ท้องทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จ่อวิกฤติ

จันทร์ ๐๘ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๑:๐๐
จากการประเมินมูลค่าความร่ำรวยของท้องทะเลพบว่าสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลเหล่านั้นกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ตามรายงาน ข้อเสนอแนะ การฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเล ปี พ.ศ.2558 ของ WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกที่เผยแพร่ออกมาในวันทะเลโลก (World Oceans Day) ในวันนี้ วิเคราะห์ถึงหน้าที่ของท้องทะเลในการเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับระบบเศรษฐกิจที่สำคัญและชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามที่กำลังทำให้ท้องทะเลค่อยๆ เสื่อมถอยลง

โดยรายงานระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ของท้องทะเลที่สำคัญของโลกนั้นคาดกันว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า

800 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจ 10 อันดับต้นๆ ของโลกแล้ว จะทำให้มหาสมุทรนั้นติดอยู่ในอันดับที่ 7 โดยมีมูลค่าของสินค้าและบริการรายปีสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลฉบับนี้ มุ่งเน้นศึกษาฐานสินทรัพย์ของท้องทะเล โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเปลี่ยนแปลงของโลก (The Global Change Institute: GCI) แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และกลุ่มที่ปรึกษาบอสตัน (The Boston Consulting Group: BCG) โดยรายงานเปิดเผยความมั่งคั่งอันมหาศาลของท้องทะเลผ่านการประเมินค่าของสินค้าและบริการทางทะเลอันหลากหลาย ตั้งแต่การทำประมงไปจนถึงการป้องกันพายุชายฝั่ง และยังอธิบายถึงการทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่หยุดหย่อนจากการแสวงหาผลประโยชน์จนเกินควร การปฏิบัติอย่างผิดๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ท้องทะเลมีความมั่งคั่งสูสีกับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถจม ลงไปอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของเศรษฐกิจได้เช่นกัน” นายมาร์โค แลมเบอร์ตินี่ ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าว “หากมองในฐานะผู้ถือหุ้น พวกเราไม่สามารถคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์อันมีค่าของท้องทะเลต่อไปโดยปราศจากการคิดและลงมือทำเพื่ออนาคตของมัน”

โดยรายงานระบุว่า 2 ใน 3 ของมูลค่ารายปีของท้องทะเลขึ้นอยู่กับปัจจัยความสมบูรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญในการคงปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีนั้นๆ ไว้ได้ ซึ่งการทำประมงแบบทำลายล้าง การตัดไม้ทำลายป่าโกงกางหรือป่าชายเลน รวมถึงการหายไปของปะการังและหญ้าทะเลจำนวนมากนั้นเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อกลไกเศรษฐกิจทางทะเล ที่เอื้อต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

โดยนายดักลาส บีล ผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการกลุ่มที่ปรึกษาบอสตันกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในการประเมินมูลค่าทั้งมูลค่ารายปีและมูลค่าสินทรัพย์ของท้องทะเลทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ยากในการระบุเป็นตัวเลขก็คือมูลค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เราหวังว่านี่จะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เหล่า ผู้ประกอบธุรกิจและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทั้งหลายตัดสินใจการดำเนินการต่างๆ ที่จะส่งผลกับอนาคตของเศรษฐกิจทางทะเลของเราอย่างชาญฉลาดและถี่ถ้วนมากขึ้น”

ผลการวิจัยในรายงานชี้ให้เห็นว่าทะเลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกช่วงเวลาในรอบหลายล้านปีนี้ ในขณะที่การเติบโตของประชากรมนุษย์และการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรทางทะเลมีมากขึ้น ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลและสินทรัพย์สำคัญของมันกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับโลก

“ท้องทะเลกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ เราจับปลามามากเกินไป สร้างมลพิษไว้มากเกินไป และทำให้ท้องทะเลกลายเป็นกรดและอุ่นเกินไปจนทำให้ระบบฟื้นฟูตัวเองทางธรรมชาติหยุดทำงาน” ศาสตราจารย์โอเว โฮ-กัลด์เบิร์ก หัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานดังกล่าว และผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่าว

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นตัวการสำคัญในการทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลถดถอยลง โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นด้วยอัตราคงที่จะส่งผล ให้แนวปะการังอันเป็นแหล่งอาหาร ทำมาหากิน และแนวป้องกันพายุให้กับผู้คนหลายร้อยล้านคนหายไปอย่างสมบูรณ์ในปี 2593 นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายร้อยอายุคนในการฟื้นฟู

นอกจากนี้การแสวงหาผลประโยชน์จนเกินควรก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลเสื่อมถอยลงเช่นกัน โดยทำให้ปลาร้อยละ 90 ของทั่วโลกถูกจับมาเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่และเกินควร ซึ่งส่งผลให้ประชากรของปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิกเพียง ชนิดเดียวลดลงกว่าร้อยละ 96 จากประชากรทั้งหมด

มันยังไม่สายเกินไปที่จะสวนกระแสที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ และกลับมาคืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลเพื่อประโยชน์แก่ผู้คน เศรษฐกิจ รวมถึงธรรมชาติ ด้วย 8 วิธีการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับคืนสู่ศักยภาพสูงสุดที่ระบุไว้ในรายงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลฉบับดังกล่าว

