ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 1/2558 ลดฮวบ พื้นที่ปลูกยางย่ำแย่

พุธ ๒๑ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๐:๔๙
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 1/2558” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานประเมินความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินในปัจจุบันอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางแย่ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 1/2558 อยู่ที่ 107.1 ลดลงจากไตรมาสที่แล้วค่อนข้างมาก โดยเป็นการลดลงของทั้งกลุ่มคนเมืองและกลุ่มคนชนบท และลดลงทุกกลุ่มจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากราคาพืชเกษตรตกต่ำ การซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น จนบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนในอีสาน โดยเศรษฐกิจในเขตชนบทมีความเชื่อมั่น 110.6 ส่วนเขตเมืองมีความเชื่อมั่นเพียง 102.2 และพบว่ากลุ่มจังหวัด จังหวัด อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ ยโสธร และอุบลราชธานี มีความเชื่อมั่นสูงที่สุดที่ 114.2 ขณะที่กลุ่มจังหวัด จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย (กลุ่มสบายดี) ซึ่งปลูกยางพารามาก ความเชื่อมั่นต่ำสุดเหลือเพียง 92.2 แผ่วลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส จากราคายางพาราที่ตกต่ำ

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนและระดับจังหวัดในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า เพื่อประเมินสภาวะเศรษฐกิจและคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 1/2558 ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2558 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,073 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด

เมื่อสอบถามความเห็นว่าปัจจุบัน รายได้และสภาพคล่องการเงินของครอบครัวท่าน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินของท่านอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 62.3 รายได้ เห็นว่ารายได้และสภาพคล่องการเงินของครอบครัวส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเงินในระดับปานกลาง รองลงมาร้อยละ 28.1 เห็นว่าอยู่ในระดับที่แย่ ร้อยละ 6.9 เห็นว่าอยู่ในระดับดี มีเพียงร้อยละ 2.7 ที่เห็นว่าอยู่ในระดับแย่มาก ทั้งนี้ไม่มีใครตอบว่าอยู่ในระดับดีมากเลย

เมื่อสอบถามความเห็นของชาวอีสานในอีกประมาณ 2- 3 เดือนข้างหน้า ต่อภาวะเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 65.5 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าของจังหวัดจะยังคงทรงตัว รองลงมาร้อยละ 23.3 เห็นว่าเศรษฐกิจและการค้าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 11.2 ที่เห็นว่าจะแย่ลง

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้า รายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่าง ๆ ของครอบครัวท่านจะเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 73.0 เห็นว่ารายได้ของครอบครัวจะยังเท่า ๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 15.8 เห็นว่าจะเพิ่มขึ้น และอีกร้อยละ 11.3 ที่เห็นว่ารายได้ต่อเดือนจากแหล่งต่าง ๆ ของครอบครัวจะลดลง

ในส่วนประเด็นของการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวในอีกประมาณ 2-3 เดือนข้างหน้าเมื่อเทียบกับปัจจุบันจะเป็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 70.4 เห็นว่าการหมุนเงิน/สภาพคล่องการเงินของครอบครัวจะยังเท่า ๆ เดิม รองลงมาร้อยละ 17.2 เห็นว่าจะดีขึ้น และอีกร้อยละ 12.4 เห็นว่า จะแย่ลง

เมื่อนำข้อมูลมาคำนวณดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 1/2558 พบว่าอยู่ที่ระดับ 107.1 ซึ่งแผ่วลงจาก 120.4 เมื่อเทียบกับผลสำรวจในไตรมาสที่ 4/2557 ค่อนข้างมาก ทั้งนี้เมื่อจำแนกตามเขตที่อยู่อาศัยระหว่างเขตเมือง และเขตชนบท จะเห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ลดลงจาก ไตรมาสที่ 4/2557 ในการสำรวจครั้งที่แล้วพอสมควร โดยเขตเมืองมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 102.2 ซึ่งลดลงจาก 117.4 ส่วนเขตชนบทมีดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 110.6 ซึ่งลดลงจาก 123.5

เมื่อจำแนกตามการบริหารงานแบบบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด พบว่า กลุ่มจังหวัด อีสานตอนกลางเขต 12 ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ และยโสธร มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้าสูงสุด โดยอยู่ที่ระดับ 114.2 ซึ่งลดลงจาก 123.5 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน รองลงมา คือ กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบนเขต 11 ได้แก่จังหวัด สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร (หรือกลุ่มจังหวัดสนุก) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.7 ซึ่งลดลงจาก 122.0 ในไตรมาสที่แล้ว ตามมาด้วย กลุ่มจังหวัด อีสานตอนกลางเขต 12 ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ (หรือกลุ่มจังหวัดร้อยแก่นสารสินธุ์) มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.4 ซึ่งลดลงจาก 128.9 ในไตรมาสที่แล้ว กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่างเขต 14 ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ มีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 109.0 ลดลงเล็กน้อยจาก 116.6 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน ส่วนกลุ่มจังหวัดกลุ่มอีสานตอนบนเขต 10 ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และเลย (หรือกลุ่มจังหวัดสบายดี) พบว่ามีดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำที่สุดลดต่อเนื่องติดต่อกัน 3 ไตรมาส โดยอยู่ที่ระดับ 92.2 ลดลงค่อนข้างมากจาก 115.5 เมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ปลูกยางพารามากที่สุดในภาคอีสานซึ่งต้องเผชิญกับราคายางที่ตกต่ำ

