กระทรวงอุตสาหกรรมจัด”เทศกาลไหมไทย”ยกระดับผ้าไหมไทยก้าวสู่สากล

จันทร์ ๐๘ ธันวาคม ๒๐๑๔ ๑๒:๔๕
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันไหมไทย ก้าวสู่ความเป็นสากลผ่านอุตสาหกรรมแฟชั่นจัดเทศกาลไหมไทย ครั้งที่ 15 ภายใต้”โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น”ที่ อำเภอ ปักธงชัย จังหวัด นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2557 ชูเป้าหมายผลักดันอุตสาหกรรมไหมไทยสู่ศูนย์กลางผ้าไหมยุคใหม่ของตลาดโลก

นายอาทิตย์ วุฒิคะโรง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐที่ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพหลักรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริม SMEs ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิต (Productivity)ของ SMEs ด้วยกระบวนการและเครื่องมือต่าง ๆ เช่น การสร้างระบบบริหารจัดการสากล การยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยี การจัดการด้านพลังงาน การยกระดับระบบการผลิตสู่การผลิตบนฐานนวัตกรรม การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster)จึงได้จัดโครงการเทศกาลไหมไทย(Thai Silk Festival 2014)ครั้งที่15 ขึ้นระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคม 2557 ที่ อ.ปักธงชัย จ.นคราชสีมา ในครั้งนี้จะจัดขึ้นยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งโดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา อำเภอปักธงชัยและสมาคมไหมไทยจ.นครราชสีมาซึ่งในงานนี้จะจัดขึ้นที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษาอำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยภายในงานเริ่มตั้งแต่เวลา09.00น-24.00น. เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นศูนย์กลางผ้าไหมคุณภาพดี ได้มาตรฐานในระดับประเทศสู่สากล ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกมีแรงงานในอุตสาหกรรมมีแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานในชนบท กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา จึงมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยเพื่อยกระดับผ้าไหมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากล เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย โดยที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในด้านการแข่งขันกับต่างประเทศโดยมีแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมไหมไทยในหลายๆ ด้าน อาทิ พัฒนาด้านบุคลากร เน้นที่ผ้าไหมทอมือ ซึ่งจะเป็นมรดกสืบทอดไปอีกยาวนาน พัฒนาด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดการสูญเสียทั้งระบบ และพัฒนารูปแบบสินค้าและการตลาด โดยเน้นที่แฟชั่น และผลิตสินค้าให้เหมาะสมกับรสนิยมของลูกค้า มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์สินค้าผ้าไหมอย่างต่อเนื่อง

โดยมีโครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับไหมหรือผลิตภัณฑ์จากไหม ภายใต้นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งจะดำเนินการในปี 2557 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากแคชเมียร์กับไหมไทย ซึ่งเกิดจากการที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสไปเยือนประเทศมองโกเลียอย่างเป็นทางการ ได้เห็นว่า ขนแคชเมียร์และไหมไทยต่างมีคุณสมบัติและความพิเศษเฉพาะตัวซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งล้ำค่าของแต่ละประเทศ ดังนั้นหากมีการนำทั้งสองสิ่งมาผสมผสานกันจะสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทั้งสองอย่างมหาศาล ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมาดำเนินการโดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นผู้รับผิดชอบ 2.การพัฒนาผ้าไหมไทยสู่ตลาดเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่ง โดยเป็นการพัฒนาวัสดุไหมไทยให้มีคุณภาพและมีเป้าหมายชัดเจน คือ การสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ระดับสูง ซึ่งผ้าไหมไทยมีความสวยงามและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น แต่การพัฒนาไปสู่การผลิตเพื่อธุรกิจสากลจำเป็นต้องได้รับการวิจัยและพัฒนาในด้านต่าง เช่น ความคงทน สีสัน ความมันวาว รวมถึงกรรมวิธีการผลิตต่างๆ ตั้งแต่การเลือกเส้นใย การออกแบบลวดลายสีสันให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นายอาทิตย์กล่าวว่า“กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2560 ประเทศไทยจะต้องผลักดันให้อุตสาหกรรมผ้าไหมไทยก้าวไปสู่ความเป็นสากลโดยเฉพาะการยกระดับผ้าไหมไทยสู่สินค้าแฟชั่นชั้นสูง โอต์ กูตูร์ ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับและนำไปใช้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกต่างๆ”

นายภานุ แย้มศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับงานเพิ่มเติมว่า “เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตไหมที่มีคุณภาพระดับส่งออกมีชื่อเสียงโด่งดังแห่งหนึ่งของโลก โดยถูกกล่าวขวัญมาจนถึงปัจจุบัน "ผ้าไหม" ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ราชินีแห่งเส้นใยผ้า" เป็นผลิตภัณฑ์เอกลักษณ์ของภูมิปัญญาชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่รวมถึง อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา โดยผ้าไหมปักธงชัยถือว่าเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพดี เนื่องจากเนื้อผ้าหนาแน่น สีคงทน ไม่ตก เมื่อนำมาซักเนื้อผ้าไม่ยุบ เมื่อนำมานุ่งเนื้อผ้าไม่ย้วย คุณภาพของผ้าได้มาตรฐาน มีปริมาณการผลิตมากพอจนสามารถส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ทำให้ผ้าไหมปักธงชัยกลายเป็นหนึ่งในคำขวัญของจังหวัดนครราชสีมา คือ "เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน"

