ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม มีนาคม 58 ลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 5 เดือน หวั่นสภาวะเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ

อังคาร ๒๘ เมษายน ๒๐๑๕ ๑๕:๓๐
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมีนาคม 2558จำนวน 1,171 ราย ครอบคลุม 43 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.1, 39.5 และ 30.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 35.6,17.2,14.8,13.3 และ 19.1 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 78.0 และ 22.0 ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 87.7 ลดลงจากระดับ 88.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2558 ยังคงปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน สะท้อนบรรยากาศของการประกอบการอุตสาหกรรม ที่ยังขาดปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ประกอบกับความเปราะบางของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากขาดการปรับปรุงเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของเกษตรกร ขณะเดียวกันการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับในภูมิภาค เป็นอีกปัจจัยที่ส่งด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการส่งออก

ผู้ประกอบการที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเห็นว่า บทบาทของภาครัฐในการเร่งการใช้จ่าย ทั้งจากการบริโภคและการลงทุน จะเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการในการขยายการลงทุน และการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือของกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในรูปแบบคลัสเตอร์ จะส่งผลดีต่อการลดต้นทุนการผลิต การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงแนวทางการดำเนินกิจการ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.4 เพิ่มขึ้นจาก 99.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วน ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกขนาดอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์

โดย อุตสาหกรรมขนาดย่อม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 81.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเซรามิก, อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้นขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.1 ลดลงจาก 99.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง จากผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 85.5 ลดลงเล็กน้อยจาก 85.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร,อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมหล่อโลหะ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.2 เพิ่มขึ้นจาก 98.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ด้าน อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 97.0 ลดลงจากระดับ 98.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล,อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ,อุตสาหกรรมต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ อยู่ที่ระดับ 104.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 99.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมีนาคม 2558 จากการสำรวจพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อุตสาหกรรมภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์

ภาคกลาง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 91.7 ลดลงจากระดับ 92.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลงในเดือนนี้ ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง (ผลิตภัณฑ์ประเภทหนังแท้ เข็มขัดหนัง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ,สินค้าประเภทถุงมือหนัง ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงมียอดสั่งซื้อจากตลาดยุโรปลดลง) , อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น แป้ง ครีมบำรุง มียอดการส่งออกไปประเทศฝรั่งเศส สหรัฐฯ และรัสเซีย ลดลงประกอบกับมีการแข่งขันด้านราคาสูง), อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (สินค้าประเภทเครื่องนวดข้าว ชิ้นส่วนรถไถ ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เช่น ชิ้นส่วนเครื่องสีข้าว อะไหล่รถขุด มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีรายได้ลดลงจากปัญหาพืชผลทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ) และอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (เนื่องจากรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ของค่ายรถยนต์ต่างๆ ตลอดจนการจัดงาน บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม เป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการกระตุ้นการเติบโตของตลาดรถยนต์) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.5เพิ่มขึ้นจากระดับ 98.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 81.4 ลดลงจากระดับ 83.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สิ่งทอประเภทผ้าผืนมียอดขายในประเทศลดลง ,ผ้าไหมพื้นเมืองมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและตะวันออกกลางลดลง), อุตสาหกรรมเซรามิก (เครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากลูกค้ามีสต็อกสินค้าปริมาณสูง,ผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผา และชุดอาหารมียอดการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและไต้หวันลดลง) ,สินค้าหัตถอุตสาหกรรม (ผลิตภัณฑ์ประเภทดอกไม้ประดิษฐ์ และของที่ระลึก มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง,ผลิตภัณฑ์จักสาน ผ้าทอมือ ผ้าลูกไม้จากประเทศยุโรปและตะวันออกกลางลดลง จากความต้องการของลูกค้าที่ลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมสมุนไพร (ผลิตภัณฑ์ประเภทที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู สินค้าOTOP ที่ทำจากสมุนไพร มียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนื่องจากสมุนไพรไทยกำลังได้รับความนิยม) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.8 ลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 82.7 ลดลงจากระดับ 85.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์เสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศและส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น จีน ลดลง) ,อุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดคำสั่งซื้อน้ำตาลทรายจากประเทศอินเดียและตะวันออกกลางลดลงจากภาวะสงคราม) , อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน(สินค้าประเภทหินก่อสร้าง หินอ่อนและหินประดับ มียอดขายในประเทศลดลง, ยอดสั่งซื้อกระเบื้องปูพื้นแกรนิตจากประเทศเวียดนาม ลาว ลดลง) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ค่าดัชนีฯปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (เนื่องจากยอดขายปูนซีเมนต์ชนิดผงและปูนซีเมนต์สำเร็จในประเทศเพิ่มขึ้นจากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และโครงการก่อสร้างภาคเอกชน) สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 99.7 ลดลงจากระดับ 100.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ 99.6เพิ่มขึ้นจากระดับ 95.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สินค้าประเภทหัวอ่านซีดี ดีวีดี มอเตอร์ไฟฟ้า มียอดการส่งออกไปประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้น), อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ประกอบกับมีสินค้ารุ่นใหม่ที่ประหยัดพลังงานและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค) ,อุตสาหกรรมเหล็ก (ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่น รีดเย็น วัสดุเหล็กมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของภาคก่อสร้างและความต้องการผลิตเป็นชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ และยานยนต์) และอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกค่าดัชนีฯปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ( เนื่องจากยอดขายเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่น เครื่องตัดโลหะ เครื่องพ่นสีโลหะ ในประเทศลดลง และชิ้นส่วนเครื่องจักรกลมียอดการส่งออกไปประเทศในกลุ่ม CLMV ลดลง) ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 108.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ส่วน ภาคใต้ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนมีนาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 82.1 ลดลงจากระดับ 85.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ โดยอุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะแลแช่แข็งและแปรรูป มียอดคำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปลดลง ประกอบกับอยู่ในช่วงปิดอ่าวทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบประเภทกุ้งและปลาทะเล ผู้ประกอบการบางรายต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ) อุตสาหกรรมโรงเลื่อย โรงอบไม้ (ผลิตภัณฑ์ประเภทไม้ยางพาราแปรรูปมียอดคำสั่งซื้อจาก ประเทศจีน อินโดนีเชีย ลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าจำนวนมาก ) , อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (สินค้าประเภทไม้อัดวีเนียร์ ไม้ประสาน ไม้ปาร์เก้และไม้บาง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศและจากประเทศจีนลดลง) อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมในภาคใต้ ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (เนื่องจากยอดขายน้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพิ่มขึ้น และการส่งออกน้ำมันปาล์มขยายตัวสูงเนื่องจากตลาดหลัก เช่น เอเชียใต้ มีความต้องการเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.7เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนมีนาคม ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลงจากในเดือนกุมภาพันธ์

