“ทีมไอนอยด์ (iNoid) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ทีมไบโอแม็กซ์ (BIOMAX) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับรางวัลรองชนะเลิศ จากการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อคนพิการครั้งที่ 1”

พฤหัส ๐๙ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๐:๔๗
“การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ” ครั้งที่ 1 เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาไทยได้ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยผู้เข้าแข่งขันถูกท้าทายให้พัฒนาอุปกรณ์ป้องกันการล้มหรือช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการล้มของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

การแข่งขันระดับประเทศนี้จัดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โดยมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมเยาวชนไทยให้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบุคลากรทางการแพทย์ นักกายภาพบำบัด วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหุ่นยนต์รวมทั้งนักวิชาการ และสร้างนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยให้คนพิการได้ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 8 ทีมได้นำเสนออุปกรณ์ที่สร้างขึ้น สาธิตการทดลองใช้และแสดงผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งนำเสนอผลงานบนเวที ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การตัดสินผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศคืออุปกรณ์ที่นิสิต นักศึกษาประดิษฐ์ขึ้นจะต้องได้รับการทดสอบและทดลองแล้วว่าสามารถใช้งานได้จริง นำความสะดวกมาให้ผู้ใช้งาน และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก

ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศว่า “การประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสนับสนุนให้เยาวชนไทยมีความรักและความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนไปสู่การเป็นนักประดิษฐ์ในอนาคต”

ทีมไอนอยด์ (iNoid) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศได้ส่งผลงานหัวข้อ “ชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล” นวัตกรรมนี้ได้แสดงความสามารถพิเศษของนิสิตนักศึกษาในการพัฒนาโมดูลจำนวน 4 โมดูลเพื่อช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีก คืออุปกรณ์ที่ติดไว้กับตัวผู้ป่วย อุปกรณ์สำหรับติดตั้งไว้ภายในบ้าน เซ็นเซอร์ที่ทำหน้าที่หลักในการเก็บข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ภายในบ้าน และ API ซึ่งทางโรงพยาบาลหรือญาติสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บไว้ที่เซ็นเซอร์ได้

นายพชร โรจนดิชกุล สมาชิกในทีมไอนอยด์ เล่าถึงชุดอุปกรณ์ช่วยเรื่องการเดินของผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแบบแยกโมดูล ที่ทางทีมพัฒนาขึ้นว่า “จุดเด่นของชิ้นงานที่ทางทีมประดิษฐ์คือการแยกอุปกรณ์ออกเป็น 4 โมดูล เนื่องจากผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกแต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน การพัฒนาโมดูลแยกชิ้นทั้ง 4 โมดูลซึ่งในแต่ละโมดุลก็มีอุปกรณ์ที่แยกย่อยไปอีก จะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น ส่วนการพัฒนาศักยภาพของชิ้นงานในอนาคตนั้น ทางทีมจะพยายามทำให้ระบบมีความเสถียรมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้หลายระดับ”

อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมไอนอยด์ คือ ดร. จุมพล พลวิชัย ซึ่งสมาชิกในทีมไอนอยด์ ประกอบด้วย

1. นายวิศณุ จูธารี

2. นายฉัตริยะ จริยวจี

3. นายพชร โรจดิชกุล

4. นายอธิราช ภุมมะภูติ

5. นายสุวัฒน์ แซ่ก๊วย

ส่วนอีกทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศคือทีมไบโอแม็กซ์ (BIOMAX) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ส่งผลงานหัวข้อ “อุปกรณ์ป้องกันสะโพกพร้อมระบบแจ้งเตือนการล้ม” ซึ่งเป็นการออกแบบอุปกรณ์ป้องกันการกระแทกของสะโพกที่ผลิตจาก PVC Foam และ NBR พร้อมกับออกแบบระบบตรวจจับการล้ม เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้กระดูกสะโพกหักเมื่อผู้สวมใส่ล้มพร้อมกับทำการแจ้งเตือน รูปแบบอุปกรณ์เป็นกางเกง โดยจะมีกระเป๋าบริเวณเหนือปุ่มกระดูกเกรทเตอร์โทรแคนเตอร์ (greater trochanter) เพื่อใช้ใส่แผ่นกันกระแทก และมีอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบแจ้งเตือนการล้มติดบริเวณขอบของกางเกง

