ผลักดันเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เพื่อเปลี่ยนการใช้ปุ๋ยแบบ “เสื้อโหล” สู่แนวทางการเกษตรแบบแม่นยำ

พฤหัส ๒๒ มกราคม ๒๐๑๕ ๑๐:๔๒
สระบุรีกำหนดจัดมหกรรมตรวจดินครั้งยิ่งใหญ่ 500 ตัวอย่าง 23 ม.ค. 2558 นับเป็นก้าวแรกของการเกษตรแบบแม่นยำเพื่อความยั่งยืน นักวิชาการชี้สถานการณ์ปัจจุบันเกษตรกรเสี่ยงทุกด้าน แนะเร่งลดต้นทุนให้มากที่สุด

ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญดินและปุ๋ย กล่าวว่า วันที่ศุกร์ที่ 23 ม.ค. 2558 ตั้งแต่ 08.00 น.เป็นต้นไป เครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักจะมีการจัดงานมหกรรมตรวจดิน ที่สนามกีฬา อ.หนองแค จังหวัด สระบุรี โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) คาดว่า จะมีเกษตรกรนำดินมาตรวจ 500 ตัวอย่าง ถือว่าเป็นมหกรรมตรวจดินที่มีเกษตรกรเข้าร่วมมากที่สุด การจัดมหกรรมตรวจดินเป็นขั้นตอนสำคัญในการเผยแพร่เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” สู่เกษตรกร ที่กำลังมีความพยายามผลักดันผ่าน www.progressTH.org

คลินิกดินที่เกิดขึ้นจะดำเนินการโดยเกษตรกร เพื่อเกษตรกร จากภาพจะเห็นได้ว่า เกษตรกรต้องรู้จักการตรวจดินโดยใช้เครื่องมือปุ๋ยสั่งตัดเพื่อวัดค่า N-P-K ในดิน โดยมี ดร.ประทีป วีระพัฒนนิรันดร์ ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด (ภาพงานเปิด “คลินิกดิน” แห่งที่ 5 ในอยุธยา เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 )

ดร.ประทีป กล่าวว่า เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อน เริ่มจากจากเกษตรกรศึกษาข้อมูลชุดดิน นำดินมาตรวจ เพื่อให้รู้ว่าดินในขณะนั้นมี N-P-K อยู่เท่าไร เพื่อให้การใช้ปุ๋ยตรงกับชนิดดินและความต้องการของพืช ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยแบบกว้างๆ อย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ในงานมหกรรมวันนั้น จะมีการเสวนาเรื่อง “วันนี้มีคำตอบ... ทำไมต้อง “ปุ๋ยสั่งตัด และปลูกข้าวด้วยต้นทุน 2,500 บาท/ไร่ ได้อย่างไร” อีกทั้งมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ คือ เครื่องปลูกข้าวน้ำตม ที่สร้างโดยเกษตรผู้นำเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสักด้วย

"ดินเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตเกษตรกร แต่ดินกลับเป็นสิ่งที่เกษตรกรรู้จักน้อยที่สุด รวมถึงเรื่องการใช้ปุ๋ยด้วย ชาวนาส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องดินและปุ๋ยเลย ไม่รู้ว่า N-P-K ที่พิมพ์ข้างกระสอบ คืออะไร นี่คือปัญหาใหญ่ที่ทำให้การปลูกพืชมีต้นทุนสูง”

ดร.ประทีป กล่าวว่า มหกรรมตรวจดินครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการเกษตรไทย ที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ “การเกษตรแบบแม่นยำ” เป็นการเกษตรที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรให้สอดคล้องกับพื้นที่ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตพืช

“ในทุกวันนี้ เกษตรกรมีความเสี่ยงรอบด้าน เพราะทุกอย่างคือการลงทุน แต่ชาวนาไม่สามารถคาดการณ์ทั้งเรื่องผลผลิตและราคาได้ว่า จะได้เท่าไหร่ ดังนั้น เรื่องเร่งด่วนสำหรับเกษตรกรคือ การลดต้นทุน เพราะจัดการได้ด้วยตนเองทันที โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์ และลดการใช้แรงงาน” ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน กล่าว

ดร.ประทีป กล่าวว่า การลดต้นทุนการผลิตข้าว ควรเริ่มจาก 1. ใช้เทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีได้เกือบ 50% อีกทั้งยังช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลงด้วย เพราะต้นข้าวจะแข็ง แมลงไม่ทำลาย 2. ลดเมล็ดพันธุ์ จากที่เคยใช้ไร่ละ 30 กิโลกรัม เหลือเพียง 12 กิโลกรัม โดยใช้เครื่องปลูกข้าวน้ำตม และ 3. ลดค่าแรงงาน เพราะเครื่องปลูกข้าวที่เกษตรกรประดิษฐ์ขึ้นมา ปลูกข้าวได้ถึงวันละ 50 ไร่ และใช้แรงงานเพียง 2 คนเท่านั้น ซึ่งจากปกติหว่านได้วันละ 15 ไร่

“ทั้งหมดนี้คือการปูพื้นฐานให้แก่เกษตรกร ต่างจากนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยเฉพาะในภาวะที่เกษตรกรเผชิญความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เกษตรกรจำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกัน สามารถคิดกระบวนการผลิตเองได้ และเลือกเทคโนโลยีมาใช้ลดต้นทุนการผลิตได้ เพราะที่เหลือก็คือกำไรนั่นเอง” ประธานมูลนิธิพลังนิเวศและชุมชน กล่าว

นางศิริพร สุปัญญาพาณิชย์ เลขานุการเครือข่ายลุ่มเจ้าพระยาป่าสัก กล่าวว่า อยากให้เกษตรเข้าร่วมงานมหกรรมครั้งนี้ เพราะทุกวันนี้เกษตรกรทำนาแบบตัวใครตัวมัน และใช้ปุ๋ยเคมีไม่ถูกต้อง ทำให้ต้นทุนสูง ซื้อปุ๋ยในราคาแพง และบางครั้งได้ปุ๋ยปลอมด้วย ถ้าเกษตรกรต้องการลดต้นทุน ต้องเปลี่ยนวิธีคิด และหันมาลดต้นทุนอย่างจริงจัง ด้วยการรวมกลุ่ม และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีต่างๆ ด้วยกัน

“คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด” เป็นศูนย์เรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทั้งการตรวจดิน และการผสมปุ๋ยใช้เอง ลดต้นทุนได้เยอะมาก ซึ่งจะช่วยรักษาอาชีพชาวนาให้ยังคงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน ไม่ตกเป็นเหยื่อของพ่อค้าอีกต่อไป”นางศิริพร กล่าว

อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวตอนหนึ่งถึงเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” ในการรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” เมื่อวันศุกร์ที่ 16 มกราคม 2558 ว่า ในปีนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้ง “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” รวมทั้งหมด 882 แห่งในทุกอำเภอทั่วประเทศ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ ซึ่งกรมส่งเสริมฯ ได้นำเทคโนโลยี “ปุ๋ยสั่งตัด” มาใช้ในพื้นที่ชลประทาน ภาคกลาง 20 จังหวัด พบว่าชาวนาสามารถลดปุ๋ยเคมีได้ 47% และผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 7% ต้นทุนในการปลูกข้าวลดลงเฉลี่ย 400-500 บาท เพื่อจะแก้ปัญหา “ปุ๋ยผิด ปุ๋ยปลอม ปุ๋ยแพง” อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4