เกษตรฯ แจงเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปี ขยายตัว 0.8 %

พฤหัส ๓๑ กรกฎาคม ๒๐๑๔ ๑๔:๑๗
เกษตรฯ แจงเศรษฐกิจการเกษตรครึ่งปี ขยายตัว 0.8 % คาดแนวโน้มปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.1 - 3.1 พร้อมเตือนช่วงครึ่งหลังของปี บางพื้นที่ยังเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ประมาณการอัตราการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) พบว่า ขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 โดย สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาบริการทางการเกษตร มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาประมง และป่าไม้ หดตัวลง สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของภาคเกษตรมาจากการวางแผนการผลิตสินค้าเกษตร ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมถึงมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญหลายชนิดก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง สภาพอากาศที่ร้อนจัด และภาวะฝนทิ้งช่วง ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรทั้งในด้านการเพาะปลูกพืช การเลี้ยง ปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นอกจากนี้ การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลยังคงประสบปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) รวมถึงสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ทำให้ผลผลิตกุ้งออกสู่ตลาดลดลง

ด้านนายอนันต์ ลิลา เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวถึงรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า 1. สาขาพืช ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และทุเรียน ซึ่งผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกร สำหรับอ้อยโรงงาน ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากมาตรการโซนนิ่ง (Zoning) ของรัฐที่สนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยโรงงานทดแทน ประกอบกับพืชอื่น ๆ เช่น ข้าว และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีปริมาณน้ำเพียงพอ ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่เปิดกรีดหน้ายางใหม่เพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเนื้อที่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ในปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ปลูกลำไยแทนไม้ผลชนิดอื่นตั้งแต่ปี 2554 เริ่มให้ผลผลิต ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทุเรียนออกดอกดกและมีหลายรุ่นมากขึ้น

สำหรับพืชที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน มังคุด และเงาะ โดยข้าวนาปรัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีน้อยกว่าปี 2556 ประกอบกับสภาพอากาศที่หนาวเย็นยาวนาน ทำให้ต้นข้าวชะงักการเจริญเติบโต เมล็ดลีบ รวมทั้งเกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำ ทำให้ต้นข้าวไม่ได้รับน้ำอย่างเพียงพอ มันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน อีกทั้งพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังแซมในสวนยางพาราไม่สามารถปลูกแซมได้อีกเพราะยางพาราเติบโตขึ้น สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้ง รวมถึงพื้นที่ปลูกแซมในสวนยางพาราลดลง ด้านผลผลิต มังคุด และ เงาะ ลดลง เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นเพื่อปรับเปลี่ยนไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน

ด้านราคา สินค้าเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน ลำไยและมังคุด โดยมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความต้องการใช้ภายในประเทศก็มีแนวโน้มสูงขึ้น สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายปรับเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลเป็น B7 ของภาครัฐ และความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนเข้าสู่เทศกาลถือศีลอดของชาวมุสลิมในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ส่วนราคาลำไยและมังคุดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก ในขณะที่ความต้องการในประเทศและตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ทุเรียน และเงาะ โดย ข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากสต็อกข้าวของรัฐมีปริมาณสูง ทำให้มีการเร่งระบาย ประกอบกับรัฐไม่มีนโยบายแทรกแซงราคาเหมือนปีที่ผ่านมา อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลดิบในตลาดโลก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการลดลงจากสต็อกที่มีมาก ยางพารา มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้น ขณะที่อุปสงค์ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ราคาทุเรียนและเงาะลดลง เนื่องจากการเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในภาคตะวันออก จึงทำให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น

2. สาขาปศุสัตว์ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญทั้งไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากอากาศที่เอื้ออำนวยช่วงต้นปี แม้ว่าในระยะต่อมาจะเผชิญสภาพอากาศที่ร้อนจัด แต่ในภาพรวมแล้วไม่ส่งผลกระทบ เนื่องจากมีระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง โดยการผลิตไก่เนื้อมีการขยายการเลี้ยงของผู้ประกอบการรายใหญ่ และเกษตรกรมีการปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตสุกรขยายตัวจากสถานการณ์การผลิตที่เข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะพบโรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) ในบางพื้นที่ ซึ่งทำให้ลูกสุกรลดลง แต่สถานการณ์ไม่รุนแรงและสามารถควบคุมได้ สำหรับปริมาณไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากระดับราคาที่จูงใจ ทำให้เกษตรกรขยายการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นจากอัตราการให้น้ำนมเฉลี่ยของแม่โครีดนมสูงขึ้น ประกอบกับมีความต้องการใช้น้ำนมดิบในประเทศทดแทนการใช้นมผงนำเข้าที่มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้มีปริมาณน้ำนมดิบออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น

ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2557 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของตลาดและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง โดยราคาสุกรและไข่ไก่ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21.0 และ 11.2 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะการผลิตที่ชะลอลงจากสภาพอากาศร้อน ส่วนราคาไก่เนื้อและน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

3. สาขาประมงในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงยังคงออกสู่ตลาดน้อยลง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เมษายน 2557 ผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงอยู่ที่ 49,521 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 95,470 ตัน หรือลดลงร้อยละ 48.1 เป็นผลจากการผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงประสบปัญหาทั้งภัยธรรมชาติและโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) โดยในช่วงต้นปีมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น และต่อมาในช่วงเดือนมีนาคมมีสภาพอากาศที่ ร้อนจัดและปริมาณฝนน้อย ทำให้น้ำมีระดับความเค็มสูงเร็วมาก ซึ่งเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลให้การเลี้ยงกุ้งได้รับความเสียหาย ขณะที่โรคตายด่วนยังคงเป็นปัญหาหลักในแหล่งผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงที่สำคัญของไทย อีกทั้งยังพบโรคตัวแดงดวงขาวในบางพื้นที่ ประกอบกับการขาดแคลนลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพดี ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ดังกล่าวจึงชะลอการผลิตออกไป ในส่วนของผลผลิตจากการ ทำประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือภาคใต้ในเดือนมกราคม - เมษายน 2557 ลดลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นที่ท่าเทียบเรือสงขลาและสุราษฎร์ธานีลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำบางรายเข้าไปตั้งโรงงานในอินโดนีเซียแทน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่ขึ้นท่าเทียบเรือดังกล่าวลดลง สำหรับการผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล กุ้งก้ามกราม ปลาช่อน ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์การผลิตในแหล่งผลิตที่สำคัญเป็นปกติ ประกอบกับความต้องการบริโภคภายในประเทศยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

4. สาขาบริการทางการเกษตรในครึ่งแรกของปี 2557 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงานเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยของรัฐบาลและโรงงานน้ำตาล ทำให้มีการใช้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น รถไถเตรียมดิน รถตัดอ้อย เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในช่วงเตรียมดินและการเก็บเกี่ยวอ้อยในช่วงการเปิดหีบ อย่างไรก็ตาม พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกข้าวนาปรังรอบสอง ทำให้มีการใช้บริการรถไถพรวนดิน และรถเกี่ยวนวดข้าวลดลง ส่งผลให้การบริการทางการเกษตรในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

5. สาขาป่าไม้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 หดตัวประมาณร้อยละ 1.0 เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยูคาลิปตัส น้ำผึ้งธรรมชาติ ครั่ง ไม้ซุง และกลุ่มวัสดุสาน (หวายและไม้ไผ่) หดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 โดยที่ครั่งและไม้ซุง หดตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอการนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ เยอรมนี อินเดีย และจีน ขณะที่ถ่านไม้และไม้ยางพาราในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยถ่านไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการจากต่างประเทศ ส่วน ไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมการตัดโค่นต้นยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ประกอบกับปัจจัยทางด้านราคายางพาราที่ตกต่ำ และไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการของตลาดเพราะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ส่งผลให้มีการเร่งการตัดโค่นยางพารามากขึ้น

สำหรับแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาการผลิตที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5 สาขาบริการทางการเกษตร ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8 และสาขาป่าไม้ ขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 ส่วนสาขาการผลิตที่หดตัวลง คือ สาขาประมง อยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) – 0.5 และคาดว่าผลผลิตพืชที่สำคัญ เช่น ข้าวนาปี อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ เช่น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยราคาพืชที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลัง สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ที่สำคัญ เช่น ลำไย และมังคุด

ด้านผลผลิตปศุสัตว์ส่วนใหญ่ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้านราคาสินค้าปศุสัตว์โดยรวมในปี 2557 คาดว่ายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอาจมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น รวมถึงความต้องการสินค้าปศุสัตว์ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตประมง โดยเฉพาะกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง ฟื้นตัวจากปัญหาโรคตายด่วนได้ค่อนข้างช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้เกษตรกรยังไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งระบบ แม้ว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงปลายปี 2557 เนื่องจาก คสช. ได้อนุมัติเงินจำนวนกว่า 90 ล้านบาท ให้กรมประมงจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคตายด่วนทั้งระบบอย่างเร่งด่วน โดยการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์และผลิตลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพเพื่อแจกจ่ายให้แก่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพระบบคัดกรอง ป้องกัน และเฝ้าระวังโรค รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ ปม. 1 เพื่อฟื้นฟูแหล่งผลิตกุ้งทะเล ด้านราคากุ้ง คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดยังคงน้อยกว่าระดับปกติ สำหรับผลผลิตจากการทำประมงทะเลอื่นๆ มีแนวโน้มลดลง ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศในแหล่งผลิตที่สำคัญเอื้ออำนวย นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 การผลิตทางการเกษตรในบางพื้นที่ของประเทศยังคงมีความเสี่ยงจากภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