โดยปัจจุบัน อุตสาหกรรรมไหมไทย มีการผลิตผ้าไหมออกสู่ตลาดมากกว่า 10 ล้านหลาต่อปี โดยเฉพาะ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยจากมูลค่าตลาดรวมของอุตสาหกรรมผ้าไหมในกลุ่มนครชัยบุรินทร์(นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) ที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกี่ยวเนื่องกับไหมและผลิตภัณฑ์จากไหมทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 873.27 ล้านบาท โดยจำแนกออกเป็น รังไหมและเส้นไหม 101.47 ล้านบาท ผ้าไหม 281.68 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ไหม 490.11 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มตลาดเสื้อผ้าไหมไทยในประเทศ มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ยุโรปและอเมริกายังมีความต้องการผ้าไหมสูง โดยเฉพาะกลุ่มตกแต่งบ้าน โรงแรมหรู อาคารสถานที่ รวมถึงบ้านจัดสรรระดับหรู (ไฮเอนด์) สินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มบรรจุภัณฑ์ (แพ็กเกจจิ้ง) ไวน์ แชมเปญ ที่ยังชื่นชอบนำผ้าไหมไทยไปตกแต่ง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เพราะผ้าไหมไทยมีเอกลักษณ์ที่สวยงาม เป็นที่รู้จัก และมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมในตลาดโลกสูงขึ้น ในขณะเดียวกันตลาดญี่ปุ่นก็เป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ โดยมีการนำไหมไทยไปตัดเป็นชุดกิโมโน ทำให้ตลาดนี้มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต เช่นเดียวกับตลาดตะวันออกกลาง อย่างเช่น โอมาน ก็เริ่มให้ความสนใจนำผ้าไหมไปประดับตกแต่งโรงแรมหรูมากขึ้น ดังนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมและทำการตลาด สร้างการรับรู้ในกลุ่มภัตตาคารด้วย ผ้าไหมไทยก็จะส่งออกได้มากขึ้น

การส่งเสริมและสนับสนุนการจัดงานเทศกาลไหมไทย (Thai Silk Festival 2014) ที่อำเภอปักธงชัย นครราชสีมา ในครั้งที่15 นี้จะมีการจัดแสดง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนารถนิทรรศการไหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ในการผลิตผ้าไหมคุณภาพดีและได้มาตรฐาน (มาตรฐานตรานกยูง และมาตรฐาน( มผช. ) การสาธิตวิธีการทำไหม ที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมชมงาน ได้เรียนรู้และเข้าใจกระบวนการผ้าไหมได้อย่างครบวงจร

กิจกรรมการประกวด Young Designer ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสาขาการออกแบบแฟชั่น ซึ่งการประกวดนี้ ได้เป็นหนึ่งในเวทีผลักดัน Designer รุ่นใหม่ เข้าสู่วงการ การแสดงแฟชั่นโชว์ จากการออกแบบของDesigner ชั้นนำของประเทศ บรรจงออกแบบชุดผ้าไหมที่สวยงามมากกว่า 60 ชุด แสดงแบบโดยนางแบบชั้นนำระดับประเทศมากมายการจำหน่ายผ้าไหม และผลิตภัณฑ์จากไหมที่มีคุณภาพระดับชาติ ที่เน้นแนวคิดในรูปแบบทันสมัย ในราคาที่คุ้มค่าและกิจกรรมความบันเทิงบนเวทีตลอดทุกวันเพื่อเป็นการสร้างสีสันให้กับงาน เป็นต้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๐ DEK ดิจิทัลมีเดีย SPU บุก Thailand Toy Expo 2024 โชว์ผลงานสุดคูล!
๑๖:๕๘ Zoho ยกระดับแอปพลิเคชันทางธุรกิจ ด้วยการทำงานร่วมกันของ Generative AI และ Low-Code
๑๖:๐๓ Dent Talk : Fresh Up Your Knowledge ไม่รู้.ไม่ได้แล้ววว สำนักวิชาทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้า
๑๖:๓๕ โรงแรมเชอราตันหัวหิน รีสอร์ทแอนด์สปา ต้อนรับนักหมากรุกรวม 300 คน กว่า 50 ประเทศ ในการแข่งขัน Bangkok Chess Club Open ครั้งที่ 21 ประจำปี
๑๖:๓๑ 'Water War Chiang Mai 2024' เทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุด เปียกสุด! เดือดสุด! จัดเต็มอย่างยิ่งใหญ่ใจกลางเมืองเชียงใหม่
๑๖:๒๗ TB Media Global จับมือ MQDC จัดกิจกรรมสงกรานต์ The Vibrant Forestias :Sook-San Songkran บนผืนป่าของ The
๑๖:๔๗ SE Life อาคเนย์ประกันชีวิต รับรางวัลแบรนด์ยอดเยี่ยมประจำปี 2023
๑๖:๐๐ โรงพยาบาลหัวเฉียว จัดโครงการธรรมโอสถ บรรยายธรรมะเรื่อง สุขในงานเบิกบานในชีวิต
๑๖:๒๙ หมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ต่อยอดความสำเร็จธนาคารน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทรัพยากรน้ำ
๑๖:๒๘ คณะดิจิทัลมีเดีย SPU ขอเชิญร่วมกิจกรรมเสวนา หัวข้อ AI Trends Unlock Limitless Creative Potential in Digital