รักลูกให้ถูกลักษณ์... จากแม่ทางธรรมถึงลูกทางโลก

อังคาร ๑๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๔ ๑๖:๑๙
สุภาษิตโบราณกล่าวว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ยุคใหม่อาจตีความ คำว่า “รักลูกให้ตี” ในมิติใหม่ เพราะการสร้างกรอบด้วยวิธีการตีลูกอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ลูกเป็นเด็กดีได้เสมอไป พ่อแม่ยุคใหม่ควรปรับแนวคิดของการเลี้ยงลูกโดยใช้ความเข้าใจในตัวตนของลูก หรือ “นพลักษณ์” อันเป็นศาสตร์ทางจิตวิทยาบุคลิกภาพช่วยให้เข้าใจอุปนิสัยของคนรอบข้าง ซึ่งแยกเป็น 9 ลักษณะ อาทิ 1.คนเนี๊ยบ เจ้าระเบียบ 2.ผู้ช่วยเหลือ จิตอาสา 3.ใฝ่สำเร็จ ตั้งใจ 4.ผู้โศกซึ้ง อ่อนไหว 5.นักสังเกตการณ์ 6.นักตั้งคำถาม 7. นักพจญภัย 8.เจ้านาย 9.ผู้ประสานไมตรี คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองควรสังเกตบุคคลิกลักษณะของลูกและปรับจูนแนวทางการเลี้ยงดูให้สอดคล้องกับตัวตนที่แท้จริงของลูก

มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับ ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด จัดกิจกรรมเปิดห้องนั่งเล่นบ้านตุ๊กติ๊กตุ๊บปอง ครั้งที่ 9 จากโครงการ “คืนพ่อแม่ให้ลูก คืนสุขให้บ้าน” พร้อมเสวนาเรื่อง “รักลูกให้ถูกลักษณ์...จากแม่ทางธรรมถึงลูกทางโลก”

ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีบ กรรมการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กและนักเขียนขวัญใจเด็กๆเล่าถึงที่มาของหนังสือชุด รักลูกให้ถูกลักษณ์ ว่า “อันที่จริงแล้วเรามีลักษณ์หลักของเรา เราต้องยอมรับความเป็นตัวตนของเราให้ได้ก่อนที่จะไปตัดสินคนอื่น หนังสือในชุด รักลูกให้ถูกลักษณ์ เป้าหมายของเราอยากให้พ่อแม่อ่านแล้วนำไปใช้กับลูก สำหรับเด็กเป็นเพียงหนังสือภาพอ่านเล่น แต่อยากให้พ่อแม่ศึกษาเพิ่มเติม เพื่อเข้าใจตนเองและผู้อื่น ไม่คาดหวังให้เขามีเขาเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น ถ้าเราศึกษาธรรมะไปพร้อมๆกันจะทำให้เราเข้าใจท่องแท้มากขึ้น”

“เราต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น และคิดว่าของตนเองนั้นถูกทั้งหมด ต้องเรียนรู้และใช้ลักษณ์อย่างเข้าใจ สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อนำไปใช้แล้ว ดีไหม ลูกเราเป็นแบบนี้ เราจะปรับความสัมพันธ์อย่างไร หรือจะสนับสนุนลูกเราได้อย่างไร เพื่อให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข” ตุ๊กติ๊ก พรพิมล เสนผดุง ผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักงานผู้อำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทย พีบีเอส) พี่สาวของตุ๊บปองขวัญใจเด็กๆ กล่าวเสริม

เมื่อเราเข้าใจตัวตนของตนเองและคนรอบข้าง ความทุกข์ ความขัดแย้งซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจกันจะลดลง เกิดสันติสุขขึ้นมาได้ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต แห่งเสถียรธรรมสถาน ให้แนวคิดทางธรรมว่า “มนุษย์เกิดมามีกรรมแต่กำเนิด มีทุกข์ผูกพันมา การเรียนรู้ลักษณ์ สุดท้ายเพื่อหลีกหนีจากทุกข์นั่นเอง เราต้องอยู่เหนือความคาดหวัง สิ่งใดที่เรากระทำจะเป็นเงาตามตัวเราไป ดังนั้นจึงต้องพึงระมัดระวังการกระทำของเรา ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียใจต่อใครๆ และคนที่เรารัก พ่อแม่ก็ต้องระวังพฤติกรรม ลูกต้องระวังการกระทำเพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บปวดทางใจ หนทางประเสริฐนี้จะพาเราพ้นทุกข์และไปถึงเป้าหมายได้ พระพุทธเจ้าบรรลุแล้วความเป็นจริงคือต้องสงบเย็นและเป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสายใด พระพุทธเจ้าสอนให้เราทำตนให้เป็นประโยชน์ พิจารณาหาเหตุด้วยปัญญา และพาตนเองให้รอดหลีกหนี ทุกข์ และช่วยเหลือผู้อื่น”

ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นมีมาก แต่ถ้ามากเกินอาจทำให้เด็กกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ การรักลูกอย่างพอดีและดูแลลูกด้วยความเข้าใจ จะทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์

“เราจะต้องมีสติ และ ใช้หนังสือสอนลูก ถ้าพ่อแม่เข้าใจธรรมชาติของลูกเขาจะรู้ว่าจะต้องใส่ปุ๋ยแบบไหน ดิฉันเชื่อว่าธรรมชาติของเราไม่เหมือนกัน บางทีเราชอบเอาลูกเราไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น เขาจะรู้สึกไม่ดี ต่อต้าน เราจะต้องใช้คำพูดที่ดึงลูกเราและสร้างกำลังใจขึ้นมาให้ได้ ลักษณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เชื่อว่าการสร้างพื้นฐานการอ่านให้ลูกเป็นสิ่งสำคัญ นิทานเป็นเครื่องมือพัฒนาทักษะชีวิตของเด็กโดยการเรียนรู้ผ่านตัวละครแต่ละเรื่อง ไม่มีนิทานเรื่องไหนที่สอนให้เด็กเป็นเด็กไม่ดี นิทานบันทึกประสบการณ์ในสมองเขา สร้างภูมิคุ้มกันชีวิต มีต้นทุนสมองที่ดี พอเขาเจอปัญหา เขาจะหาทางแก้ได้ นำไปสู่การมีชีวิตที่ดีได้” คุณริสรวล อร่ามเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ฟอร์ คิดส์ จำกัด เผยทัศนะการพัฒนาเด็กแบบองค์รวม

ทางด้าน พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นายกสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ชี้แนะว่า “พ่อแม่จะต้องคอยสังเกตตัวตนของลูก ต้องศึกษาตัวเองและเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นก่อนที่เราจะเข้าใจคนอื่น อย่าไปยึดมั่นถือมั่น บังคับขู่เข็ญ ต้องค่อยเป็นค่อยไป เป็นเรื่องธรรมดาที่พ่อแม่มักจะคาดหวังในตัวลูกทั้งเรื่องเรียน หรือชีวิตประจำวัน อยากให้ลูกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนบางครั้งกลายเป็นความขัดแย้งเมื่อลูกไม่เป็นดั่งหวัง พ่อแม่ควรจะรู้จักตัวตนของลูกเราว่าเป็นแบบไหน เราจะคาดหวังกับลูก เหมือนเป็นคนปั้นลูก บางทีเราปั้นตามใจเราไม่ได้ ลูกไม่ได้อยากเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็นก็ได้ การค้นหาลักษณ์ เพื่อส่งเสริมลูกเราให้ไปในทางที่ถูกต้องเป็นสิ่งดี ถ้าพ่อแม่สามารถค้นพบลูกเราว่าชอบด้านไหนแล้วส่งเสริม ผลักดันให้เขาไปสู่ฝันเป็นสิ่งที่ควรทำ พ่อแม่คาดหวังลูกให้เหมือนคนอื่นไม่ได้ จะเป็นการกดดันลูกเกินไป”

นพลักษณ์ไม่เพียงแต่ทำให้เรารู้จักตนเองอย่างเดียว ยังสอนว่ายังมีคนที่แตกต่างจากเรา ทำให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นและเรียนรู้วิธีที่จะอยู่ร่วมกับคนที่มีลักษณะนิสัยต่างจากเราได้อย่างมีความสุข ภายในงาน ยังมีกิจกรรมประดิษฐ์ชิ้นงานจากสองมือน้อยๆ ช่วยส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มากมาย และเพลินฟังนิทาน เรื่อง “นกยูงน้อยขนงาม” จาก น้องออม หนูน้อยนักเล่านิทานดีเด่นจากโครงการลับสมองประลองปัญญา ประจำปี 2556 ติดตามกิจกรรมสร้างสรรค์ได้ที่ www.facebook.com/planforkids หรือ www.planforkids.com สอบถามโทร 02-575-2559

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4