“มิวเซียมสยาม” ปั้น “ทีมกู้ชีพ” ฟื้นชีวิต “ของขวัญ” สร้าง “นักอนุรักษ์ประจำบ้าน” เชื่อมความสุขจากรุ่นสู่รุ่น

อังคาร ๒๖ พฤษภาคม ๒๐๑๕ ๑๕:๕๕
“ของขวัญ” เป็นสิ่งของที่มีคุณค่าที่นิยมมอบให้เพื่อแสดงความรักที่มีต่อกันของผู้คนทุกเพศวัย นอกจากความประทับใจในวันที่ได้รับแล้ว ของขวัญยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือย้อนเวลาเพื่อกลับไปค้นหาและระลึกถึงความทรงจำอันแสนสุข

แต่วันเวลาที่ผ่านพ้นไปข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ย่อมที่จะมีการเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับของขวัญที่เคยสวยงาม หากปราศจากการดูและเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ก็จะเก่าทรุดโทรมเหมือนกับความทรงจำที่พร่าเลือน ไม่ต่างไปจากการละเลยประวัติศาสตร์ของตนเอง

“มิวเซียมสยาม” ในฐานะพิพิธภัณฑ์ไทยรูปแบบใหม่ที่นอกจากจะสร้างการเรียนรู้อย่างสนุกสนานแล้ว ยังให้ความสำคัญต่องานด้านการอนุรักษ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จึงได้เปิดคอร์สพิเศษ “กู้ชีพของขวัญ” ขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการดูแลรักษาข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุประเภทต่างๆ ให้สวยงามและมีอายุยาวนานขึ้นด้วยเทคนิคง่ายๆ เป็นการสนับสนุนให้คนไทยทุกเพศทุกวัยได้เป็นนักอนุรักษ์ประจำบ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 7 ปีของมิวเซียมสยาม ที่มุ่งสร้าง Museum Culture ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยการจัดกิจกรรมที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับความสนใจและความต้องการของผู้ชมเป็นสำคัญ

อาจารย์จิราภรณ์ อรัณยะนาค ที่ปรึกษาสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมิวเซียมสยาม เปิดเผยว่า วัตถุต่างๆ คือประจักษ์พยานสำคัญที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองด้านศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม สังคม และเทคโนโลยี งานอนุรักษ์จึงเป็นภารกิจสำคัญของพิพิธภัณฑ์ที่ต้องดูแลรักษาโบราณวัตถุให้เสื่อมสภาพช้าลง หรือยืดอายุให้ยาวนานที่สุด เพื่อเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ และสืบค้นให้เข้าใจในรากเหง้าของตนเอง

“ของขวัญและของสะสมมีคุณค่าเช่นเดียวกับวัตถุพิพิธภัณฑ์ นั่นคือมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวทรงคุณค่าในตัวเอง การจัดอบรมกู้ชีพของขวัญจึงเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ให้บุคคลทั่วไปสามารถดูแลรักษาวัสดุประเภทต่างๆ ของตนเองได้ด้วยวิธีการง่ายโดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัวเป็นเครื่องมือ ถือเป็นการสร้างนักอนุรักษ์ประจำบ้านให้เกิดขึ้น เพื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ของตนเองและครอบครัวไปสู่รุ่นลูก รุ่นหลาน โดยใช้ของขวัญชิ้นสำคัญเป็นตัวช่วยบอกเล่าเรื่องราว และฉายภาพอดีตให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น” ที่ปรึกษา สพร.อธิบาย

โดยการอนุรักษ์แนวใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ “การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น” เพราะเป็นวิธีที่สามารถชะลอกระบวนการเสื่อมสภาพของวัตถุได้ดีที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้น สิ่งของที่ทำจากอินทรีย์วัตถุ อาทิ ผ้า กระดาษ เครื่องจักสาน และหนังสัตว์ หากเก็บในที่ๆ มีความชื้นสูงอาจถูกแมลงและเชื้อราทำลาย โลหะก็สามารถเป็นสนิมและผุพังได้ในที่สุด

โดย “อาจารย์จิราภรณ์” แนะนำว่า การจัดเก็บหนังสือเก่า ภาพถ่าย หรือจดหมายสำคัญ ให้แผ่กางออกและวางบนกระดาษแข็งไร้กรด แล้วหุ้มด้วยผ้า หากพบว่ากระดาษมีมอดหรือแมลงกัดแทะ ให้ใส่ในถุงซิปล็อค แล้วเก็บในช่องแช่แข็ง เมื่อแมลงตายให้นำออกจากตู้เย็น ปัดแมลงออก วางไว้ในอุณหภูมิปกติ แล้วจัดเก็บตามขั้นตอน หากพบว่ากระดาษฉีกขาดห้ามใช้เทปกาวติด เพราะสารเคมีในกาวจะยิ่งทำให้กระดาษชำรุดมากยิ่งขึ้น และไม่ควรนำไปขึงติดกับกรอบไม้ เพราะไม้มีการยืดและหดตัว ซึ่งอาจทำให้กระดาษฉีกขาดได้

