กระทรวงเกษตรฯ เผย “กฎหมายว่าด้วยการประมง” ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้เมษายนปีนี้ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศในการแก้ไขปัญหาประมง

พฤหัส ๑๕ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๕:๔๘
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการประมงของไทยมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนของประชากร ทำให้ความต้องการใช้ทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ขณะที่พื้นที่การทำประมงมีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากร และมีการใช้เครื่องมือการทำประมงที่เกินศักยภาพการผลิต โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการทางกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ล้าสมัย อันเนื่องมาจากพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเน้นการบริหารจัดการประมงน้ำจืดเป็นสำคัญ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีการพัฒนาด้านการประมงทะเล ยังไม่มีบทบัญญัติที่ควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะยังสามารถจับจากธรรมชาติได้อย่างพอเพียง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายประมงไทยใหม่ โดยได้เริ่มยกร่างกฎหมายประมงใหม่ทั้งฉบับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐบาลหลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ โดยจะมีผลใช้บังคับประมาณเดือนเมษายน 2558 ซึ่งมีสาระครอบคลุมทั้งการประมงในน่านน้ำ การประมงนอกน่านน้ำ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการมีส่วนร่วมของชุมชน และตอบโจทย์การอนุรักษ์และบริหารทรัพยากรประมงที่สอดคล้องกับมาตรการสากลที่ทั่วโลกยอมรับด้วย โดยประเด็นสำคัญที่กำหนดในกฎหมายประมงฉบับใหม่เพิ่มเติมจากกฎหมายประมงฉบับเดิม ดังนี้

1.การบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ โดยกำหนดเขตทำการประมงออกเป็น 3 เขต คือ

(1) เขตประมงน้ำจืด คือเขตแหล่งน้ำที่อยู่บนแผ่นดินทั้งหมด

(2) เขตประมงทะเลชายฝั่ง คือเขตแหล่งทำการประมงที่อยู่ในทะเล ซึ่งมีระยะตั้งแต่ชายฝั่งทะเลออกไป 3 ไมล์ทะเล ซึ่งอาจขยายออกไปได้ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลโดยอำนาจของรัฐมนตรี

(3) เขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง คือ เขตแหล่งทำการประมงที่มีระยะตั้งแต่พ้นระยะเขตประมงทะเลชายฝั่งออกไปจนสุดเขตน่านน้ำของประเทศไทย การกำหนดเขตการประมงในลักษณะนี้ เป็นการกำหนดตามความสามารถในการจับสัตว์น้ำของชาวประมง และชนิดของเครื่องมือทำการประมง เพื่อมิให้มีข้อขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มชาวประมงซึ่งมีมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำมีจำนวนลดน้อยลง และเพื่อการบริหารจัดการประมงที่มีประสิทธิภาพ กฎหมายจึงกำหนดบทบัญญัติในเรื่องการห้ามครอบครองเครื่องมือประมงที่เป็นอันตรายต่อพันธุ์สัตว์น้ำอย่างร้ายแรง ซึ่งหากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบ ก็สามารถจับดำเนินคดีได้ทันที จากเดิมที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะจับกุมได้ก็ต่อเมื่อมีการลงมือทำการประมงไปแล้วเท่านั้น

2. การมีส่วนร่วมของประชาชนร่างกฎหมายฉบับนี้มีบทบัญญัติเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายระดับ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ในระดับจังหวัดประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในรูปคณะกรรมการประจำจังหวัด เพื่อนำเสนอนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ในด้านกฎหมายตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ และมีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นด้วย ส่วนในระดับประเทศ ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้ในลักษณะการเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังมีการแต่งตั้งผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นหลักการใหม่ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลทรัพยากรของตน โดยร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

3. การส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสุขอนามัยสัตว์น้ำ ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการกำหนดในเรื่องมาตรฐานในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมาตรฐานในเรื่องสุขอนามัยสัตว์น้ำ โดยมีทั้งมาตรฐานโดยสมัครใจ และการกำหนดมาตรฐานบังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถเป็นสินค้าส่งออกแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยปัจจุบันมีการนำมาตรการในเรื่องสุขอนามัยมาใช้เพื่อกีดกันทางการค้า การมีบทบัญญัติในเรื่องนี้ จะช่วยให้กระทรวง เกษตรฯ สามารถดูแลในเรื่องคุณภาพและมาตรฐานในเรื่องการเพาะเลี้ยง และสุขอนามัยสัตว์น้ำได้

4. มาตรการรัฐเจ้าของท่าเรือ (Port State Measures)

มาตรการนี้ เป็นข้อผูกพันของประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิกขององค์กรจัดการประมงในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะองค์การ IOTC (Indian Ocean Tuna Commission) ซึ่งต้องกำหนดในกฎหมายให้สามารถควบคุมและป้องกันเรือประมงต่างชาติที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือประมงที่ทำผิดกฎหมายในภูมิภาคต่างๆ มาเข้าเทียบท่าในประเทศ และต้องมีการกำหนดท่าเทียบเรือที่แน่ชัด เพื่อให้เรือประมงต่างชาติเข้าเทียบท่าโดยมีกฎระเบียบ ข้อบังคับในการต้องแจ้งล่วงหน้า มีการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้แน่ชัดว่าสัตว์น้ำที่ได้มา หรือเรือต่างชาติดังกล่าวมิได้เกี่ยวข้องกับการทำการประมง IUU ซึ่งมาตรการต่างๆ มีระบุอยู่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่อย่างครบถ้วน ทั้งนี้ เรือประมงต่างชาติที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการรัฐเจ้าของท่าเรือดังกล่าว มีโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทจนถึงสามสิบล้านบาท

5. มาตรการเพื่อควบคุมการไปทำการประมงนอกน่านน้ำ การไปทำการประมงนอกน่านน้ำโดยชักธงชัย ในปัจจุบันมีการทำประมงใน 2 แหล่ง คือ ในน่านน้ำของรัฐต่างประเทศโดยได้รับใบอนุญาต และในทะเลหลวงซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐใด โดยประเทศไทยสามารถควบคุมดูแลเรือประมงไทยที่ทำการประมงนอกน่านน้ำมิให้กระทำผิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเรือประมงที่ไปทำการประมงนอกน่านน้ำจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมงก่อนออกไปทำการประมง หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และจะต้องติดตั้งเครื่องมือติดดตามตำแหน่งเรือประมงเพื่อให้ภาครัฐสามารถติดตามควบคุมการทำปประมงของเรือประมงเหล่านั้นได้

สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ไปทำการประมงนอกน่านน้ำ จะต้องปฏิบัติตามกฎ ข้อบังคับทางการประมงของรัฐที่มีอำนาจหรือองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคที่ดูแลในน่านน้ำนั้นๆ และหากมีการกระทำที่ฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษตามกฎหมายของรัฐที่ออกใบอนุญาต นอกจากนั้น เมื่อกลับเข้ามาในประเทศ เรือประมงลำนั้นจะถูกพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตทำการประมง โดยจะมีการขึ้นบัญชีดำ และไม่พิจารณาออกใบอนุญาตให้ไปทำการประมงนอกน่าน้ำอีกต่อไป

ในกรณีที่เรือประมงไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปทำการประมงในทะเลหลวง ที่ทำการฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับขององค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาคที่ดูแลทะเลหลวงนั้น เมื่อกลับเข้ามาในประเทศไทยจะถูกลงโทษปรับตั้งแต่หนึ่งล้านถึงสามสิบล้า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในตอนท้ายว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณต้นเดือนเมษายน 2558 ซึ่งจะต้องมีการเร่งออกกฎหมายลำดับรองเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างครบถ้วน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงกฎหมายการประมงดังกล่าวเปรียบเสมือนการปฏิรูปการประมงครั้งยิ่งใหญ่ของไทย กระทรวงเกษตรฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายประมงฉบับใหม่นี้ จะเป็นคำตอบหรือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการประมงที่มีอยู่ในปัจจุบันให้หมดไป พร้อมมีส่วนช่วยในการพัฒนาภาคการประมงของไทยก้าวหน้าต่อไปด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐:๕๙ ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ให้การต้อนรับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ศรีปทุม
๒๐:๓๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒๐:๕๒ Vertiv เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ไมโครโมดูลาร์รุ่นใหม่ที่มี AI ในเอเชีย
๒๐:๐๙ พิธีขึ้นเสาเอก เปิดไซต์ก่อสร้าง โครงการ แนชเชอแรล ภูเก็ต ไพรเวท พูลวิลล่า บ้านเดี่ยวบนทำเลทองใจกลางย่านเชิงทะเล
๒๐:๔๖ เขตบางพลัดประสาน รฟท.-กทพ. ปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวหน้าสถานีรถไฟบางบำหรุ
๒๐:๕๘ ร่วมแสดงความยินดีแก่อธิบดีกรมยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๒๐:๐๓ กทม. เดินหน้าจัดกิจกรรมริมคลองโอ่งอ่าง ส่งเสริมอัตลักษณ์ กระตุ้นเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยว
๒๐:๔๙ พาราไดซ์ พาร์ค ร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พาคุณไปสัมผัสการนวดเพื่อสุขภาพจาก 4 ภูมิภาคของไทย
๒๐:๒๔ Digital CEO รุ่นที่ 7 เรียนรู้เข้มข้นต่อเนื่อง จากวิทยากรชั้นนำของวงการ
๒๐:๒๔ เด็กไทย คว้ารางวัลระดับโลก โดรนไทย ชนะเลิศนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ UAV ณ กรุงเจนีวา