นพ.ประเวศ วะสี: กระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม 'บีบคั้น' ประเทศไทยทุกทาง

พฤหัส ๒๑ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๘:๐๓
"การกระจายทรัพยากรในประเทศไทยไม่เป็นธรรมอย่างมาก มากเท่าไหร่ควรวิจัยออกมาให้แน่นอน ปรากฎการณ์ 10:90 และ 90:10 อาจเป็นจริง คือคน 10% เป็นเจ้าของทรัพยากร 90% ของประเทศ และคน 90% ของประเทศ เหลือทรัพยากรเพียง 10% เท่านั้น"

21 สิงหาคม 2557 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการเรื่อง "งานวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความเป็นธรรมทางสังคม" ณ ห้องประชุมจุมภฏ พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก รำไพพรรณรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้มีการปาฐกถาศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ "งานวิจัยทางสังคมศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม" โดยนายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส

นพ.ประเวศ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับคน และระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมสำคัญที่สุด ซึ่งควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ โลกวิกฤติทุกวันนี้เป็นวิกฤติแห่งการอยู่ร่วมกัน (Living Together) เพราะไม่ได้ถือหลักการอยู่ร่วมกัน แต่ถือหลักของการแข่งขัน การแสวงหากำไรสูงสุด หากเป็นเช่นนี้โลกจะไม่หายวิกฤติถ้ามนุษยชาติไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายมาเป็นการอยู่ร่วมกัน ให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด

"แม้ในหมู่สัตว์ก็มีธรรมชาติของความเป็นธรรม เพราะความเป็นธรรมทำให้การอยู่ร่วมกันมีความสงบสุข และมีพลังแห่งการยึดเหนี่ยวทางสังคมทำให้สังคมเข้มแข็ง ถ้าขาดความเป็นธรรมแล้วผู้คนจะไม่รักกัน และไม่รักส่วนรวม มีความโน้มเอียงจะเกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ ในสังคม รวมทั้งความขัดแย้งและความรุนแรง"

นพ.ประเวศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้การขาดความเป็นธรรมถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลก แม้ในหมู่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้ว และมีประชาธิปไตยที่มีวุฒิสภา เช่น สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ก็ยังมีความเหลื่อมล้ำแบบสุดๆ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน โจเซฟ สติกลิตส์ เรียกความเหลื่อมล้ำอย่างสุดๆ ในอเมริกาว่า เป็นปรากฎการณ์ 99:1 คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคน 1 % เท่านั้น คนจนไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา มิหนำซ้ำกลับเลวลงไปอีก ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่มากเกินสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาทางสุขภาพและทางสังคมนานาชนิด รวมทั้งคำถามเกี่ยวกับประชาธิปไตย

"ในหนังสือ Spirit Level ของ Richard Wilkinson และ Kate Pickett ยังแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาคืออังกฤษ ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสุดคือญี่ปุ่น รองลงมาคือประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียน หากสังเกตที่ผ่านมาจะเห็นว่า ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากเ ช่น อเมริกาจะเกิดการจลาจลง่าย เช่นนิวออร์ลีนส์ หลังจากโดนเฮอริเคนแคทรีนาถล่ม แต่ที่ญี่ปุ่นเมื่อเกิดสึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูจิชิมาสังคมอยู่ในความสงบร่วมมือกัน ไม่เกิดจลาจล"

จากนั้น นพ.ประเวศ ได้ยกตัวอย่างการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789 ว่าเกิดการปฏิวัติขึ้นเพราะความเหลื่อมล้ำ แต่การปฏิวัติก็แก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ทุกวันนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็ยังมีอยู่และมากขึ้นด้วยความเหลื่อมล้ำ เป็นการขาดความเป็นธรรมที่เป็นปัญหาใหญ่ของโลก และยากต่อการแก้ไข ซึ่งความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ

- ความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

- ความเหลื่อมล้ำทางสังคม

- ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

- ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ

เรียกได้ว่า ความเหลื่อมล้ำคนจนก็จนเกินไป อย่างในระบบความยุติธรรมที่เป็นทางการตำรวจจับ อัยการส่งฟ้อง ตุลาการตัดสิน คนจนไม่มีทางเข้าถึงความยุติธรรม เพราะจะเอาเงินและเวลาที่ไหนมาสู้คดี ลำพังทำงานเช้าจรดค่ำทุกวันก็ยังไม่พอจะกินแล้ว หรือกรณีที่ชาวนาถูกฟ้องและดำเนินคดีด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของตนเอง เพราะความผันผวนของอำนาจรัฐและอำนาจเงิน ชาวบ้านตาดำๆ ยากจนมีอำนาจน้อยมาก เมื่อเทียบกับอำนาจมหึมาของอุตสาหกรรมหมื่นล้านที่มีอำนาจรัฐหนุนหลังที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรและปล่อยมลพิษ

"เรารู้สึกว่า การกระจายทรัพยากรในประเทศไทยไม่เป็นธรรมอย่างมาก ซึ่งมากเท่าไหร่ควรวิจัยออกมาให้แน่นอน ปรากฎการณ์ 10:90 และ 90:10 อาจเป็นจริงสำหรับประเทศไทยด้วย คือคน 10% เป็นเจ้าของทรัพยากร 90% ของประเทศ และคน 90% ของประเทศ เหลือทรัพยากรเพียง 10% เท่านั้น"

ราษฎรอาวุโส กล่าวด้วยว่า การที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ออกไปนอกแวดวงสาธารณะ เหลือทรัพยากรน้อยเกินไปเพื่อคนทั้งประเทศ ก่อให้เกิดความบีบคั้นนานับประการ เช่น เกิดการแย่งชิงฉ้อโกง ประชาชนที่จนเกินตกอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ทำให้เกิดการเมืองแบบธนาธิปไตยที่มีคุณภาพต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ทำให้ประเทศติดอยู่ในวังวนความขัดแย้ง และความรุนแรง ดังนั้นการกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรมจึงเป็นปัจจัยร้ายแรงที่บีบคั้นประเทศไทยทุกทาง สมควรที่สถาบันทางวิชาการทางสังคมศาสตร์จะวิจัยให้ความรู้อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งสาเหตุ และวิธีการแก้ไข และนำความรู้ที่วิจัยไปเพิ่มอำนาจให้สังคม เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ยากที่จะแก้ไข ไม่มีใครแก้ได้ นอกจากพลังของพลเมืองที่เข้มแข็ง และพลังพลเมืองจะเข้มแข็งก็ต่อเมื่อเป็นพลังพลเมืองที่รู้ความจริง

ขณะเดียวกันหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็มีหน้าที่ในการสร้างความเป็นธรรมโดยการสนับสนุนพลังพลเมืองที่รู้ความจริง เนื่องจากสังคมไทยขาดความเป็นธรรมมานานมาก และที่ผ่านมาไม่มีเครื่องรับความเป็นธรรม ดังนั้นทุกคนจะต้องช่วยกัน

"การสื่อสารในสาธารณะก็ต้องมีความชัดเจน ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ ต้องพัฒนาการเชื่อมโยง เชื่อมโยงการสื่อสารทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพ"

ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ : www.isranews.org/thaireform

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4