โดยภายใต้วิธีการแก้ปัญหาในสภาวะวิกฤตที่ปรากกฏในรายงานฉบับนี้นั้นจะแฝงการฟื้นฟูท้องทะเลอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสร้างพันธสัญญาที่แข็งแกร่งในการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งและท้องทะเล

โดยนายแลมเบอร์ตินี่กล่าวว่า “ท้องทะเลให้อาหาร ให้โอกาสในการประกอบอาชีพ และสุขภาพที่ดีแก่เรา แต่เรากลับทำให้มันล่มสลายลงต่อหน้าต่อตา หากการเสื่อมถอยลงของความสมบูรณ์ในท้องทะเลไม่ทำให้ผู้นำของเรารู้สึกอะไร บางทีการที่เศรษฐกิจตกต่ำอาจจะทำให้คิดอะไรได้บ้างก็ เป็นได้ พวกเรามีหน้าที่สำคัญยิ่งในการปกป้องท้องทะเล เริ่มจากการสร้างพันธสัญญาเกี่ยวกับการดูแลสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นมาจริงๆ ทั่วโลก”

ด้วยเหตุนี้ WWF จึงเริ่มการรณรงค์เพื่อท้องทะเลขึ้นมาในชื่อ “Sustain Our Seas” จากการทำงานนับทศวรรษขององค์กรและผู้ร่วมอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ท้องทะเล โดย WWF ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้เหล่าผู้มีอำนาจหามาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจทางทะเล รวมถึงปกป้องผู้คนและการดำรงอยู่ของคนหลายพันล้านชีวิตทั่วโลก

“การทำประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องปรับเปลี่ยน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่าง การเพาะเลี้ยงกุ้ง 1 กิโลกรัมใช้ปลาป่นในอาหารกุ้งโดยเฉลี่ย 400 ถึง 500 กรัม คิดเป็นร้อยละ 50 ของน้ำหนักกุ้ง ดังนั้นจะเห็นว่าอาหารที่เราได้มาจากการเพาะเลี้ยงนั้นใช้ทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติมากกว่าที่เราคิด ผู้บริโภคก็ต้องรู้ที่มาและความเชื่อมโยง เราต้องนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัย และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การทำประมงมีความยั่งยืน ขณะเดียวกันหน่วยงานรับผิดชอบต้องให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง โดยร่วมมือกับชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อให้เราสามารถยืนอยู่ในตลาดโลกได้ต่อไป ถ้าเราไม่ลงมือตั้งแต่ตอนนี้ และปล่อยให้มีการทำประมงแบบทำลายล้างและเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวเองได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปลาหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ไปในคราวเดียวกัน และยากที่จะฟื้นฟูกลับมา ซึ่งจะกระทบกับผู้คนจำนวนมาก” นางสาวกฤษณา แก้วปลั่ง ผู้จัดการโครงการตลาดยั่งยืน (Market Transformation Initiative-MTI) กล่าว

ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก WWF-ประเทศไทยจึงดำเนินโครงการตลาดยั่งยืน(Market Transformation Initiative-MTI) โดยเริ่มดำเนินงานส่วนของอาหารทะเล ทั้งชนิดที่จับจากธรรมชาติและเพาะเลี้ยง เพื่อความยั่งยืนและสร้างกลไกการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ทางฝั่งของผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการจัดทำโครงการปรับปรุงการทำประมง (FIPs) ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งรวมถึง ชาวประมง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ภาครัฐ(กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก) ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๐๒ บิทูเมน มารีน บริษัทลูก TASCO ลงนามสัญญาต่อเรือขนส่งยางมะตอย เสริมศักยภาพกองเรือ
๑๗:๓๓ รมว.เกษตรฯ ลุยร้อยเอ็ด ผลักดันโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง
๑๗:๔๔ กูรูหุ้นเชียร์ซื้อ PSP เคาะเป้าราคาสูงสุด 8 บ./หุ้น ยอดขายพุ่ง-หนี้ลด ดันกำไรปี 67 ออลไทม์ไฮ ดีล MA สร้าง New S-Curve
๑๗:๔๒ ข้าวกล้อง-จักรีภัทร พร้อมเต็มร้อย! ประเดิม จูเนียร์จีพี สนามแรก ประเทศอิตาลี
๑๗:๑๕ กรมประมงขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด
๑๗:๑๕ เชลล์ดอน การ์ตูนดังร่วมสาดความสนุกในเทศกาลสงกรานต์
๑๗:๒๙ สปสช. ติดปีกเทคโนโลยีไอทีด้วยคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC ยกระดับบริการบัตรทองรวดเร็วทันสมัย ดูแลสุขภาพคนไทยยุคดิจิทัล
๑๗:๑๐ GSK ร่วมงาน Re-imagining UK Aging Care Event ของสถานทูตอังกฤษ มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันผู้สูงอายุ
๑๗:๔๓ เอส เอฟ จับมือ กปน. มอบสิทธิ์ดูฟรีรวม 1,000 ที่นั่ง เพียงใช้ MWA Point ที่ เอส เอฟ!!
๑๖:๓๖ เตรียมพร้อมนับถอยหลัง 12 ชั่วโมงสุดท้าย! ก่อนเริ่มประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ Bitcoin Halving ครั้งที่ 4