อาจารย์ที่ปรึกษาของทีมคือ ดร. ภาคภูมิ สมบูรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกในทีม ไบโอแม็กซ์ ประกอบด้วย

1. นายเผ่าพิชญ์ ศิริอาชาวัฒนา

2. ว่าที่ร.ต. วีรพล สุวรรณฉาย

3. นายณัฐบดี มีเดชประเสริฐ

4. นายอติชาต อภิรักษ์คุณวงษ์

5. นางสาวณัฐนพิญช์ จรูญศักดิ์

นายสุรัตน์ เสมาพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทได้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ในประเทศไทยมาเป็นเวลา 15 ปี ทางบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างการตระหนักและความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์หรือ STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) ผ่านทางการปฏิบัติจริง ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าศักยภาพในการพัฒนานวัตกรรมของเยาวชนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกันเป็นทีมของนักประดิษฐ์ เราจึงอยากเห็นพวกเขาพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ก่อเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกต่อไป”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการประกวดนวัตกรรมเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการว่า “18 ทีม จาก 10 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมการแข่งขันในปีนี้ นวัตกรรมของแต่ละทีมต่างมีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันสำหรับผู้พิการ ซึ่งเชื่อมั่นว่านอกจากเยาวชนที่เข้าร่วมการประกวดจะได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์กับทีมอื่นๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริง”

แพทย์หญิงดารณี สุวพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวว่า “ทางศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติขอขอบคุณทางบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ร่วมกันจัดกิจกรรมการประกวดซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งทางศูนย์สิรินธรฯ จะนำนวัตกรรมที่น้อง ๆ นิสิต นักศึกษาได้สร้างสรรค์ขึ้นไปใช้เพื่อประโยชน์ของผู้พิการต่อไป”

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทุกคนที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ สำหรับเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันแต่ไม่ได้รับรางวัล ก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ อยากให้มองลึกลงไปถึงขั้นตอนต่าง ๆ ที่ร่วมกับทีมพัฒนาผลงานกว่าจะนำเข้าประกวดได้ต้องผ่านการลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประสบการณ์ตรงนั้นต่างหากที่สำคัญเพราะหาไม่ได้จากชั้นเรียนเราต้องลงมือทำเองจึงเกิดความตระหนักและเรียนรู้ อีกทั้งยังได้เพื่อนใหม่ ได้สังคมใหม่ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากกว่ารางวัลใดๆ ”

เนื่องจากคณะกรรมการได้ตั้งหลักเกณฑ์ไว้ว่าทีมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งประกอบด้วยถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 300,000 บาท จะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่า 80 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน แต่จากการรวมคะแนนแล้วไม่มีผู้เข้าแข่งขันทีมใดได้คะแนนเกิน 80 คะแนน และผลงานทั้งหมดยังต้องผ่านการขัดเกลาเพิ่มเติม จึงจะสามารถนำไปให้ผู้พิการอัมพาตครึ่งซีกใช้งานจริงต่อไปได้ ดังนั้น จึงไม่มีทีมใดได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ได้ที่เว็บไซต์ www.trs.or.th

ซีเกท

ซีเกทคือผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลชั้นนำของโลก ท่านสามารถพบข้อมูลเกี่ยวกับซีเกทได้ที่ www.seagate.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๙ เม.ย. บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๙ เม.ย. รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๙ เม.ย. กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๙ เม.ย. ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๙ เม.ย. กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๙ เม.ย. เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๙ เม.ย. สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๙ เม.ย. GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๙ เม.ย. เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๙ เม.ย. เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4