เคารพและปฏิบัติตามกฎจราจร ร้อยละ 16.98 ระบุว่า เป็นการพูดจาและพฤติกรรมที่สุภาพ กับทั้งผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่น ๆ ร้อยละ 8.88 ระบุว่า เป็นการแต่งกายของคนขับที่ดูดี สะอาดสะอ้าน มีความพร้อมในการให้บริการ ร้อยละ 8.31 ระบุว่า เป็นความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ ไม่เอาเปรียบผู้โดยสาร ร้อยละ 6.29 ระบุว่า เป็นการเอาใจใส่ในสภาพความพร้อมของรถที่ให้บริการ ร้อยละ 5.21 ระบุว่า เป็นการมีจิตสาธารณะในการให้บริการ ร้อยละ 4.28 ระบุว่า เป็นความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง ร้อยละ 4.22 ระบุว่า เป็นการจอดรับ – ส่ง ผู้โดยสารเฉพาะตามป้าย เลนในสุดเท่านั้น ร้อยละ 3.37 ระบุว่า ไม่มีพฤติกรรมที่ส่อเจตนาไปทางการก่ออาชญากรรม หรือการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 3.07 ระบุว่า เป็นการละเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ขณะขับรถ ร้อยละ 0.99 ระบุว่า เนื่องจากคนขับแท็กซี่ที่บริการไม่ดี มีเป็นแค่บางส่วน/เป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ในภาพรวมถือว่าดีอยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นด้านที่ควรพัฒนา และ ร้อยละ 2.02 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยของผู้โดยสาร การตรวจสอบประวัติของคนขับ ป้ายทะเบียนประจำตัวผู้ขับที่ไม่ตรงกัน ความเชี่ยวชาญในด้านเส้นทาง มีจุดเรียกบริการแท็กซี่โดยเฉพาะ การลดราคาเชื้อเพลิง รวมไปถึงทักษะ การป้องกันตัวของคนขับที่เกิดจากการก่ออาชญากรรม

ท้ายสุด เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอแนะ หรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 19.87 ระบุว่า ควรบังคับใช้กฎหมายการกระทำผิดอย่างจริงจังและเข้มงวด รองลงมา ร้อยละ 19.83 ระบุว่า ควรตรวจสอบประวัติและมีการคัดเลือกผู้ขับขี่อย่างเข้มงวด ร้อยละ 17.37 ระบุว่า ควรปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม มารยาท วินัยในการขับขี่และการให้บริการ ร้อยละ 14.32 ระบุว่า ควรมีการอบรมผู้ขับขี่ทุก 1 – 2 ปี ร้อยละ 14.05 ระบุว่า ควรกำหนดบทลงโทษการกระทำผิดของผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะให้สูงกว่าผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลธรรมดา ร้อยละ 4.96 ระบุว่า ผู้ขับขี่รถบริการสาธารณะต้องผ่านการอบรมการขับขี่รถสาธารณะไม่น้อยกว่า 1 เดือน / 3 - 6 เดือน / ไปจนถึง 1 ปี ร้อยละ 4.61 ระบุว่า ควรกำหนดอายุของผู้ขับขี่ โดยมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (อายุผู้ขับเฉลี่ย 27.24 ปี) ร้อยละ 2.97 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ มาตรการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารและคนขับ เช่น มีระบบ GPS ระบุตำแหน่งรถ การตรวจสอบประวัติคนขับ ป้ายประจำตัวผู้ขับที่ตรงกับคนขับ เพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่ กำหนดระดับการศึกษาของผู้ที่จะขับรถแท็กซี่ ให้จบการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนต้น/เทียบเท่า ขึ้นไป ควบคุมอายุการใช้งานของรถแท็กซี่ ควรจัดระเบียบสีแท็กซี่ใหม่ มีจุดเรียกใช้บริการรถแท็กซี่โดยเฉพาะ และ ร้อยละ 2.03 ไม่มีข้อเสนอแนะ/ ไม่มีความคิดเห็น

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 100.00 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 49.80 เป็นเพศชาย และ ร้อยละ 49.88 เป็นเพศหญิง และ ร้อยละ 0.32 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 7.88 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 34.08 มีอายุ 25 – 39 ปี ร้อยละ 45.38 มีอายุ 40 – 59 ปี และ ร้อยละ 12.66 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ตัวอย่างร้อยละ 95.70 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.10 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 1.19 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ตัวอย่างร้อยละ 30.07 สถานภาพโสด ร้อยละ 67.30 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.63 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 12.97 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 24.18 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.38 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 42.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 8.91 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่าง ร้อยละ 13.13 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 26.17 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 25.78 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 1.59 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 11.85 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 16.63 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และ ร้อยละ 4.85 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ตัวอย่าง ร้อยละ 16.63 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 8.11 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 27.37 มีรายได้ต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 15.19 มีรายได้ต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 10.66 มีรายได้ต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 14.08 มีรายได้ต่อเดือน มากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.96 ไม่ระบุรายได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๒:๑๔ องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๑๒:๑๒ การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๑๒:๔๔ DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๑๒:๑๐ JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๑๒:๒๓ นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๑๒:๕๗ Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๑๒:๒๘ โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๑๒:๑๐ STEAM Creative Math Competition
๑๒:๔๔ A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๑๒:๔๗ ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้