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม อยู่ที่ระดับ 84.8 ปรับตัวลดลงจาก 85.3ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการสำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร,อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์,อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 ทรงตัวจากระดับ 99.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 98.1 ลดลงจากระดับ 103.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 97.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2558 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนมีนาคมนี้ คือ ผู้ประกอบการต้องการให้มีการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน พร้อมทั้งดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อีกทั้งให้สนับสนุนการใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมถึงสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๘ มี.ค. องค์การบรรจุภัณฑ์โลก จับมือ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ร่วมจัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์
๒๘ มี.ค. การแข่งขันกีฬาขี่ม้าโปโลรายการ King Power International Ladies' Polo Tournament 2024
๒๘ มี.ค. DEXON ปักธงรายได้ปี 67 ทะลุ 700 ลบ. โชว์ Backlog เฉียด 280 ลบ. ล็อคมาร์จิ้น 35-40%
๒๘ มี.ค. JPARK ร่วมงาน Dinner Talk ผู้บริหารจดทะเบียนพบนักลงทุน จ.ราชบุรี
๒๘ มี.ค. นีเวีย ซัน และ วัตสัน จับมือต่อปีที่สองชวนดูแลท้องทะเล กับโครงการ เพราะแคร์ จึงชวนแชร์ ร่วมพิทักษ์รักษ์ทะเลไทย
๒๘ มี.ค. Cloud เทคโนโลยีที่อยู่ใกล้ตัว เพียงแค่คุณไม่รู้เท่านั้นเอง
๒๘ มี.ค. โรยัล คานิน ร่วมกับ เพ็ทแอนด์มี จัดงาน Royal Canin Expo 2024: PAWRENTS' DAY เพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นสำหรับน้องแมวและน้องหมา
๒๘ มี.ค. STEAM Creative Math Competition
๒๘ มี.ค. A-HOST ร่วมวาน MFEC Inspire ขึ้นบรรยายพร้อมจัดบูธ Cost Optimization Pavilion
๒๘ มี.ค. ฟินเวอร์! ส่องความคิ้วท์ 'ฟอส-บุ๊ค' ควงคู่ร่วมงาน Discover Thailand เสิร์ฟโมเมนต์ฉ่ำให้แฟนๆ ได้ดับร้อนกันยกด้อมรับซัมเมอร์ และร่วมส่งต่อความสุขในกิจกรรม 'Exclusive Unseen Food Trip กับ คู่ซี้