โพลล์เผยผลสำรวจความคิดเห็นความมีจิตอาสาในคนไทยลดลง

พฤหัส ๐๙ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๑:๑๐
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ร่วมแถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะ โดยได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 ถึง 7 เมษายน พ.ศ. 2558

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,155 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 50.82 ขณะที่ร้อยละ 49.18 เป็นเพศชาย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 30.74 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปี นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 34.29 และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และนักเรียน/นักศึกษา คิดเป็นร้อยละ 31.08 ร้อยละ 25.11 และร้อยละ 20.52 ตามลำดับ

ในด้านพฤติกรรมการช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะ เมื่อพบเห็นคนชรา/เด็ก/ผู้พิการทางสายตากำลังจะข้ามถนน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 62.42 ระบุว่าตนเองเคยเข้าไปช่วยจูงคนเหล่านั้นข้ามถนนเป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.62 ระบุว่าเคยบ้างเป็นบางครั้ง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.96 ยอมรับว่าไม่เคยเลย ขณะเดียวกันเมื่อพบเห็นเด็ก/สตรีตั้งท้อง/คนชรา/ผู้พิการทางสายตา/ผู้พิการอื่นๆขึ้นมาบนรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.84 ระบุว่าตนเองเคยลุกให้คนเหล่านั้นนั่งเป็นประจำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.54 ระบุว่าตนเองเคยลุกให้นั่งเป็นบางครั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.62 ยอมรับว่าไม่เคยเลย

แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.85 ระบุว่าตนเองเคยพบเห็นผู้ที่มีเจตนาไม่ยอมลุกให้เด็ก/สตรีตั้งท้อง/คนชรา/ผู้พิการทางสายตา/ผู้พิการอื่นๆนั่งบนรถโดยสารสาธารณะบ้างเป็นบางครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.7 ยอมรับว่าตนเองเคยพบเห็นเป็นประจำ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.45 ระบุว่าไม่เคยพบเห็นเลย ขณะเดียวกันเมื่อ/หากพบเห็นผู้ที่มีเจตนาไม่ยอมลุกให้เด็ก/สตรีตั้งท้อง/คนชรา/ผู้พิการทางสายตา/ผู้พิการอื่นๆนั่งบนรถโดยสารสาธารณะ กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.59 ระบุว่าตนเองจะรู้สึกว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนเห็นแก่ตัวเป็นอันดับแรก รองลงมาจะรู้สึกว่าผู้นั้นไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีซึ่งคิดเป็นร้อยละ 23.98 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.72 จะรู้สึกรังเกียจ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 10.48 รู้สึกโกรธ/โมโห ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.69 รู้สึกเฉยๆ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5.54 มีความรู้สึกอื่นๆ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.76 มีความคิดเห็นว่าสังคมควรตำหนิผู้ที่มีเจตนาไม่ยอมลุกให้เด็ก/สตรีตั้งท้อง/คนชรา/ผู้พิการทางสายตา/ผู้พิการอื่นๆ นั่งบนรถโดยสารสาธารณะ

ในด้านความคิดเห็นต่อความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นในสถานที่สาธารณะ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.28 มีความคิดเห็นว่าในปัจจุบันคนรุ่นใหม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะ เช่น การลุกให้ผู้อื่นนั่ง จูงคนชรา/เด็ก/ผู้พิการทางสายตาข้ามถนน ช่วยถือสัมภาระ เป็นต้น น้อยกว่าผู้คนในอดีต ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.36 มีความคิดเห็นว่ามีเท่าๆ กัน โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 16.36 มีความคิดเห็นว่ามีมากกว่า

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.71 มีความคิดเห็นว่าสภาพสังคมที่เร่งรีบในปัจจุบันมีส่วนทำให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะน้อยลง ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างเกือบสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 64.42 มีความคิดเห็นว่าข่าวสารเกี่ยวกับพลเมืองดีที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะแต่กลับได้รับผลกระทบ เช่น ถูกหลอกลวง ถูกชิงทรัพย์ ถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น มีส่วนทำให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นน้อยลง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.85 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อปลูกจิตสำนึกให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่รู้จักมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะที่มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

สำหรับบุคคลที่สามารถมีอิทธิพลกระตุ้นให้เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่มีจิตสำนึกของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะได้สูงสุด 3 อันดับตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างคือ พ่อแม่ผู้ปกครอง คิดเป็นร้อยละ 82.16 ครูอาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 80.09 และดารานักร้องนักแสดง/นักกีฬา คิดเป็นร้อยละ 76.88 ส่วนวิธีการปลูกจิตสำนึกเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นในสถานที่สาธารณะมากขึ้นได้ดีที่สุด 5 วิธีได้แก่ สอดแทรกอยู่ในบทเรียนในวิชาต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 81.21 จัดทำเป็นโฆษณาเผยแพร่ในสื่อต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 79.22 จัดทำเป็นบทละคร/นิทานเผยแพร่คิดเป็นร้อยละ 77.66 ให้สื่อสารมวลชนทั้งวิทยุ-โทรทัศน์นำเสนอทุกวันคิดเป็นร้อยละ 73.85 และจัดทำเป็นบทเพลงคิดเป็นร้อยละ 69.61

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4