สำหรับวัตถุที่เป็นโลหะ ควรหมั่นทำความสะอาดโดยการใช้สำลีชุบน้ำสะอาดค่อยๆ ปัดฝุ่นและสิ่งสกปรกออกไป คราบสกปรกที่ติดแน่นให้ใช้น้ำผสมแอลกอฮอล์ สำหรับการใช้สารเคมีควรเป็นวิธีการสุดท้าย เพราะสารเคมีรุนแรงอาจทำลายพื้นผิววัสดุเสียหายได้ ในกรณีที่เป็นวัตถุทำจากพลาสติกควรใช้แปรงขนนุ่มปัดฝุ่น หรือใช้น้ำสะอาดค่อยๆ เช็ดทำความสะอาด ไม่ควรใช้แอลกอฮอล์หรือสารเคมีใดๆ เนื่องจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีอายุสั้น และทำปฏิกิริยากับสารเคมีได้ง่ายกว่าโลหะ

นางพรสวรรค์ และ ดญ.อิสลีย์ วงษ์กาญจนกุล เล่าถึงการเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ปกติแล้วเป็นนักสะสมทั้งของที่ระลึกจากการท่องเที่ยว และของใช้โบราณ เคยดูแลรักษาโดยการใช้สารเคมีทำความสะอาด แต่ทำให้ผิววัตถุมีการเปลี่ยนแปลง จึงต้องการศึกษาวิธีที่ถูกต้องจากผู้รู้ตัวจริง

“นอกจากความรู้เรื่องการดูแลทำความสะอาดแล้ว ยังได้แง่คิดว่าทุกสิ่งล้วนมีอายุขัย สิ่งใดที่ยังคงอยู่เราต้องดูแลมันอย่างดีที่สุด หากสามารถทำนุบำรุงจนสามารถตกทอดไปสู่รุ่นลูกได้ ลูกก็จะได้เรียนรู้จากเราว่าทำอย่างไรก็ได้ให้สิ่งของเหล่านั้นได้สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้อื่น โดยการเป็นสื่อสะท้อนประวัติศาสตร์หรือบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา” นางพรสวรรค์กล่าว

นายธวัชชัย พวงทอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมอีกท่านหนึ่งกล่าวเสริมว่า ชอบสะสมของเล่นเก่า เพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย เข้าถึงทุกเพศทุกวัย มีพลังในการเล่าเรื่องราว เพราะของเล่นหนึ่งชิ้นสามารถบอกได้ว่า แฟชั่น ความคิดสร้างสรรค์ และความนิยมใช้วัสดุอุปกรณ์ในยุคนั้นๆ เป็นเช่นใด

“การเข้าอบรมในครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจในการเป็นนักอนุรักษ์เล็กๆ ที่พึ่งพาตนเองได้ เพราะคนเรามักมีความทรงจำที่ถูกลืมไปหลายอย่าง สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะสิ่งของที่เป็นเครื่องช่วยจำได้ชำรุดทรุดโทรมลงไป หากเราสามารถดูแลรักษาสิ่งของสะสมให้คงสภาพเดิมมากที่สุด ในอนาคตก็สามารถนำออกมาให้คนอื่นๆ ได้ชื่นชม แลกเปลี่ยนทัศนะ ความคิดและประสบการณ์ดีๆ ที่เคยมีร่วมกันในยุคสมัยหนึ่งได้” นายธวัชชัยอธิบาย

“ประเทศไทยร่ำรวยทรัพย์สินทางวัฒนธรรม ทั้งโบราณสถาน โบราณวัตถุ เอกสารประวัติศาสตร์ หากมีผู้ที่เข้าใจและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น ก็จะเกิดสังคมนักอนุรักษ์ที่ขยายตัวจากวัตถุชิ้นเล็กๆ ไปสู่การร่วมกันอนุรักษ์วัตถุที่เป็นทรัพย์สินของชาติ และสิ่งเหล่านี้ก็จะมรดกตกทอดให้ลูกหลานได้มีเรื่องราวสนุกๆ ได้สืบค้นกันต่อไป” อ.จิราภรณ์ อรัณยะนาค กล่าวสรุป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๐๔ กลุ่ม KTIS จับมือ Marubeni ประสานความร่วมมือในการขายเครดิตพลังงานหมุนเวียน (REC)
๑๔:๒๐ ผู้ถือหุ้น TIDLOR อนุมัติจ่ายปันผลเป็นหุ้น-เงินสด อัตรา 27 หุ้นสามัญ : 1 หุ้นปันผล พร้อมจ่ายเงินสด 0.2698 บ./หุ้น เตรียมขึ้น XD วันที่ 24 เม.ย. 67 รับทรัพย์ 14
๑๔:๔๙ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว โครงการพัฒนาระบบแบ่งปันฐานข้อมูลการฉ้อฉลประกันภัย
๑๔:๑๐ สสวท. เติมความรู้คู่กีฬากับ เคมีในสระว่ายน้ำ
๑๓:๐๓ ฉุดไม่อยู่! ซีรีส์ Kiseki ฤดูปาฏิหาริย์ กระแสแรง ขึ้น TOP3 บน Viu ตอกย้ำความฮอต
๑๔:๒๔ TM บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุพระราม 9
๑๔:๑๒ ผถห. JR อนุมัติจ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น พร้อมโชว์ Backlog แน่น 9,243 ลบ.
๑๔:๕๐ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ
๑๔:๓๔ ธนาคารกรุงเทพรายงานกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 1 ปี 2567 จำนวน 10,524 ล้านบาท
๑๔:๑๔ กรุงศรี ร่วมมือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในโลกธุรกิจ