ผู้ประกอบการเฮรับปีใหม่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ธ.ค. 57 สูงสุดในรอบ 14 เดือน อยู่ที่ระดับ 92.7 เผยเหตุปัจจัยจากราคาพลังงานปรับตัวลดลง และยอดขาย - คำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นส่งท้ายปี

พุธ ๒๑ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๒:๒๑
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนธันวาคม 2557 จำนวน 1,153 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 29.6,39.8 และ 30.6 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 46.7,11.9,13.6,13.3 และ 14.5 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 84.5 และ 15.5 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 92.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 รวมทั้งในเดือนธันวาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2556 จากปัจจัยยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเทศกาลปีใหม่ ในกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ ประกอบกับการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2014 ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม 2557 ส่งผลดีต่อยอดขายในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่หดตัว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก และการที่สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) จากสหภาพยุโรป ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงขอให้ภาครัฐเร่งเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.7 ลดลงจาก 106.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนธันวาคม 2557 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของอุตสาหกรรมย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 87.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 81.0 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.9 ลดลงจาก 105.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 91.7 เพิ่มขึ้นจาก 87.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.1 ลดลงจาก 104.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 99.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 103.4 ลดลงจากระดับ 108.7 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนธันวาคม จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤศจิกายน

ภาคกลาง พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 94.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.8 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม นม และสุรา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ สินค้าประเภทขิงดอง ผัก และผลไม้สด มียอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมยานยนต์ (มียอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากงานThailand International Motor Expo 2014), อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ เช่น ล้อ เครื่องประดับยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ ประเภทเฟืองและโซ่รถจักรยานยนต์ มียอดการส่งออกไปตลาดยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 ลดลงจากระดับ 105.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 95.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 90.1 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก (ผลิตภัณฑ์เซรามิก มียอดการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา เอเชีย และยุโรป เพิ่มขึ้น สินค้าประเภทเซรามิกตกแต่ง มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากโรงแรมและรีสอร์ท), สินค้าประเภทของชำร่วย งานหัตถกรรม (มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และงานจักสานมียอดส่งออกไปตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น และยุโรปเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเสื้อไหมพรม ผ้าคลุม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่และช่วงฤดูหนาว ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า และลาว ก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับผลดีจากการค้าชายแดนที่ขยายตัวสูงในเทศกาลปีใหม่) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.7 ลดลงจากระดับ 107.2 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 96.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 89.6 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (สินค้าประเภทเสื้อกันหนาว เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมน้ำตาล (เนื่องจากอยู่ในฤดูกาลหีบอ้อย ขณะเดียวกันยอดการส่งออกน้ำตาลไปยังประเทศจีน มาเลเชีย และบรูไน เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่ง เช่น บราซิลประสบปัญหาภัยแล้งจึงทำให้ลูกค้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทย), อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนประเภท เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เตาไมโครเวฟ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มียอดสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ลดลงจากระดับ 106.2 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 97.5 ลดลงจากระดับ 98.3 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก (มียอดคำสั่งซื้อเหล็กแท่งแบน เหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าหันไปซื้อ เหล็กจากประเทศจีนซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาขายในประเทศ), อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (ผลิตภัณฑ์ประเภทหลังคาโปร่งแสงมียอดการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ลดลง), อุตสาหกรรมแก้วและกระจก (สินค้าประเภทกระจกลายมียอดการส่งออกไปประเทศฟิลิปปินส์ลดลง ขณะที่สินค้าประเภทกระจกบาน กระจก แปรรูปสำเร็จยอดคำสั่งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น จีน และอเมริกาลดลง) อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.8 ลดลงจาก 108.9 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ส่วน ภาคใต้ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนธันวาคม 2557 อยู่ที่ระดับ 77.8 ลดลงจากระดับ 78.2 ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมยาง (ยางพาราประสบปัญหาราคาตกต่ำ ประกอบกับเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคใต้ ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำยางข้นลดลง ด้านผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าประเภทถุงมือยาง มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นลดลง ขณะที่น้ำยางข้นมียอดคำสั่งซื้อลดลง จากประเทศจีน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา), อุตสาหกรรมอาหารทะเล แช่แข็ง และแปรรูป (ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทปลาทูน่า เนื่องจากเกิดพายุฝนทำให้ชาวประมงไม่สามารถจับปลาได้ ขณะที่ปลาหมึกและกุ้งแช่แข็ง มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรปและรัสเซีย), อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซียลดลง) สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.0 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 103.2 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนธันวาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากในเดือนพฤศจิกายน

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวเพิ่มจาก 88.3 ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งองค์ประกอบค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.2 ลดลงจากระดับ 105.4ในเดือนพฤศจิกายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ในเดือนธันวาคม อยู่ที่ระดับ 93.7 ลดลงจากระดับ 96.5 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบ ดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ ผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมยาง, อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 ลดลงจากระดับ 109.6 ในเดือนพฤศจิกายน โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2557 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนธันวาคมนี้ คือ อยากให้ภาครัฐ. เร่งพัฒนาระบบขนส่งและการคมนาคมให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พร้อมเร่งเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อเพิ่มการค้าการลงทุน ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งอยากให้ภาครัฐเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ ให้กว้างขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลัก ที่เกิดปัญหาเศรษฐกิจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๐ แคสเปอร์สกี้เผย บริษัทมากกว่าครึ่งในเอเชียแปซิฟิกใช้ AI และ IoT ในกระบวนการทางธุรกิจ
๑๗:๑๔ พร้อมจัดงาน สถาปนิก'67 ภายใต้ธีม Collective Language : สัมผัส สถาปัตย์
๑๗:๓๓ โรงแรมชามา เลควิว อโศก กรุงเทพฯ จัดโปรโมชั่นฉลองเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๓๘ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยชาวสระแก้ว มอบศาลาที่พักผู้โดยสาร เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และเพื่อเป็นที่หลบแดดหลบฝน ณ
๑๗:๔๙ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีประสาทปริญญาบัตร พร้อมมอบดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 3 ท่าน
๑๗:๑๘ แน็ก ชาลี - มุก วรนิษฐ์ ชวนเปิดประสบการณ์ความเฟรช ในงาน Space of Freshtival 30 มีนาคมนี้ ที่ สยามสแควร์วัน
๑๗:๑๐ อิมแพ็ค จัดงาน Happy Hours: Wine Tasting Craft Beer ต้อนรับลูกค้าช่วงมอเตอร์โชว์
๑๗:๓๒ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานแพร่ มอบเครื่องมือพื้นฐานชุดการฝึก (ชุดเครื่องมือทำมาหากิน) รุ่นที่ 4/2567
๑๗:๕๒ ดีพร้อม ดึงผู้ประกอบการเงินทุนฯ ทั่วประเทศ เปิดพื้นที่ทดสอบตลาด จัดงาน พร้อมเปย์ ที่ DIPROM FAIR
๑๗:๔๕ เขตราชเทวีจัดเทศกิจกวดขันผลักดันผู้ค้าตั้งวางแผงค้ารุกล้ำบนทางเท้าถนนราชปรารภ