โดยสรุปเศรษฐกิจอีสานในไตรมาสที่ 1/2558 ยังต้องเผชิญกับปัญหาราคาตกต่ำของพืชเศรษฐกิจหลัก ปัญหาซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหัวเมืองจังหวัดใหญ่ และปัญหาระดับหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งภาคอีสานมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนสูงที่สุด จึงส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของประชาชนมากนัก เนื่องจากระบบเศรษฐกิจต้องใช้เวลาซักพักเพื่อให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้าตามต้นทุนการผลิตที่ลดลง ดังนั้นภาครัฐควรต้องเร่งให้ภาคธุรกิจปรับลดราคาสินค้าตามต้นทุนน้ำมันที่ลดลงและการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังไม่เป็นไปตามเป้า

ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 51.7 เพศชาย ร้อยละ 48.3 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 29.5 รองลงมา ร้อยละ 27.0 อายุ 46-55 ปี ร้อยละ 25.0 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 6.9 อายุ 56-60 ปี ร้อยละ 6.5 อายุ 18-25 ปี และร้อยละ 5.1 อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 39.0 รองลงมามัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 22.0 ปริญญาตรี ร้อยละ 21.5 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 10.7 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 4.7 ปริญญาโทหรือสูงกว่า ร้อยละ 2.1 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 39.1 รองลงมารับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.3 อาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 13.2 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.3 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.0 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.0 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.4 อื่นๆ ร้อยละ 2.5

ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 33.1 รองลงมามีรายได้อยู่รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 23.3 รายได้ระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 19.8 รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 13.4 รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 8.7 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.8

หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รายชื่อคณะผู้วิจัย

รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม

คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน

ผศ.ดร.ศิริลักษณ์ ศุทธชัย

รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร

ผศ.ประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์

รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมสัมพันธ์

ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์

หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล

เจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลและประมวลผล

นางสาวศิริพรรณ ยศปัญญา

นางสาวสงบ เสริมนา

นางสาวศิรินันท์ บุตรพรม

นางสาวกมลทิพย์ ศรีหลิ่ง

นางสาวกุสุมาวดี คำคอนสาร

นางสาวนันท์นภัส คำนำโชค

นางสาวปุณิกา สิ่วศรี

นางสาวพรสวรรค์ สว่างวงษ์

นางสาวพิชญาภา จันศรี

นางสาววลัยพร พิมศร

นางสาววิไลวรรณ แปนเมือง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๙:๒๒ เสนา ตอกย้ำความสำเร็จ ในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
๐๙:๑๑ EP พร้อมเดินหน้ารับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ดันผลงานปี67โตทะยาน 4 เท่า หลังได้รับการสนับสนุนเงินกู้ Project Finance จาก
๐๙:๓๘ BEST Express บุก บางบัวทอง เปิดแฟรนไซส์ขนส่งสาขาใหม่ มุ่งศึกษาพื้นที่ เจาะกลุ่มลูกค้าที่แตกต่าง ตอบความต้องการตรงจุด
๐๙:๑๗ ผถห.TQR โหวตจ่ายปันผลปี 66 อีก 0.226 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ./หุ้น ลุยพัฒนาโปรดักส์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่เต็มสปีด
๐๙:๓๗ CPANEL APM ร่วมต้อนรับคณะนักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมนำเยี่ยมชมกระบวนการผลิต Precast จ.ชลบุรี
๐๘:๒๒ SCGP ทำกำไรไตรมาสแรก 1,725 ล้านบาท เดินหน้ากลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
๐๘:๐๑ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนมัธยม โชว์หลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์
๐๘:๔๗ ค่ายสมหวัง สร้างโอกาส รุ่นที่ 4 ขยายความรู้ทางการเงินสู่เครือข่ายคนรุ่นใหม่ต่อเนื่อง
๐๘:๕๓ ส่องสัญญาณฟื้นตัว ตลาดรับสร้างบ้านไตรมาส 2 รับผลบวกมาตรการรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ - ยอดสั่งสร้าง
๐๘:๕๕ RSP จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ผถห.ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.13 บ./หุ้น กำหนดจ่าย 15 พ.ค. นี้